ถ่ายเป็นเลือดอาก่รของโรคอะไร และ น่าจะเป็นโรคอะไร |
อาการถ่ายเป็นเลือดในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จะมีสาเหตุแตกต่างกับอาการที่เกิดขึ้นในเด็ก ในที่นี้จึงเน้นเฉพาะที่เกิดในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกครั้งที่เราถ่าย ให้คอยสังเกตเวลาเราใช้กระดาษชำระเช็ด หรือใช้น้ำล้างว่ามีสีผิดปรกติหรือไม่ และลักษณะอุจจาระที่ติดมากับกระดาษเป็นอย่างไร สีที่ผิดปรกติ เช่น สีดำ สีแดง สีเหมือนน้ำหมาก หรือเป็นเลือดสด ๆหยดติ๋ง ๆ ลักษณะอุจจาระมีมูกปนมาด้วยหรือไม่ และเมื่อสังเกตพบสิ่งผิดปรกติ ให้เหลือบไปมองที่โถถ่ายว่ามีสีและลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งรีบร้อนชักโครกหรือราดน้ำลงไป สีดำที่ปนมา กับอุจจาระอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับหมู ตับไก่ หรือกินวิตามินธาตุเหล็ก นอกจากนี้อาจเกิดจาก เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จากสาเหตุเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือที่รู้จักกันดีว่าเป็น “โรคกระเพาะ” ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ อาจเกี่ยวกับความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ และในคนที่มีอาการปวดเรื้อรัง ต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดข้อปวดเข่าเป็นประจำ ในกรณีที่เลือดออกจากแผลกระเพาะอาหารไม่มาก เลือดที่ออกมาจะทำปฏิกิริยากับกรดเกลือ(กรดไฮโดรคลอริก)ในกระเพาะอาหาร เปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อขับถ่ายออกมาจึงมีสีดำที่เรียกว่า “ถ่ายดำ” (Melina) เราสามารถแยกได้ว่าอาการถ่ายดำเป็นเพราะเลือดออกจากแผลในกระเพาะหรือจากการ กินวิตามินหรืออาหารที่มีธาตุเหล็ก โดยการเอาอุจจาระไปตรวจหาเลือดที่เรียกว่า occult blood ถ้าให้ผลเป็นบวกน่าจะเป็นเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ถ้าถ่ายเป็นเลือด ปนคลุกเป็นเนื้อเดียวกับอุจจาระ ให้คิดว่าน่าจะเป็นเลือดที่ออกมาจากลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่ หรือแม้แต่ออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ถ้ามีปริมาณเลือดออกมาก เลือดที่ปนออกมาจะค่อนข้างแดงหรือแดงสด โรคในลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กที่เป็นสาเหตุของเลือดออก เช่น ติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อในลำไส้ ที่เรียกว่า “โพลิบ”(Polyp) รวมทั้งก้อนเนื้องอกชนิดเนื้องอกธรรมดา รวมทั้งเนื้องอกมะเร็ง Hemorrhoid ถ้าเห็นเลือดสด ๆ หยดติ๋ง ๆ ออกมา เมื่อถ่ายเสร็จแล้วสักครู่เลือดก็หยุด ให้คิดว่าน่าจะออกจากบริเวณส่วนทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ส่วนล่างสุด สาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่ ริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อ polyp ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (Rectal polyp) รวมทั้งมะเร็งของลำใหญ่ใหญ่หรือทวารหนัก โดยทั่วไปจะมีเลือดสด ๆ อย่างเดียว ไม่มีอาการปวด ถ้ามีอาการปวดอาจนึกถึง แผลฉีกขาดที่บริเวณปากทวาร(anal fissure) จากการถ่ายลำบากหรือท้องผูก, ริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะบวมอักเสบ(Prolapsed edematous hemorrhoid) หรือริดสีดวงอักเสบมากจากเลือดคั่งในหัวริดสีดวง(Thromboses hemorrhoid) ซึ่งนอกจากปวดที่ปากทวารมากแล้วยังนั่งทับไม่ได้, มะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนล่างหรือทวารหนักในระยะที่เกิดการอุดตันของรูทวาร หรือช่องทวาร ลักษณะอุจจาระที่มีมูกปน (คล้ายมูกเวลาที่มีน้ำมูกเหนียว ๆ ข้น หรือใส เวลาที่เป็นหวัด) ถือว่าเป็นสิ่งผิดปรกติ มักมีสาเหตุจากก้อนเนื้องอก หรือติ่งเนื้อชนิดธรรมดา รวมทั้งชนิดเนื้อร้ายหรือมะเร็ง สุขนิสัยการขับถ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนอาจมีปัญหาท้องผูก บางคน 5-7 วัน ถ่ายครั้ง หรือในทางตรงข้าม บางคนถ่ายเหลว ๆ วันละ 4-5 รอบ ไม่เหมือนกับท้องเสีย โดยเฉพาะภาวะเครียด ตื่นเต้น ใกล้วันสอบ จะเข้าห้องสอบ ถ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อาจไม่ถือเป็นสิ่งผิดปกติได้ แต่ถ้าเกิดบ่อย ๆ ก็น่าจะพบแพทย์ขอคำปรึกษา อย่างไรก็ตาม สุขนิสัยการขับถ่ายที่ถือว่าผิดปกติอย่างชัดเจนได้แก่ อาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาจเป็นอาการที่ชักนำเราให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และที่สุดอาจพบสาเหตุของการเป็น เนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ จะเห็นได้ว่าการหมั่นสังเกตลักษณะการขับถ่ายของตนเองมีความสำคัญ ทำให้เราไปพบแพทย์ตรวจแต่เนิ่น ๆ การตรวจในขั้นต้น เช่น เก็บอุจจาระส่งตรวจดูว่ามีเลือดปนมาหรือไม่ (ตรวจหา occult blood) หรือการตรวจทางทวารโดยใช้นิ้วมือ(Per Rectal examination หรือเรียกย่อ ๆ ว่า PR)และใช้กล้องส่องตรวจทางทวาร (Proctoscope หรือ Anoscope) จะสามารถตรวจหาสาเหตุได้ไม่น้อยกว่า 85% ของโรคที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าการตรวจตามที่กล่าวมานี้ ทำได้ง่าย ๆ รู้ผลทันทีหรือไม่เกิน 15 นาที ตรวจแบบคนไข้นอก(คนไข้โอพีดี) ได้ ไม่เจ็บ ที่สำคัญคือไม่ควรอายที่จะให้แพทย์ตรวจทางทวาร ในบางครั้งจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษ เช่น การส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหารที่เรียกว่า Gastroscope หรือส่องกล้องตรวจดูในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (Sigmoidoscope) หรือส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด(Colonoscope) รวมทั้งการทำเอกซเรย์โดยใช้แป้งทึบแสงดูในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วน ต้น(Upper GI barium study) หรือสวนเข้าไปในลำไส้ใหญ่(Barium enema) รวมทั้งการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดละเอียด(Multislice CT-abdomen) รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การกลืนแคปซูลที่มีรูปร่างคล้ายยาเม็ดแคปซูลแก้อักเสบที่เราคุ้นเคย เมื่อแคปซูลเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหารลงไปถึงลำไส้ใหญ่ จะมีการบันทึกภาพไว้ ซึ่งเมื่อเอาแคปซูลนี้ใส่ในเครื่องอ่าน จะอ่านข้อมูลเข้าในคอมพิวเตอร์ สร้างเป็นภาพให้เห็นสิ่งผิดปรกติได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบสาเหตุของการถ่ายเป็นเลือดและให้การ รักษาอย่างถูกต้องได้แต่เนิ่น ๆ ในด้านการรักษา ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น เช่น เลือดออกจากแผลในกระเพาะ ก็ให้หลีกเลี่ยงสาเหตุเช่น เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลดภาวะเครียด รวมทั้งการใช้ยารักษา มีน้อยรายที่ต้องผ่าตัด ถ้าเป็นโรคในลำไส้ หรือส่วนของทางเดินอาหารที่จำเป็นต้องผ่าตัดออก เทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้องส่องผ่านทางหน้าท้อง (Laparoscope) หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “เจาะรูส่องกล้องผ่าตัด” ช่วยให้คนไข้ไม่ปวดแผลหลังผ่าตัด ฟื้นตัวเร็ว และกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน หรือถ้าเป็นโรคริดสีดวงทวาร เทคนิคใหม่ที่ใช้เครื่อง “ตัดเย็บริดสีดวงทวารในช่องทวาร” ที่เรียกว่า ผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้ Stapler หรือเรียกชื่อย่อว่า PPH (Procedure for Prolapse and Hemorrhoid) ดังรูป-1 ก็ช่วยให้คนไข้ไม่ปวดแผลหลังผ่าตัด ไม่ต้องดูแลแผล(เพราะไม่มีแผลภายนอก, รอยตัดเย็บอยู่ภายในช่องทวาร จึงไม่เกิดอาการปวด) สามารถขับถ่ายเป็นปรกติได้ตั้งแต่วันแรกที่ผ่าตัดเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปัญหาช่องทวารตีบหรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ เทคนิคการผ่าตัดใหม่ ๆ นี้ มีใช้ที่โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง หรือจะปรึกษามาที่แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งมีประสบการณ์และความชำนาญในการผ่าตัดด้วย laparoscope และ PPH ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการหมั่นสังเกตตัวเองในเรื่องการขับถ่าย.....เหลือบมองสัก นิดก่อนที่จะชักโครกลงไป.... จะช่วยให้เราห่างไกลโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นริดสีดวงทวาร รวมทั้งมะเร็งร้าย หรือถ้าต้องเผชิญกับมัน ก็เป็นระยะเริ่มแรกที่รักษาหาย |