ดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ article ระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง นอกจากอาหารที่ควรรับประทาน ซึ่งเขียนถึงไปแล้ว ว่าที่คุณแม่สามารถดูแลตัวเองง่ายๆ ดังนี้ แพ้ท้อง จะมีอาการมากใน 3 เดือนแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อตื่นนอน จะมีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีอาการมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ หลังตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำผลไม้และรับประทานขนมปังกรอบทันที จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจัด เพราะอาจทำให้คลื่นไส้มากขึ้น นอกจากนี้อาจอยากรับประทานอาหารแปลกๆ รสเปรี้ยว ซึ่งสามารถรับประทานได้ แสบร้อนในอก เกิด จากหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวในระยะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับกระเพาะอาหารถูกดันสูงขึ้น เนื่องจากมดลูกที่โตขึ้น ทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศรสจัด อาหารทอด ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ก่อนนอนดื่มนมอุ่นๆ เวลานอนไม่ควรนอนราบ ให้ใช้หมอนสูงหนุนนอน และไม่ควรก้มตัวโดยไม่จำเป็น ท้องลาย เกิด จากผิวหนังขยายตัวเกินขีดความยืดหยุ่น มักเกิดในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ พบมากบริเวณต้นขา หน้าท้อง เต้านม ถ้าน้ำหนักเพิ่มจะเป็นมาก รอยนี้จะเป็นรอยแดงลึก และจะไม่หายไปเลยทีเดียว แต่จะจางลงหลังคลอด ตั้งแต่ที่รู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ ให้รีบป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยทาน้ำมันมะกอกหรือโลชั่นชนิดเข้มข้นพิเศษทุกวัน และควรระวังไม่ให้กล้ามเนื้อเพิ่มเร็วและมากเกินไป ตะคริว มัก เกิดที่น่อง เท้า หรือต้นขา กล้ามเนื้อดังกล่าวจะหดเกร็งตัว ทำให้เกิดการเจ็บปวด มักเกิดในเวลากลางคืนในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี พยายามยกเท้าสูง นอนตะแคง อย่าเดินหรือยืนนานๆ ทุกครั้งที่มีอาการ ให้บีบนวดทันที โดยกระดกปลายเท้าขึ้น ปัสสาวะบ่อย เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น ไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำให้น้อยลงก่อนเข้านอน อาการปัสสาวะบ่อย เป็นอาการปกติที่คนท้องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาการนี้จะเกิดเฉพาะ 3 เดือนแรก และเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์เท่านั้น ท้องผูก ขณะ ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย การทำงานของลำไส้จะเคลื่อนที่ช้าลง น้ำถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกายจำนวนมาก ทำให้อุจจาระแข็ง เกิดอาการท้องผูกได้ ควรรับประทานอาหารเป็นเวลา ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผัก ผลไม้ ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี ออกกำลังกายบ้าง โดยการเดินสบายๆ วันละ 20 นาที ไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ข้อเท้าบวมและนิ้วบวม หาก มีอาการบวมเล็กน้อย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนท้อง เนื่องจากร่างกายมีการสะสมของน้ำเพิ่มขึ้น ปกติมักพบอาการบวมบริเวณข้อเท้าในตอนเย็น แต่วันรุ่งขึ้นอาการจะทุเลาลง เวลานั่งหรือนอน ควรยกเท้าสูง หรือหาหมอนมารองใต้น่อง เพื่อให้เท้าชูสูง ปวดชาข้อมือ พบตลอดการตั้งครรภ์ บางทีจะปวดหรือชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ บางครั้งมีอาการอ่อนแรงเมื่อยล้า ปวดข้อมือไปจนถึงปลายนิ้ว ควรหาหมอนวางรองมือ การนอนห้อยมือนานๆ อาจทำให้มือบวมได้ การใช้น้ำอุ่นประคบรอบๆ ข้อมือ ทำให้อาการดีขึ้น อาการนี้จะหายไปเมื่อคลอดบุตรแล้ว ปวดหลัง พบ ได้บ่อยเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีมีครรภ์ โดยมักปวดที่หลังส่วนล่าง ระหว่างก้นทั้งสองข้าง ร้าวลงไปที่ต้นขา มักเป็นช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ การยืนนานๆ ในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือยกของหนักเกินไป ทำให้ปวดหลังได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้ข้อกระดูกและเอ็นต่างๆ คลายตัวหลวมมากขึ้น ความแข็งแรงของข้อลดลง จึงทำให้ปวดหลังได้ พยายามนอนพื้นเรียบ ใช้หมอนหนุนหลังเวลานั่ง อย่าก้มหยิบของ ควรใช้วิธีนั่งหยิบแทน และควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย อาจให้สามีช่วยนวดหลังเบาๆ นอกจากจะคลายปวดแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้วย ต่อไปนี้เป็นท่าบริหารง่าย ๆ และปลอดภัยสำหรับคุณแม่ก่อนคลอด ท่า ที่ 1 ยืนตรง มือเท้าเอว เท้าแยกพอประมาณ หลังตรง หาหนังสือเล่มหนา ๆ ประมาณ 1-2 เล่ม วางอยู่ระหว่างเท้า ค่อย ๆ ย่อขาลง หยิบหนังสือขึ้นจากพื้น แล้วยืนขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือซ้ายจับเข่าขวา พยายามบิดตัวไปทางขวาช้า ๆ แล้วสลับอีกข้าง ท่าที่ 3 นอนหงายชันเข่า ยกสะโพกขึ้นจากพื้นจนตึง ค้างไว้แล้วลดลง ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 4 นั่งคุกเข่าให้มือทั้งสองข้างวางบนพื้น ออกแรงโค้งหลังขึ้นข้างบนจนสุดแล้วค้างไว้ ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 5 เอียงคอไปด้านซ้าย และกลับมาตรง เอียงคอไปด้านขวา และกลับมาตรง ก้มคอไปด้านหน้า และกลับมาตรง ทำซ้ำอย่างละ 5 ครั้ง ท่าที่ 6 ยืนตรง มือทั้งสองข้างแตะไหล่หมุนไหล่เป็นวงกลม ไปข้างหลัง ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 7 ยืนตรงกางแขนทั้งสองข้างออก ก้มตัวไปข้างขวา แตะเข่าด้านข้าง ทำซ้ำข้างละ 5 ครั้ง ท่าที่ 8 นอนหงาย ชันเข่า แขนตึง มือทั้งสองข้างวางบนต้นขา ออกแรงเกร็งท้อง จนมือแตะเข่า ค้างไว้สักครู่ ทำซ้ำ 5 ครั้ง การบริหารร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ช่วยรักษาสุขภาพของคุณแม่ก่อนและหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน |
ที่มา www.thebestinsure.com |