โรคงูสวัดกับดวงตา โดย แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Varicella Zoster เป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสซึ่งเป็นการติดเชื้อครั้งแรก ไวรัสตัวนี้เมื่อถูกกระตุ้นจากภาวะที่ร่างกายอ่อนแอก็จะแสดงอาการออกมาเป็น งูสวัด โรคงูสวัดที่เกิดอาการแสดงที่ดวงตาเราเรียกว่า Herpes zoster ophthalmicus เกิดจากเมื่อติดเชื้อครั้งแรกแล้วร่างกายไม่สามารถกำจัดตัวไวรัสได้หมด ตัวเชื้อจึงไปซ่อนที่ปมประสาทคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่บริเวณดวงตา พบภาวะนี้ได้ประมาณ 10-25% ของโรคงูสวัดทั้งหมด เมื่อมีอาการงูสวัดที่ดวงตาจะทำให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรังในลูกตา อาจสูญเสียการมองเห็น และมีอาการปวดตามเส้นประสาทรอบดวงตาได้ ความชุกของโรคงูสวัดในอเมริกาพบได้ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งประมาณ 250,000 คนจะมีภาวะนี้ที่บริเวณดวงตา และความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยพบมากที่สุดที่อายุประมาณ 70 ปี ปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดมักเกี่ยวพันกับการมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งได้แก่
อาการ ผู้ที่เป็นงูสวัดมักมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ในบางรายอาจพบภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วย สำหรับงูสวัดที่ดวงตาทำให้เกิดอาการปวดตาและรอบๆดวงตา ตาแดง ตามัว มีผื่นขึ้นที่รอบตาและเปลือกตา น้ำตาไหล อาจมีไข้และปวดเมื่อยตัวร่วมด้วย ผื่นและตุ่มน้ำจะพบได้ตามเส้นประสาทรอบดวงตาดังรูปด้านล่าง และจะกลายเป็นสะเก็ดในวันที่ 5-6 หากพบตุ่มน้ำลามมาถึงบริเวณปลายจมูกให้ระวังไว้ว่าจะมีภาวะอักเสบในลูกตา ร่วมด้วย
การอักเสบในดวงตาจากงูสวัด พบการอักเสบได้หลายตำแหน่งตั้งแต่เปลือกตา เยื่อบุตาขาว ตาขาว กระจกตาดำ ช่องหน้าลูกตา เส้นเลือดที่เลี้ยงประสาทตา ในน้ำวุ้นตา จอประสาทตา รวมถึงขั้วประสาทตา และเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตา ภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบจะทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่กระจกตา อักเสบเรื้อรังที่ช่องหน้าลูกตา อัมพาตของเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตา ปวดตามเส้นประสาทที่เลี้ยงลูกตา แผลเป็นที่เปลือกตาทำให้เปลือกตาผิดรูป เปลือกตาและเยื่อบุตาขาว : การอักเสบที่เปลือกตาพบได้บ่อย และอาจทำให้เกิดหนังตาตกจากที่บวมและอักเสบ ตุ่มน้ำที่ขึ้นรอบๆ เปลือกตาเมื่อหายอาจมีแผลเป็นได้บ้าง เยื่อบุตาอาจมีอาการแดงบวมได้ ดังรูปด้านล่าง
กระจกตา : การอักเสบที่กระจกตาจะเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ จะมีอาการตามัว ปวด และสู้แสงไม่ได้ การอักเสบเป็นได้ในทุกชั้นของกระจกตา
ช่องหน้าลูกตาและม่านตา : พบมีม่านตาและช่องหน้าลูกตาอักเสบ ซึ่งทำให้ตามัวได้ ส่วนใหญ่มักเป็นไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดความดันตาสูงในช่วงที่มีการอักเสบ จอประสาทตาและขั้วประสาทตา : เชื้อไวรัสงูสวัดอาจทำให้เกิดการอักเสบที่จอประสาทตาได้เห็นเป็น รอยขาวดังรูปด้านล่างขวา ซึ่งอาจรุนแรงมากในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก เช่นโรคเอดส์ รวมถึงทำให้เกิดจอประสาทตาลอก สูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ส่วนภาพล่างซ้ายแสดงภาวะขั้วประสาทตาบวม
การรักษา ผู้ที่เป็นงูสวัดรอบดวงตาควรได้รับการตรวจตาด้วยจักษุแพทย์ ส่วนการรักษาได้แก่ การให้ยาต้านไวรัส ที่นิยมคือ acyclovir เป็นยากินประมาณ 7-10 วัน ยาตัวอื่นๆ ได้แก่ Valacyclovir หรือ Famciclovir สำหรับการอักเสบในลูกตาหากพบร่วมด้วยจักษุแพทย์จะพิจารณาว่าเป็น การอักเสบที่ส่วนใดของลูกตา และให้การรักษาตามตำแหน่งที่ตรวจพบการอักเสบ |
ที่มา www.isoptik.com |