ปริมาณน้ำนมที่ร่างกายผลิต = ปริมาณน้ำนมที่ถูกดูด (หรือปั๊ม/บีบ) ออกไป **ดังนั้นถ้าต้องการให้มีน้ำนมมากเท่าใด ต้องดูดหรือปั๊มหรือบีบออกให้มากเท่านั้น** ตัวอย่าง : ถ้าลูกต้องการน้ำนมวันละ 20 ออนซ์ (ตัวเลขสมมุติ) · กรณีที่ 1 แม่ให้ลูกดูดทั้งวันโดยไม่ใช้นมผสมเลย ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้ 20 ออนซ์เท่าที่ลูกดูดออกไป (พอสำหรับลูก แต่ไม่มีสต็อค) · กรณีที่ 2 แม่ให้ลูกดูดทั้งวันและให้นมผสม 1 มื้อ จำนวน 2 ออนซ์ ถ้าทำเช่นนี้ ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้เพียง 18 ออนซ์ ซึ่งไม่พอสำหรับลูก ถ้าทำเช่นนี้ (ให้นมผสมร่วม) ไปเรื่อยๆ ร่างกายแม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ · กรณีที่ 3 แม่ให้ลูกดูดทั้งวัน และปั๊ม (หรือบีบ) ออกมาได้อีกวันละครั้ง ๆ ละ 2 ออนซ์ แบบนี้ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้วันละ 22 ออนซ์ (เหลือวันละ 2 ออนซ์เพื่อเป็นสต็อค) การทำสต็อคน้ำนม ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรยิ่งง่ายเท่านั้น (โดยเฉพาะภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด) แต่ถ้าคุณพลาดช่วงเวลานั้นมาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เริ่มต้นได้เลยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เริ่มจากมื้อเช้า (ตี5-6 โมง) ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้มากที่สุดในช่วงนี้ ถ้าตื่นก่อนลูก ให้ปั๊มหรือบีบน้ำนมออกก่อน 1 ข้าง (สมมุติว่าเป็นข้างขวา) ประมาณ 15 นาที ได้เท่าไหร่ (แรกๆ อาจจะไม่ถึงออนซ์ ก็ไม่ต้องกังวล ทำทุกวัน น้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) เก็บเอาไว้ เมื่อลูกตื่นให้ลูกดูดข้างซ้าย นานจนกว่าลูกจะพอใจ ถอนปากออกจากเต้าแม่เอง ถ้าไม่หลับ ก็ให้ลูกมาดูดต่อข้างขวาที่เราปั๊มไปแล้ว เมื่อลูกดูดเสร็จ ให้กลับมาปั๊มข้างซ้าย (ที่ลูกดูดตอนแรก) ต่ออีก 2-3 นาทีเพื่อกระตุ้น ถ้าลูกตื่นก่อนก็ให้ลูกดูดก่อนหนึ่งข้าง (สมมุติว่าข้างซ้าย) ให้ลูกดูดนานเท่าที่ลูกต้องการ เมื่อลูกถอนปากออกจากเต้า ให้ปั๊มอีกข้างที่เหลือ (ขวา) ประมาณ 15 นาที แล้วปั๊มข้างซ้าย (ที่ลูกดูดไปแล้ว) อีก 2-3 นาที ทั้งสองข้างได้นมเท่าไหร่ ก็เก็บไว้ ถ้าลูกไม่หลับ อาจจะให้ลูกมาดูดต่อข้างขวา (ที่ปั๊มไปแล้ว) ซ้ำอีกก็ได้ คำแนะนำเพิ่มเติม สามารถทำเช่นนี้ได้หลายๆ มื้อ ต่อวัน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่ต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยปกติช่วงที่ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีคือ กลางคืนและตอนเช้า ช่วงบ่ายและเย็น จะผลิตได้น้อยกว่า ข้อควรระวัง น้ำนมที่บีบหรือปั๊มออกมาในช่วงที่ทำการเก็บสต็อคนี้ ต้องไม่ นำมาให้ลูกกิน เพราะการนำนมส่วนนี้มาให้ลูกกิน ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่ม ไม่ต่างกับการให้ลูกดูดจากเต้าเอง น้ำนมที่เราต้องการสต็อคนี้ควรนำมาใช้หลังจาก 1 เดือนผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมได้คงที่แล้ว ถ้าต้องกลับไปทำงานก็ใช้น้ำนมที่สต็อคไว้นี้ให้ลูก เมื่อไปทำงาน ก็ปั๊มจากที่ทำงานกลับมาทดแทนสต็อคที่ใช้ไป ถ้าทำได้เช่นนี้ จะสามารถให้นมลูกได้จนถึงสองปี โดยไม่ต้องพึ่งนมผสม การปั๊มนมหลังจากที่ไปทำงานแล้ว ต้องมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ เช้าให้ลูกดูดก่อนไปทำงาน และเมื่อถึงที่ทำงาน ขอแนะนำให้ปั๊มเวลา 9.00 – 12.00-15.00 ของทุกวัน แล้วกลับมาให้ลูกดูดทันทีที่กลับถึงบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ ควรให้ลูกดูดทั้งวันตามต้องการ คำเตือน ในช่วง 1-4 เดือนแรก ถ้าให้ลูกดูดสม่ำเสมอ ร่วมกับการบีบหรือปั๊ม ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้มาก จนอาจทำให้คุณชะล่าใจว่า น้ำนมเหลือเฟือเกินพอ อยากจะหยุดให้ลูกดูดบางมื้อ หยุดปั๊มตามเวลา พยายามให้ลูกงดมื้อดึก ฯลฯ การทำแบบนั้น อาจทำให้น้ำนมลดลงได้ภายในไม่กี่วัน ในขณะเดียวกัน เมื่อลูกอายุมากขึ้นเรื่อยๆ (2-6 เดือนขึ้นไป) การบีบหรือปั๊มอาจจะได้ปริมาณลดลง หรือไม่รู้สึกคัดเต้านม ก็ไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องกังวล ตราบใดที่ลูกยังดูดจากเต้าแม่สม่ำเสมอ บีบหรือปั๊มออกตามเวลาทุกวัน น้ำนมก็ไม่มีวันหมดไปจากร่างกายของคุณ ปริมาณน้ำนมที่ลดลงเมื่อลูกอายุมากขึ้น เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ลูกจะต้องเจริญเติบโตจากอาหารอื่นร่วมด้วยแล้ว ไม่ใช่นมแม่เพียงอย่างเดียว ปั๊มนมอย่างไรให้พอ หากลูกไม่ดูดจากเต้า เป้าหมาย : ปั๊มน้ำนม ให้ได้ปริมาณเต็มที่ 25-35 ออนซ์ต่อวัน ภายใน 10-14 วัน หลังคลอด โดยไม่ต้องคำนึงว่าลูกจะกินแค่ไหน ร่างกายของคุณแม่พร้อมที่จะผลิตน้ำนมแล้ว ถ้ารอนานเกินไป มันอาจจะยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่เพิ่มปริมาณน้ำนมให้ได้ถึงระดับนี้ หลัง จากคลอด เริ่มต้นปั๊มนมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยปั๊มให้ได้ 8-10 ครั้งทุก 24 ช.ม. (เท่ากับจำนวนครั้งที่ลูกดูดต่อวัน) ยิ่งปั๊มได้บ่อยแค่ไหนต่อวัน ก็จะยิ่งทำให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้นเท่านั้น เลือกใช้เครื่องปั๊มนมขนาดใหญ่ (hospital grade) แบบที่ สามารถปั๊มพร้อมกันสองข้างได้ * จนกว่า น้ำนมจะมาจริงๆ ในวันที่ 3 หรือ 4 หลังคลอด ให้ปั๊มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง * เมื่อ ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นแล้ว พยายามปั๊มให้นานขึ้น (บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้) อย่างน้อย 20-30 นาที หรือปั๊มต่ออีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้ว แล้วแต่กรณีใดจะเกิดก่อน (การปั๊มให้เกลี้ยงเต้า จะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น) ตั้งเป้าที่จำนวนครั้งของการปั๊มต่อวัน ไม่ใช่ระยะห่างของการปั๊มแต่ละครั้ง * ถ้า คุณคิดถึงแต่ว่าจะต้องปั๊มทุกกี่ช.ม. เมื่อมีการปั๊มครั้งหนึ่งช้าไปบ้าง จะทำให้จำนวนครั้งในการปั๊มต่อวัน (ปัจจัยสำคัญ) ลดลงไปโดยไม่รู้ตัว * เมื่อวางแผนการปั๊ม พยายามคิดว่า "ฉันจะปั๊มให้ได้ 10 ครั้งหรือมากกว่าได้ยังไง" * ถ้าไม่สามารถปั๊มได้ระหว่างช่วงไหนของวัน ให้ปั๊มทุกชั่วโมงในช่วงที่ทำได้เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่กำหนด (8-10 ครั้งต่อวัน) * ก่อน ที่จะถึงเป้าหมาย 25-35 ออนซ์ต่อวัน ให้ปั๊มตอนกลางคืนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และอย่าให้ช่วงห่างระหว่างการปั๊มแต่ละครั้งนานเกินกว่า 5 ช.ม. (เต้านมที่คัดมากๆ และไม่ได้ปล่อยออก จะทำให้การผลิตน้ำนมช้าลง) เมื่อสามารถปั๊มได้ตามเป้าหมาย 25-35 ออนซ์ต่อวัน อาจจะลดจำนวนครั้งที่ปั๊มลงและยังคงรักษาระดับปริมาณน้ำนมนี้ไว้ได้ * ลดจำนวนครั้งในการปั๊มเป็น 5-7 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรักษาระดับปริมาณการผลิตน้ำนมไว้ได้คงที่ * อาจจะไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาปั๊มตอนกลางคืน บางคนอาจจะปั๊มก่อนเข้านอนและปั๊มอีกครั้งทันทีที่ตื่นตอนเช้าก็ได้ * เมื่อปริมาณน้ำนมถึงจุดที่กำหนดแล้ว ปั๊มเพียง 10-15 นาทีต่อครั้งก็พอ * สังเกตปริมาณน้ำนมสัปดาห์ละครั้งด้วยการจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวัน |
วิธีให้ลูกยอมดูดนมแม่จากขวด เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน ก็จำเป็นต้องให้ลูกกิน นมแม่ ด้วยวิธีอื่น แทนการดูดจากอก การให้ลูกดูด นมแม่ ที่ปั๊มออกมาจากขวดเป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด แต่เมื่อลูกดูดนมแม่มานานจน ชินแล้ว การให้ดูดนมจากขวดก็ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าตัวน้อยจะยอมง่ายๆ ค่ะ เป็นปัญหาที่คุณแม่ส่วนใหญ่ต้องกลุ้มใจกันอย่างหนักทีเดียว ถ้าคุณกำลังประสบปัญหานี้อยู่ ให้ลองวิธีต่างๆ ต่อไปนี้ - อย่าให้ลูกดูดนมแม่จากขวดตอนที่ลูกร้องหิวจัดๆ เพราะแกจะโมโหและหงุดหงิดจนไม่ยอมกิน ให้ก่อนสัก 15 นาที ก่อนที่จะถึงเวลาที่เคยดูดนมแม่เป็นปกติ หรือขณะที่กำลังหลับๆ อยู่ใกล้จะตื่น (สังเกตจากการขยับตัว ขยับปากจุ๊บๆ จั๊บๆ เหมือนจะตื่น) - ให้ผู้อื่นเป็นคนป้อน คุณแม่ควรจะหลบไปห่างๆ (ไม่ต้องยืนลุ้นอยู่ใกล้ๆ นะคะ ถึงลูกมองไม่เห็น แต่ก็ได้กลิ่นแม่ เด็กมีสัญชาตญาณค่ะ) ไม่งั้นลูกจะไม่ยอมกิน - ลองเปลี่ยนท่าอุ้ม ที่ไม่ใช่ท่าอุ้มที่เหมือนแม่อุ้มดูดนม เพราะเด็กบางคนจะจำและเรียนรู้ว่า ถ้าอุ้มท่านี้จะต้องได้ดูดจากอกแม่ อาจจะให้นอนในเปล หรือที่นอนแทน ขณะป้อน - เด็กบางคนก็ชอบให้มีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ ลองนั่งเก้าอี้โยก หรือแกว่งชิงช้าขณะที่ป้อน - ลองเปลี่ยนจุกนมหลายๆ แบบ เลือกอันที่นิ่มๆ และมีความยืดหยุ่นมากๆ คล้ายหัวนมแม่ - อย่าให้จุกนมเย็นเกินไป ถ้าเอาออกมาจากตู้เย็น ให้แช่น้ำอุ่นก่อน - ในครั้งแรก ลูกอาจจะดูดได้ไม่มาก ค่อยๆ ลองทุกวัน เมื่อชินก็จะดูดได้มากขึ้น - ในบางครั้ง ถ้าหยุดให้นมขวดหลายๆ วัน เช่นช่วงวันหยุดยาวๆ ที่แม่ให้ดูดทุกมื้อ เมื่อแม่กลับไปทำงาน ลูกก็อาจไม่ยอมดูดอีก ก็ต้องค่อยๆ เริ่มใหม่ ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาลักษณะนี้ ช่วงวันหยุดยาวๆ คุณแม่อาจจะให้ขวดบ้างในบางมื้อ - ถ้าลองทุกวิธีแล้ว ยังไม่เป็นผล ก็ลองป้อนด้วยช้อน หรือแก้วดูค่ะ |
ที่มา www.breastfeedingthai.com |