โรคคางทูม (mumps) โรคคางทูม (mumps) เป็นการติดเชื้อ และมีการอักเสบของต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณกกหูทำให้ที่บริเวณคางบวม จึงได้ชื่อว่าคางทูม พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบได้ในเด็กตั้งแต่วัยเรียนขึ้นไป ติดต่อกันโดยทางเดินหายใจ ซึ่งมักจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ การรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น เขียนเสือที่ข้างแก้ม เสกปูนแดงป้ายหรือใช้ครามป้ายแล้วได้ผล ก็เพราะธรรมชาติของโรคนี้ที่สามารถหายได้เองนั่นเอง อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ จึงควรเรียนรู้วิธีการรักษาและการ สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Paramyxovirus โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายก็จะแบ่งตัว และเข้าสู่กระแสโลหิต ก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลาย และอวัยวะต่าง ๆ อักเสบ ทั้งนี้เมื่อเป็นแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันตลอดไป ติดต่อกันได้โดยตรงทางการหายใจ (Droplet spread) และสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เช่น การกินน้ำและอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน เป็นกับเด็กได้ทุกอายุ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าในเด็ก หลังจากมีวัคซีนป้องกันในประเทศที่พัฒนาแล้วอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้ลดลงมาก ระยะที่ติดต่อกันได้ง่าย คือจาก 1-2 วัน (หรือถึง 7 วัน) ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ไปจนถึง 5-9 วันหลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ระยะฟักตัวของโรคคือ 16-18 วัน แต่อาจสั้นเพียง 12 วัน และนานถึง 25 วันหลังสัมผัสโรค อาการ มักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดในรูหูหรือหลังหูขณะเคี้ยวหรือกลืนนำมาก่อน 1- 3 วัน ต่อมาพบว่าบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการปวดบวมและกดเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นอาจมีลักษณะแดง ร้อนและตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวไปที่หูขณะกลืน เคี้ยว หรืออ้าปาก บางคนอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของต่อมน้ำลายทั้ง 2 ข้าง โดยห่างกันประมาณ 4 - 5 วัน อาการบวมจะค่อย ๆ ยุบหายไปในเวลา 7 - 10 วัน บางรายอาจมีอาการขากรรไกรบวมโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน หรือมีเพียงไข้ โดยขากรรไกรไม่บวมก็ได้ สิ่งตรวจพบ ไข้ 38 - 40 องศาเซลเซียล บางรายอาจไม่มีไข้ บริเวณขากรรไกรบวม ข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง รูปิดเปิดของท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้ม ( บริเวณตรงกับฟันกรามบนซี่ที่ 2 ) อาจมีอาการบวมแดงเล็กน้อย การตรวจวินิจฉัย วินิจฉัยจากอาการของโรคเป็นหลัก คือมีไข้ คางบวมประมาณ 4-8 วัน หากมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคคางทูม ก็จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อน ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ที่พบบ่อย ได้แก่ ลูกอัณฑะอักเสบ ( Orchitis ) ซึ่งจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ลูกอัณฑะปวดและบวม ( จะปวดมากใน 1 - 2 วันแรก ) มักพบหลังเป็นคางทูม 7 - 10 วัน แต่อาจพบก่อนหรือพร้อม ๆ กับคางทูมก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียวและน้อยรายที่จะกลายเป็นหมัน มักพบหลังวัยแตกเนื้อหนุ่ม ( อาจพบได้ประมาณ 25% ) ในเด็กอาจพบได้บ้าง แต่น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก อาจพบรังไข่อักเสบ (Oophoritis) ซึ่งจะมีอาการไข้และปวดท้องน้อย มักพบในวัยแตกเนื้อสาว อาจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง ส่วนสมองอักเสบ อาจพบได้บ้าง แต่น้อยมาก ถ้าพบอาจมีอาการรุนแรงถึงตายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบตับอ่อนอักเสบ , หูชั้นในอักเสบ , ประสาทหูอักเสบ (อาจทำให้หูตึงหูหนวกได้), ไตอักเสบ, ต่อมธัยรอยด์อักเสบ , กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ล้วนเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก การรักษา การรักษาโรคคางทูมเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มีการรักษาจำเพาะ ที่สำคัญต้องนอนพักผ่อน ไม่ควรให้เด็กกระโดดโลดเต้น จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น แพทย์จะให้ให้ยาลดไข้แก้ปวด และแนะนำให้รักษาสุขภาพในช่องปาก โดยใช้น้ำยา บ้วนปากทำความสะอาดช่องปากหลังอาหาร ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม ประคบบริเวณที่บวมวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เพื่อลดการอักเสบ โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ โรคคางทูมจะมีปัญหายุ่งยากเมื่อมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าคางจะยุบบวม และควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ หากสงสัยควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก การรักษาโรคคางทูมเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มีการรักษาจำเพาะ ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายโรคไปกับบุคคลอื่นได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกระทั่งต่อมน้ำลายยุบบวมแล้ว โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไปเพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อโรคดังกล่าว ข้อแนะนำ ในกรณีของคนใกล้ชิดหรือกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคคางทูม มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ 1. แยกผู้ป่วยโรคคางทูมออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 9 วัน หลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง พร้อมทั้งสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนของผู้ป่วยโรคคางทูม ไม่ว่าจะเป็นเสมหะ น้ำลาย ที่เกิดจากการจามหรือไอของผู้ป่วย รวมถึงงดใช้ภาชนะต่างๆร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้นว่า ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เพื่อป้องกันการรับเชื้อ เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ปวดศีรษะมาก อาเจียน ชัก มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อัณฑะบวม - ปวดท้องมาก หูตึง ได้ยินไม่ชัดเจน ปวดฟัน เหงือกบวม เจ็บในคอมาก หรือต่อมทอนซิลบวมแดง อ้าปากลำบาก จนทานอาหารไม่ได้ ก้อนที่บวม มีลักษณะบวมแดงมาก หรือปวดมาก ดูแลตัวเองมา 7 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือกำเริบซ้ำ หลังหายแล้ว การป้องกัน โรคคางทูมสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เรียกว่า mumps vaccine มักทำรวมในเข็มเดียวกันกับวัคซีนป้องกันหัด และหัดเยอรมัน เรียกว่า เอ็มเอ็มอาร์ (MMR - measles, mumps, and rubella vaccine) ฉีดเมื่อเด็กอายุได้ 9-15 เดือน เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อโรคดังกล่าว |
ที่มา www.doodeehealth.com |