เป็นคางทูม โรคคางทูม สาเหตุ มาจากอะไรมีคำตอบให้นะ


860 ผู้ชม


 

โรคคางทูม

โรคคางทูม


โรคคางทูม
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          โรคคางทูม เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในเด็ก ๆ วันนี้มีข้อมูลเรื่อง โรคคางทูม มาฝากกันค่ะ
          โรคคางทูม หรือ  Mumps หรือ Epidemic Parotitis มักพบบ่อยในเด็กอายุ 6-10 ปี ส่วนวัยต่ำกว่า 3 ขวบ หรือผู้ใหญ่มากกว่า 40 ปีจะไม่ค่อยพบ
สาเหตุของ โรคคางทูม
          โรคคางทูม เกิดจากการติดเชื้อคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มพารามิกโซ ไวรัส (paramyxovirus) โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำลายของผู้ป่วย และติดต่อถึงกันผ่านการไอ จามรดกัน รวมทั้งสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนน้ำลายของผู้ป่วย
          เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายก็จะแบ่งตัว และเข้าสู่กระแสโลหิต ก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลาย และอวัยวะต่าง ๆ อักเสบ ทั้งนี้เมื่อเป็นแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันตลอดไป
ระยะฟักตัวของโรค
          นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนมีอาการแสดง ประมาณ 12- 25 วัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในราว 16-18 วัน
ระยะติดต่อของ โรคคางทูม
          คือระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อในคนอื่นได้ คือตั้งแต่ 7 วันก่อนมีอาการ จนถึง 9 วันหลังมีอาการคางทูม บางครั้งก็พบการระบาดของโรคคางทูม
อาการของผู้ป่วย โรคคางทูม
          ผู้ป่วย คางทูม จะเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร บางคนอาจปวดหูขณะเคี้ยงอาหาร หรือกลืนอาหารด้วย จากนั้น 1-3 วันต่อมา จะมีอาการบวมที่ข้างหูหรือขากรรไกร และปวดมากขึ้นเมื่อทานของเปรี้ยว รวมทั้งขณะอ้าปากเคี้ยวอาหาร หรือกลืนอาหาร บางคนอาจบวมที่ใต้คางด้วย ถ้าต่อมน้ำลายใต้คางอักเสบ
          ผู้ป่วยคางทูมส่วนใหญ่ จะมีอาการคางบวมทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งก่อน แล้วจะเป็นอีกข้างตามมาใน 4-5 วัน ช่วงที่บวมมาก ผู้ป่วยจะพูดและกลืนอาหารลำบาก
          นอกจากนี้ยังพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อคางทูม อาจไม่แสดงอาการของโรคคางทูมก็ได้
การแยกโรค
อาการคางบวม อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คางทูม ก็ได้ เช่น
          การบาดเจ็บ เช่น ถูกต่อย
          ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดง และต่อมน้ำเหลืองใต้คางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
          เหงือกอักเสบ หรือรากฟันอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดฟัน เหงือกบวม และอาจมีคางบวมข้างหนึ่ง
          ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการคล้ายคางทูม แต่ผิวหนังจะมีลักษณะแดงมาก และเจ็บมาก
          มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมข้างคอ ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจเสียงแหบ (ถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียง) หรือคัดจมูก เลือดกำเดาไหล (ถ้าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก)
การวินิจฉัย โรคคางทูม
          จะวินิจฉัยจากอาการของโรคเป็นหลัก คือมีไข้ คางบวมประมาณ 4-8 วัน หากมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคคางทูม ก็จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ดีขึ้น
การดูแลผู้ป่วย โรคคางทูม
          เนื่องจากโรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส และไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เพียงแต่ดูแลรักษาตามอาการ ก็สามารถรักษาให้หายได้เองตามธรรมชาติ โดยจะมีอาการไข้อยู่ 1-6 วัน ส่วนคางทูมจะยุบเองในไม่เกิน 10 วัน และจะหายสนิทใน 2 สัปดาห์
          ผู้ป่วยควรดูแลร่างกายด้วยการพักผ่อนมาก ๆ อย่าทำงานหนัก ดื่มน้ำมาก ๆ และทานยาลดไข้ ในเวลาที่มีไข้สูง นอกจากนี้ให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบตรงบริเวณที่เป็นคางทูม วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าปวดให้เปลี่ยนไปใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งแทน และควรเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่เคี้ยวยาก ๆ อาหารรสเปรี้ยว เพราะจะทำให้ปวดมากขึ้น ที่สำคัญควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องการการแพร่เชื้อสู่คนอื่น
ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ
          ปวดศีรษะมาก อาเจียน ชัก
          มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
          อัณฑะบวม - ปวดท้องมาก
          หูตึง ได้ยินไม่ชัดเจน
          ปวดฟัน เหงือกบวม
          เจ็บในคอมาก หรือต่อมทอนซิลบวมแดง
          อ้าปากลำบาก จนทานอาหารไม่ได้
          ก้อนที่บวม มีลักษณะบวมแดงมาก หรือปวดมาก
          ดูแลตัวเองมา 7 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือกำเริบซ้ำ หลังหายแล้ว
โรคแทรกซ้อนของ คางทูม
          เพราะเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต จึงสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ จึงอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น
          อัณฑะอักเสบ (Orchitis) เป็นอาการที่พบได้บ่อย หากผู้ป่วยโรคคางทูมอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือวัยหนุ่ม โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง อัณฑะบวมและปวดมาก มักเป็นหลังอาการคางทูม 7-10 วัน ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว รักษาได้โดยให้ยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และประคบด้วยความเย็น
          ประสาทหูอักเสบ พบได้ประมาณร้อยละ 4-5 มักเป็นเพียงชั่วคราวและหายไปได้เอง
          ตับอ่อนอักเสบ พบได้ประมาณร้อยละ 2-3 เป็นภาวะที่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะเป็นไข้ ปวดท้องบริเวณเหนือสะดือ กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่ อาจคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
          รังไข่อักเสบ  (Oophoritis) อาการที่พบคือจะมีไข้ ปวดท้องน้อย
          เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ พบได้น้อย อาการที่เป็นคือจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ชัก มักเป็นหลังต่อมน้ำลายอักเสบประมาณ 3-7 วัน หากเป็นแล้วต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
          แท้งบุตร หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ก็อาจทำให้แท้งบุตรได้ แต่พบได้น้อย
การรักษา โรคคางทูม
          ปกติจะรักษาตามอาการ แต่หากมีโรคแทรกซ้อน ก็จะรักษาตามอาการโรคแทรกซ้อน โดยให้ยารักษาตามอาการนั้น
การป้องกัน โรคคางทูม
          สามารถป้องกัน โรคคางทูม ได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) เริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง ตอนอายุ 4-6 ปี

ที่มา  /health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด