เมื่อ สัปดาห์ก่อนได้กล่าวถึงอาการของต่อมลูกหมากโตกันไปแล้ว แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากเกิดอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิต ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะคะ วันนี้มาติดตามวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับแต่ละคนค่ะ วิธีการรักษาต่อมลูกหมากโต 1.หากอาการไม่มากนัก แพทย์จะรอดูอาการและแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว ดังนี้ - หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น - ก่อนนอนอย่าดื่มน้ำมากและให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน เพื่อจะได้ไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ - งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ปัสสาวะมาก - ไม่ควรนั่งจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก อาจทำให้ปัสสาวะไม่ออก - ถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง น้ำเชื้อที่ออกมาจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม - แพทย์มักแนะนำไม่ให้รับประทานยาลดน้ำมูก เพราะผลข้างเคียงของยาจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก นอก จากนี้ ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินว่าต่อมลูกหมากโตเกิดปัญหาต่อ สุขภาพหรือยัง ผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตไม่มากประมาณ 1 ใน 3 อาการจะดีขึ้นเองได้ หากมีอาการผิดปกติมากขึ้น จึงจะเริ่มให้การรักษาด้วยยา 2.การรักษาด้วยยา บาง ชนิดเป็นยาที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมากคลายตัว ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ ขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลงและทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น บางชนิดเป็นยาที่ทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากเล็กลง มีผลข้างเคียงคือความต้องการทางเพศลดลงด้วย แต่เมื่อหยุดยา ความต้องการทางเพศก็จะกลับมาเป็นปกติ 3.การรักษาด้วยการผ่าตัด - การใช้พลังงานความร้อนจากเลเซอร์ คลื่นไมโครเวฟ หรือคลื่นวิทยุ ทำให้เนื้อต่อมลูกหมากฝ่อลง โดยใส่เครื่องมือผ่านทางท่อปัสสาวะ การรักษานี้จะทำให้ปัสสาวะไหลดีขึ้น และไม่ทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดหรือความรู้สึกทางเพศลดลง แต่อาจไม่ได้ผลหากต่อมลูกหมากโตมาก - Transurethral Resection of the Prostate (TURP) คือการใส่เครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะ และใช้เครื่องมือตัดเนื้อต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ วิธีการนี้ยังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง - Transurethral Incision of the Prostate (TUIP) ใช้ในกรณีที่ต่อมลูกหมากไม่โตมาก โดยใส่เครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะ แล้วกรีดต่อมลูกหมาก 2-3 รอย ไม่มีการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก วิธีนี้จะช่วยลดความดันในต่อมลูกหมาก ทำให้ปัสสาวะออกง่ายขึ้น - การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องเอาต่อมลูกหมากออก ใช้ในกรณีที่ต่อมลูกหมากโตมาก - การขยายท่อปัสสาวะส่วนที่ต่อมลูกหมากอยู่โดยการใช้บัลลูน วิธีนี้จะทำให้ปัสสาวะไหลดีขึ้น แต่มีข้อเสียคืออาจจะมีเลือดออกและเกิดการติดเชื้อได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th |