อาการหูอื้อเกิดจากอะไร และ อาการหูอื้อเกิดจากสาเหตุอะไร ได้บ้าง


1,376 ผู้ชม



      เคย มั้ยที่การได้ยินของหูลดลง พูดง่ายๆ ก็คือ หูอื้อหรือหูตึงนั่นเอง ปัญหานี้นอกจากเจ้าตัวจะวิตกแล้ว คนรอบข้างก็พลอยมีท่าทีเปลี่ยนไป

      ภาวะ หูอื้อ หรือหูตึง เป็นภาวะที่ความสามารถในการรับเสียงเสื่อมลง ซึ่งอาจจะค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีทันใดก็ได้ มีการให้ค่าระดับความรุนแรงของการลดการได้ยิน ดังนี้


      หลายคนถึงกับสงสัยว่า แล้วหูรับเสียงได้อย่างไร
       ปกติคนเราสามารถรับเสียง โดยอาศัยกลไก 2 ส่วน คือ
    1.ส่วนนำเสียงและขยายเสียง ได้แก่ หูชั้นนอกและหูชั้นกลาง โดยคลื่นเสียงจากภายนอกผ่านเข้าไปในช่องหูกระทบแก้วหู แล้วมีการส่งต่อ และขยายเสียงไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป ถ้ามีความผิดปกติจนเกิดภาวะหูตึงขึ้น สาเหตุมักเกิดจาก
    - หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ หรือมีเนื้องอกที่หูชั้นนอก
    - หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง (otitis media with effusion) ท่อยูสเตเชียน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ หรือเกิดหินปูนขึ้นในหูชั้นกลาง (otosclerosis)
    2.ส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึง หูหนวกถาวร และบางโรคทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สาเหตุมักเกิดจาก
    - หูชั้นใน ที่พบบ่อยสุด คือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้น การเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจากการได้รับเสียงที่ดังมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด หรือการได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss) อย่างเช่นการอยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น salicylate, aminoglycoside, quinine, aspirin นอกจากนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหู ชั้นใน (labyrinthine concussion) การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น จากซิฟิลิสหรือไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน หรือมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (perilymphatic fistula) รวมทั้งโรคมีเนีย (Meniere’s syndrome) หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน
    - สมอง เกี่ยวพันกับโรคของเส้นเลือด เช่น เลือดออกในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบจากไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู และ/หรือประสาทการทรงตัว (acoustic neuroma)
    - สาเหตุอื่นๆ ก็มี เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกร็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตต่ำหรือสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้สามารถทำให้หูอื้อได้
    การวินิจฉัย โดยซักประวัติ สาเหตุต่างๆ ที่เป็นไปได้ การตรวจหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู รวมทั้งการตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด การตรวจปัสสาวะ ตรวจการได้ยินเพื่อยืนยันและประเมินระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน ตลอดจนการตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของโรค
    การรักษาหูอื้อ จะรักษาตามสาเหตุ ซึ่งมีทั้งการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หูอื้อ ที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทหูเสื่อมมักจะรักษาไม่หายขาด หรือดีหน่อยก็เพียงหาทางชะลอความเสื่อมให้ช้าลง โดยทั่วไป เมื่อมาพบแพทย์จะมีขั้นตอนดังนี้
    1.แพทย์ จะอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่า สาเหตุของหูอื้อเกิดจากอะไร บางรายไม่ทราบสาเหตุ หรือทราบสาเหตุแต่ไม่สามารถรักษาได้ และอาจเป็นตลอดชีวิต โชคดีบางรายอาจหายเองก็ได้ แล้วโรคนี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ เป็นแล้วจะหายไหม
    2.ถ้าหูอื้อ ไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง ไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก คือยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือเป็นเพียงหูข้างเดียว อีกข้างยังดีอยู่ ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ
    3.ถ้าหูอื้อมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะถ้าเป็น 2 ข้าง และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือ ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ และเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว แพทย์จะแนะนำให้ฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังร่วมกับการ ใช้ยาเพื่อให้การได้ยินดีขึ้น เช่น ยาขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น ยาบำรุงประสาทหู เป็นต้น
    4.ถ้าหูอื้อ เกิดจากประสาทหูเสื่อม ควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้นดังนี้

          1.หลีกเลี่ยงเสียงดัง
          2.ควรควบคุมโรคที่ผู้ป่วยเป็น (ถ้ามี) ให้ดี ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ฯลฯ
          3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น aspirin, aminoglycoside, quinine ซึ่งผู้ป่วยควรบอกแพทย์เสมอเวลาไปพบว่า ตนมีประสาทหูเสื่อม
          4.หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
          5.หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
          6.ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่ม น้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน) และงดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)
          7.พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด วิตกกังวล
          8.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


         อย่านิ่งนอนใจเมื่อมีอาการหูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ ก่อนจะถึงขั้นหูดับ เชื่อหมอ เถอะ

ที่มา   women.thaiza.com

อัพเดทล่าสุด