ความดันสูงขณะตั้งครรภ์ - คนท้องความดันสูง มีผลต่อเด็กในครรภ์อย่างไร !!


845 ผู้ชม


ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ


โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
ความหมาย

ความดันโลหิตสูง
หมายถึง เมื่อความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว (ตัวบน) เท่ากับหรือมากกว่า 140 มม.ปรอท และขณะหัวใจคลายตัว (ตัวล่าง) เท่ากับหรือมากกว่า 90 มม.ปรอท (สูงกว่า 140/90) โดยวัดในขณะพัก และวัดได้ค่าสูงอย่างนี้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

ความสำคัญ
เมื่อ มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด จะนำมาซึ่งอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ อันตรายของมารดา คือ ทำให้เกิดผลจากการหดตัวมากเกินไปของเส้นเลือดแดง (ซึ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง) ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญ ได้แก่ สมอง, ไต, หัวใจ ไม่ดี ทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลว (organ failures) การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ทำให้มีการเกิดลิ่มเลือด เส้นเลือดอุดตัน และการแข็งตัวของเลือด (ถ้ามีเลือดออก) ผิดปกติ
นอกจากนั้น การมีความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก และหัวใจวายเพราะหัวใจทำงานหนักเกินไป ผลเสียที่จะเกิดกับทารก คือ ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอาหารและของเสียระหว่างมดลูกกับรกไม่ดี ทำให้การเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ โอกาสเกิดการขาดออกซิเจนในครรภ์มีง่ายขึ้น จึงทำให้ทารกตายในครรภ์ และความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของแม่และทารกทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้มาก ขึ้น
สาเหตุ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดได้ 4 ประการคือ
1. มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคไต ฯลฯ
2. อาการครรภ์เป็นพิษ  คือเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาจมีอาการบวมร่วมด้วย มักเกิดขึ้นตอนครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (ถ้าเกิดตอนครึ่งแรก มักว่ามีโรคอย่างอื่นผสมอยู่ด้วย เช่น โรคไต ครรภ์ไข่ปลาอุก )
สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน พบมากกว่าปกติในรายที่เป็นครรภ์แรก, ครรภ์แฝด, มารดาอายุมาก เบาหวาน ความดันโลหิตสูงชนิดนี้มีอาการต่างกับชนิดแรก คือ มีอาการบวม และมีไข่ขาวในปัสสาวะร่วมด้วย เมื่อคลอดแล้วอาการกลับเป็นปกติ
3. เป็นความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แล้วมีอาการครรภ์เป็นพิษมาผสมโรงด้วย
4. อาการความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราว โดยก่อนหน้าตั้งครรภ์ปกติ เมื่อตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงอย่างเดียว เมื่อคลอดแล้วกลับเป็นปกติ อาการ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแบบไม่รุนแรง (ความดันโลหิตไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท) มักจะไม่มีอาการอะไร บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะบ้าง ปวดแบบหนัก ๆ ตื้อๆ บางคนสังเกตว่ามีอาการน้ำหนักขึ้นเร็ว และมากกว่าปกติ บางคนรู้สึกมีอาการบวม ตึงที่หน้าผากเมื่อตื่นนอนตอนเช้า และบวมที่ขาหน้าแข้งกดยุบ ตอนสาย ๆ หรือกลางวัน
ถ้าเป็นชนิดรุนแรง (ความดันโลหิต 160/110 มม.ปรอท ขึ้นไป) มักจะมีอาการปวดศีรษะเป็นอาการนำ บางคนก็แค่รู้สึกบวมมากอย่างเดียว หรือเป็นทั้งสองอย่างร่วมกัน บางคนรู้สึกว่าเด็กดิ้นน้อยลง ถ้าเป็นมากจนรกขาดเลือดอาจทำให้เด็กโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติหรือทารกตายในครรภ์ (เด็กไม่ดิ้น)
การวินิจฉัย
คน ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนตั้งครรภ์ มักวินิจฉัยได้ตั้งแต่การซักประวัติ และการตรวจความดันโลหิตครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ถ้าเริ่มเป็นขณะตั้งครรภ์ก็จะตรวจพบเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งต่อ ๆ มา หรือเมื่อมีอาการที่กล่าวข้างบน มาพบแพทย์ แล้วแพทย์ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูง
เกณฑ์การบอกว่ามีความดันโลหิต สูง จะวินิจฉัยเมื่อความดันโลหิต เท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอท (แพทย์บางคนที่ระวังมากหน่อยก็จะตั้งเกณฑ์ที่ 130/85 มม.ปรอท) โดยวัดขณะพัก 2 ครั้ง ช่วงห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือ คนไข้บางคนที่ความดันโลหิตปกติค่อนข้างต่ำอยู่ (เช่นเดิมปกติ 100/60 มม.ปรอท)
เราก็ให้เกณฑ์ว่าเมื่อความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อตอนหัวใจบีบตัว 30 มม.ปรอท และเพิ่มจากเดิมเมื่อหัวใจคลายตัวมากกว่า 15 มม.ปรอท (เช่น ขึ้นเป็น 130/75 มม.ปรอท ขึ้นไป)
การจะวินิจฉัย ว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ ก็ดูจากการตรวจหาไข่ขาว (albumin) ปนออกมากับปัสสาวะเท่ากับหรือมากกว่า 300 มก.ต่อปัสสาวะ 100 มล. หรือตรวจโดยใช้แผ่นตรวจปัสสาวะมีไข่ขาว 1+ (มากที่สุด 4+) ขึ้นไป
ใน ขณะเดียวกันแพทย์จะตรวจหาโรคบางอย่างของร่างกาย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ที่ทำให้เป็นสาเหตุเบื้อง ต้นของอาการครรภ์เป็นพิษนี้ด้วย เช่น การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก การตั้งครรภ์แฝด ความผิดปกติบางอย่างของทารกในครรภ์ (Hydropfetalis) การมีโรคไต เบาหวาน เอสแอลอี (SLE) รูมาตอยด์ เป็นต้น เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วย
แพทย์จะต้องคอยดูว่าอาการที่เป็นนี้เป็น ชนิดอ่อน ๆ (อาการไม่มาก) หรือ ชนิดรุนแรง เมื่อเป็นชนิดอ่อนในตอนแรกกก็อาจเปลี่ยนแปลงเป็นชนิดรุนแรงในเวลาต่อมาได้ และเมื่อเป็นชนิดรุนแรงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น ที่เกิดกับแม่ คือ มีอาการชัก (เรียกว่า Eclampsia) แล้วทำให้มีเส้นโลหิตแตกในสมอง สมองบวม ปอดคั่งเลือดและหัวใจวายถึงเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ยังมีผลแทรกซ้อน ทำให้ตับบวม ทำงานผิดปกติถึงขั้นตับวาย หรือมีผลต่อระบบการแข็งตัวของเลือดทำให้มีการแข็งตัวของเส้นเลือดฝอย ตามอวัยวะต่าง ๆ และมีผลให้เกิดภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติตามมา ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกคือทำให้เจริญเติบโตช้า ไม่แข็งแรง คลอดก่อนกำหนด และเสียชีวิตในครรภ์
ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนทำให้เกิดความรุนแรง ถึงชีวิตของแม่และทารกได้ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือจำเป็นต้องให้มีการคลอดก่อนกำหนดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ เพื่อยุติความรุนแรงของโรค (หลังคลอดอาการครรภ์เป็นพิษจะดีขึ้นได้เองเกือบทั้งหมด)
การรักษา
เริ่ม ที่การเฝ้าระวังในขณะมีการตั้งครรภ์ โดยการตรวจความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะและชั่งน้ำหนักทุกครั้งที่มาตรวจ มีการดูแลเฝ้าระวังเป็นพิเศษในคนที่มีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่ายกว่าคนอื่น ในรายที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษในระดับไม่รุนแรง มักให้การรักษาโดยการให้พักผ่อนเป็นหลัก อาจต้องให้นอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อควบคุมโรคและเฝ้าระวังการกลายไปเป็นขั้น รุนแรง
ในขณะเดียวกันก็จะเฝ้าระวัง ติดตามดูความเจริญเติบโตของทารกและภาวะที่อาจจะเป็นอันตรายต่อทารก เช่น การตรวจความดันโลหิตบ่อย ๆ เก็บปัสสาวะสำหรับตรวจ 24 ช.ม. เจาะเลือด ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจริญเติบโตทารก และนัดหมายบ่อยขึ้น
ในรายที่ เป็นขั้นรุนแรง ก็จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อลดความดันโลหิต และ/หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย และอาจต้องพิจารณาให้มีการคลอดไม่ว่าโดยธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอดแล้วแต่สภาพ ของแม่และทารกว่ามีความเร่งด่วนหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาถึงความปลอดภัยทั้งของแม่และทารกเป็นหลักในการรักษา
นั่น คือ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนมากที่อาจเป็นอันตราย ก็ต้องให้มีการคลอดเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีภาวะแทรกซ้อนการรอจนครบกำหนด จะมีความปลอดภัยมากกว่า โดยมีขั้นตอนการตรวจรักษาต่าง ๆ หลายวิธี การมีภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก ถ้ามีการวินิจฉัยได้รวดเร็วและรีบแก้ไขก็อาจทำให้ลดอันตรายต่อทั้งมารดาและ ทารกได้
นอกจากการให้พักผ่อนให้มากที่สุดแล้ว อาจมีการให้ยาลดความดันโลหิต การให้ยาป้องกันการชัก การเฝ้าระวังภาวะผิดปกติต่อทารก เช่นการติดตามดูลักษณะการเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของทารกว่าปกติหรือจะเป็นอันตรายแล้ว เป็นต้น
ใน รายที่เป็นยังไม่รุนแรง อาการอาจจะดีขึ้นเองได้ แพทย์จะให้มาติดตามดูเป็นระยะ ๆ อย่างใกล้ชิด แต่ในรายที่เป็นรุนแรง อาการมักจะไม่ดีขึ้นถึงขนาดให้กลับบ้านได้ แต่อาจจะสามารถรักษาประคับประคองจนทารกโตพอที่จะให้คลอดได้โดยปลอดภัย
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อการป้องกันและรักษา
1. ผู้ป่วยสามารถช่วยแพทย์ให้นึกถึงหรือคอยระวังให้เป็นพิเศษได้ โดยการบอกประวัติการเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบเมื่อไปฝากครรภ์ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคไต โรคเอสแอลดี (SLE) โรคข้อรูมาตอยด์ ความดันโลหิตสูง ธัยรอยด์เป็นพิษ โรคอื่นๆที่ต้องรักษาเรื้อรังนาน ๆ

2. การฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้มีข้อมูลการตรวจพื้นฐานเบื้องต้นก่อนมีอาการ ( ปัจจุบันคนไทยมีการตรวจร่างกายก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์กันมากขึ้น นับว่ามีประโยชน์มาก)
3. ให้สังเกตว่าตัวเองขณะตั้งครรภ์ว่ามีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ หรือไม่ น้ำหนักตัวขึ้นเร็วเกินไปหรือเปล่า มีอาการกดบุ๋ม (บริเวณผิวหน้าแข้งส่วนที่ติดกับกระดูก) หรือไม่
4. ไปฝากครรภ์สม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์จะมีการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะดูน้ำตาลและไข่ขาวด้วย
5. ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว ต้องเคร่งครัดตามคำแนะนำแพทย์ พักผ่อนให้มาก ๆ ปฏิบัติตัวเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
6. อาการที่จะบอกว่าโรคประจำตัวรุนแรง คือ อาการปวดศีรษะตื้อ ๆ เครียด ๆ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่รุนแรง อุบัติการณ์ ของโรคนี้มีประมาณ 3-5% ของผู้ตั้งครรภ์ มักมีอาการหรือมีอาการมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มักพบในระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (20 สัปดาห์ไปแล้ว) ถ้าตรวจพบได้ตอนเริ่มต้นเป็น จะลดภาวะแทรกซ้อนและลดอันตรายได้

ที่มา  www.vibhavadi.com

อัพเดทล่าสุด