..... ริดสีดวงทวารหนัก หมายถึง การมีหลอดเลือดขอดโป่งพองของผนังเยื่อบุทวารหนัก ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นจะพบเป็นก้อนโป่งพอง โผล่ออกมาขณะอุจจาระ หรืออาจทำให้เกิดอาการเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระได้ ริดสีดวงทวารหนักเกิดขึ้นได้อย่างไร : โดยปกติแล้วที่ บริเวณทวารหนักจะมีเลือดมาเลี้ยงมาก และมีลักษณะพิเศษอีก คือ มีกลุ่มหลอดเลือดดำสานเป็นร่างแหที่บริเวณเยื่อบุทวารหนัก 3 กลุ่มใหญ่ โดยรอบทวารหนัก เลือดภายในกลุ่มหลอดเลือดดำเหล่านี้จะไหลถ่ายเทขึ้นไปสู่หลอดเลือดดำใหญ่ภาย ในช่องท้อง แต่ถ้าหลอดเลือดไหลถ่ายเทไม่สะดวก และเป็นบ่อย ๆ จะเกิดการคั่งขึ้นภายในร่างแหหลอดเลือดดำ เกิดเป็นหลอดเลือดขอดโป่งพองขึ้นได้ เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนัก ริดสีดวงทวารหนักอาจเกิดเป็นแบบภายในหรือภายนอก ขึ้นกับว่าเกิดที่หลอดเลือดภายใน หรือนอกทวารหนัก ส่วนมากมักเป็นแบบภายใน สาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารหนัก : ที่พบบ่อยที่สุด คือ อุปนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระ และการรับประทานอาหาร ท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระลำบาก หลายๆ วันถ่ายครั้งหนึ่ง พวกนี้มักมีอุจจาระแข็ง ต้องเบ่งอยู่นานขณะขับถ่าย นั่งถ่ายอุจจาระนาน การรับประทานอาหาร ที่ไม่ค่อยมีผัก และผลไม้ จะทำให้อุจจาระมีกากอาหารน้อย ทำให้ท้องผูกได้มาก สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก ได้แก่ การตั้งครรภ์ เพราะมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น กดทับทำให้เลือดดำไหลถ่ายเทลำบาก เกิดการคั่งได้ง่าย นอกจากนั้นยังกดลำไส้ใหญ่ทำให้ท้องผูกบ่อย ๆ ยิ่งทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักมากขึ้น หรือมีเนื้องอกอยู่ภายในลำไส้ใหญ่ อุจจาระออกลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งมากก็มีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้น อาการ : ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารหนัก โดยมากมักมีอาการถ่ายเป็นเลือด เลือดที่ออกมักจะเป็นเลือดสดๆ ระยะแรกอาจสังเกตว่ามีเลือดติดกระดาษชำระหลังอุจจาระ หรือเคลือบอุจจาระออกมา ต่อมาอาจออกมากจนมีเลือดหยดลงในโถส้วมขณะถ่ายอุจจาระ ถ้าเป็นมากขึ้นจะพบว่ามีก้อนโผล่ออกมาทางทวารหนัก โดยเฉพาะหลังถ่ายอุจจาระโดยมากจะไม่มีอาการเจ็บปวด (นอกจากถ้ามีการอักเสบร่วมด้วย) ยกเว้นในพวกที่เป็นริดสีดวงทวารหนักแบบภายนอก ซึ่งมักพบก้อนที่ทวารหนักตั้งแต่ระยะแรก และโดยมากจะเจ็บปวดที่ก้อนริดสีดวง จากอาการดังกล่าวทำให้แพทย์แบ่งริดสีดวงทวารหนักออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีแต่อาการเลือดออก การตรวจต้องใช้เครื่องมือพิเศษส่องเข้าไปดูภายในทวารหนัก มองจากภายนอก หรือคลำดูจะไม่สามารถบอกได้เลย ระยะที่ 2 ถ่ายอุจจาระแล้วมีก้อนริดสีดวงทวารหนักโผล่ออกมาเวลาเบ่ง แต่หดกลับเข้าไปได้เอง ระยะที่ 3 ถ่ายอุจจาระแล้วริดสีดวงโผล่ออกมา และไม่หดกลับเข้าเองต้องใช้นิ้วมือดันกลับจึงเข้า ระยะที่ 4 ริดสีดวงทวารโผล่ออกมาภายนอก และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาการเลือดออกทางทวารหนัก หรือถ่ายเป็นเลือดแม้ว่ากว่า 90% จะเป็นริดสีดวงทวารหนัก แต่ก็อาจเกิดจากโรคอื่นได้ โดยเฉพาะโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็งของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่มีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น แต่ริดสีดวงทวารหนักเองนั้นไม่ใช่มะเร็ง และไม่ใช่สาเหตุให้เกิดมะเร็ง และการวินิจฉัยที่แน่นอนจะต้องตรวจโดยใช้กล้องส่องดูภายในทวารหนัก การรักษา : แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามระยะของโรคอาจจะเป็น 1. ให้ยาชนิดป้าย หรือยาเหน็บทวารหนัก ใช้กับโรคระยะที่ 1 2. ใช้ยาฉีดหัวริดสีดวงทวารหนัก ยาจะทำให้หลอดเลือดดำฝ่อ และหัวริดสีดวงทวารหนักยุบลง ใช้กับโรคระยะที่ 2 การฉีดยาจะไม่เกิดอาการเจ็บปวดเลย ได้ผลดีมาก 3. ใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารหนัก วิธีนี้จะรัดที่หัวริดสีดวงทำให้หัวริดสีดวงฝ่อแล้วหลุดไปเอง หลังรัดด้วยยางประมาณ 7 วัน ได้ประโยชน์ และผลดีในโรคระยะที่ 2 โดยเฉพาะเมื่อหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ และพบว่ามักไม่มีอาการเจ็บปวดขณะใช้ยารักษาเช่นเดียวกัน 4. ใช้เครื่องขยายทวารหนัก หรือใช้ความเย็นจัด หรือใช้แสงอินฟราเรด เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับระยะที่ 2 แต่ยังไม่ค่อยนิยมเท่าแบบที่ 2, 3 5. ผ่าตัดใช้สำหรับโรคระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งนับว่าเป็นมากแล้ว ความจริงการผ่าตัดไม่น่ากลัวเลย และไม่เจ็บขณะทำผ่าตัด เพราะแพทย์จะให้ยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หลังผ่าตัดอาจจะเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่มากมาย และสามารถระงับได้โดยยาแก้ปวด อยู่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ขณะทำการรักษาไม่ว่าโดยวิธีใด แพทย์จะแนะนำวิธีปฏิบัติตน รวมทั้งให้ยาบางอย่างที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีอาการท้องผูก หรือถ่ายอุจจาระลำบากร่วมด้วยเสมอ และการใช้ยากัดริดสีดวงทวารหนักนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ และจะก่อให้เกิดข้อแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ทวารหนักเน่าหรือตีบตัน คำแนะนำ 1. ฝึกอุปนิสัยในการถ่ายอุจจาระให้ถ่ายเป็นเวลา และไม่นั่งถ่ายนานหรือเบ่งอยู่นาน ๆ 2. พยายามอย่าให้ท้องผูก โดยการรับประทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผู้พบว่าช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น 3. ถ้าท้องผูก อาจรับประทานยาระบายชนิดอ่อน โดยเฉพาะประเภทที่ช่วยเพิ่มกากอาหารได้ และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ 4. เมื่อมีปัญหาถ่ายเป็นเลือด ควรพบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักแน่ ไม่ใช่โรคร้ายแรงอื่น นอกจากนั้นถ้าเป็นโรคนี้ในระยะแรกๆ จะได้รีบรักษาซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการผ่าตัดได้ อย่าอายที่จะพบหรือได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ การวินิจฉัยให้ได้แน่นอนจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษส่องเข้าไปตรวจภายใน ทวารหนัก ซึ่งก็ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่ประการใด และการรักษาโรคโดยการฉีดยา หรือรัดด้วยยางก็ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บปวด เช่นเดียวกัน 5. ถึงแม้จะเป็นมากแล้ว และต้องรักษาโดยการผ่าตัด ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก เช่น มีแผลเกิดขึ้นที่หัวริดสีดวง มีการติดเชื้อบางครั้งเลือดออกมากจนเกิดอาการซีด เลือดจางได้ การผ่าตัดทำให้โรคหายขาดเกือบ 100% ถ้าระวังไม่ให้ท้องผูกอีก 6. อย่าซื้อยาเหน็บ หรือยากัดริดสีดวงทวารหนักใช้เอง เพราะมักเกิดอันตรายได้มาก ข้อมูลจาก : www.bangkokhealth.com | |||