แผนจีนวิเคราะห์สาเหตุของอาการหูอื้อ บอกถึง วิธีแก้ปัญหาหูอื้อ ที่ได้ผล


889 ผู้ชม


คอลัมน์ มหัศจรรย์แพทย์แผนจีนทุยหนา โดย...หมอหลิน ตันเฉียน
      
       ทำไม มนุษย์เราถึงได้มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายถึงขนาดนี้ เดี๋ยวก็ปวดหัว เดี๋ยวก็ปวดท้อง เดี๋ยวก็โรคนั้นโรคนี้มากล้ำกราย ใครที่เจอเบาะๆ ก็โชคดีไป ส่วนใครที่เจอโรคร้ายก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจและต่อสู้กันต่อไป ดังนั้น จึงมีคำพูดอมตะที่ทุกคนเคยได้ยินได้ฟังกันคุ้นหูนั่นก็คือ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
      
   
       “เอ่อหมิง” หรืออาการ “หูอื้อ-หูแว่ว” เป็นอีกโรคหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ถึงกับทำให้ล้มหายตายจาก แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้กับเจ้าของหูอยู่ไม่น้อย เพราะอยู่ๆ ก็มี “เสียงวี๊ด เสียงแว่ว” เหมือนสายลมหรือเสียงจั๊กจั่นดังเข้ามาในหูผิดไปจากธรรมชาติที่ควรจะเป็น
      
       ที่สำคัญคือ อาการหูอื้อจะส่งผลทำให้ความสามารถในการฟังลดลงไปจากเดิมด้วย
      
       ใคร ที่มีปัญหาหูอื้อ เมื่อไปพบแพทย์แผนปัจจุบันก็มักจะได้รับคำตอบว่ารักษาไม่หายและต้องทนอยู่ กับโรคนี้ไปตลอดชีวิต แต่สำหรับศาสตร์แพทย์แผนจีน ต้องบอกว่า โรคนี้มีทางรักษาและเยียวยาได้
      
       ทฤษฎีแพทย์แผนจีน วิเคราะห์สาเหตุของอาการหูอื้อหูแว่วว่า ด้านหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะความเสื่อมถอยของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการรับฟัง ด้านหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความเสื่อมของระบบประสาทสั่งการ ขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการพร่องของ “พลังอิน” หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ “พลังหยิน” (คู่กับพลังหยาง) ที่เชื่อมโยงไปถึงภาวะความสมบูรณ์ของ ไต ตับและดี ด้วย
      
       กล่าว คือ เมื่อการทำงานของ 3 อวัยวะคือ ไต ตับและดี ไม่ปกติ ก็จะส่งผลกระทบกับเส้นลมปราณ ทำให้การทำงานของเส้นลมปราณไม่ดี ไม่คล่อง รวมทั้งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดลมหรือระบบต่างๆ ติดขัดไม่สะดวก กระทั่งทำให้สิ่งภายนอกเข้ามาแทรกจนเกิดการเจ็บป่วย และมีผลกระทบกับการทำงานของหู เกิดมีเสียงแทรก เสียงแว่ว เสียงอะไรต่างๆ ขึ้นมา
      
       อย่างไรก็ตาม บางกรณีผู้ป่วยอาจจะเป็นมาตั้งแต่เกิดก็เป็นได้
      
       ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนที่อาการหูอื้อจะปรากฏมักมีเหตุนำที่เชื่อมโยงกับภาวะทาง “อารมณ์ ความรู้สึก” อย่างเช่นตกอยู่ในอารมณ์โกรธ หงุดหงิด งุ่นง่าน เหนื่อยอ่อนจากการทำงาน หรือเป็นผลมาจากการป่วยเป็นหวัดก็ได้
      
       อาการ หูอื้อหูแว่วที่ปรากฏ...บางครั้งจะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่บางครั้งอยู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งอาการที่ปรากฏก็มีได้หลายรูปแบบ หนักเบาต่างกัน เช่น บางคนอาจจะเป็นแค่หูข้างเดียว แต่บางคนก็เป็นทั้งสองข้าง นอกจากนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรับฟัง ทำให้ฟังได้ไม่ดีเท่าที่ควร การสื่อสารกับบุคคลอื่นมีปัญหา รวมทั้งถ้าอาการหนักก็จะทำให้ไม่ได้ยินเลยก็ได้
      
       ในทางการแพทย์แผนจีนสามารถแบ่งลักษณะอาการของผู้ป่วยหูอื้อหูแว่วตามสมุฏฐานของโรคออกได้เป็น 4 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
      
       1.ถ้าเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จะเกิดผลกระทบอาการคันในหู และเกิดภาวะหูอุดตันอย่างชัดเจน ตัวร้อนแต่รู้สึกหนาว ปวดศีรษะ
      
       2.ถ้าเกิดจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของอารมณ์ จะทำให้มีเสียงเหมือนน้ำไหลอยู่ในหู นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน แน่นหน้าอก รู้สึกหงุดหงิด โกรธง่าย ประกอบกันไป
      
       3.ถ้าเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะ มีเสียงวี๊ดๆ ดังเบาเหมือนเสียงลมแว่วอยู่ในรูหูตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน และในรูหูมักจะมีน้ำไหลเยิ้มออกมาลักษณะคล้ายๆ กับคนที่เป็นหูน้ำหนวก ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการฟังลดลงขณะเดียวกันก็จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่นปวดศีรษะ มือไม้ไม่มีแรง ปวดเอว ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะร้อน
      
       4.เป็นอาการผสมผสาน คือบางครั้งเบา บางครั้งหนัก เวลาได้พักผ่อนก็จะบรรเทาลง ถ้าเหนื่อยก็จะหนักขึ้น ผู้ที่ประสบอาการหูแว่วในลักษณะนี้จะส่งผลทำให้ระบบประสาทต่างๆ ตกอยู่ในภาวะมึนๆ ซึมๆ ซึ่งเมื่อวินิจัยโรคจะพบว่า เป็นผลมาจากความอ่อนแอของม้ามและกระเพาะอาหาร
      
       ส่วน วิธีการรักษานั้น หลักการแก้ที่สำคัญคงต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงต้นเหตุใหญ่ของโรค นั่นก็คือภาวะพร่องของพลังอิน ดังนั้น ถ้าจะแก้ให้ตรงจุดก็ต้องปรับให้พลังอินกลับคืนสู่ความสมบูรณ์และสมดุลดัง เดิม รวมทั้งปรับการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ เช่น ตับ ไต ม้าม ดี ฯลฯ ให้ดีขึ้น โดยการให้ยาสมุนไพรจีน และขณะเดียวกันก็สามารถใช้วิธีการนวดทุยหนาเพื่อรักษาอาการได้อีกด้วย
ที่มา    knowledge.eduzones.com

อัพเดทล่าสุด