เป็น โรค ไวรัสตับอักเสบบีดูแลรักษาตัวอย่างไร ดีที่สุด


815 ผู้ชม


หมั่นเช็คสุขภาพเป็นประจำ - โรคไวรัสตับอักเสบบีดูแลรักษาตัวอย่างไร

 

 

          หลาย คนอาจจะเกิดคำถามว่า โรคไวรัสตับอักเสบบีมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน หลีกเลี่ยงอย่างไรไม่ให้เป็นโรคนี้และถ้าเป็นแล้วจะดูแลรักษาตัวเองอย่างไร

 

          พญ.อา รยา เอี่ยมอุดมกาล แพทย์สาขาระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบีเอ็นเอช อธิบายว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่ติดได้จากหลายทางทั้งจากทางเพศสัมพันธ์ สองก็คือจากสารคัดหลั่งต่างๆจากร่างกาย ทั้งน้ำลาย น้ำมูก เลือด เช่น การใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกับคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบ หรือใช้แปรงสีฟันร่วมกัน อาจจะทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้เข้าสู่ร่างกายได้

 

          และ สาม ก็คือ ติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยแม่ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบก็อาจจะส่งผ่านเชื้อไปยังลูกได้ง่าย ซึ่งสาเหตุนี้พญ.อารยา บอกว่า เป็นสาเหตุที่น่ากังวลมากที่สุด เพราะเด็กในท้องยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันได้ เด็กกลุ่มนี้จึงอาจจะเป็นไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังได้ง่าย

 

          อาการ เริ่มต้นของโรคไวรัสตับอักเสบนั้นจะมีอาการบ่งชี้ที่คล้ายๆ กับหลายๆ โรค เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียซึ่งกว่าที่หลายคนจะรู้ว่ามีอาการของโรคนี้แล้วก็เมื่อมีอาการตัว เหลือง ตาเหลือง ซึ่งแสดงว่ามีอาการมากไปแล้ว

 

          พญ.อารยา บอกว่า ไวรัสตับอักเสบบีสามารถแบ่งอาการออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งคนไข้จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป

 

          1.ไม่มีอาการอะไรเลย กลุ่มพวกนี้เหมือนเป็นเพียงพาหะของโรคเท่านั้น แต่ไม่แสดงอาการ วิธีการที่จะรู้ได้ก็คือการไปตรวจร่างกาย ตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอย่างเดียวเท่านั้น

 

          2.แบบเฉียบพลัน แบบนี้มีการอักเสบเฉียบพลันขึ้นมาโดยคนไข้อาจจะได้รับเชื้อแบบเฉียบพลัน เช่น อาจจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแล้วได้รับเชื้อมา โดยเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ได้ตั้งแต่ 50-180 วัน หรือเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน กว่าที่คนไข้จะเกิดอาการที่มีตั้งแต่คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกปวดท้อง อ่อนเพลีย เริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

 

          ถ้า อาการเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ พญ.อารยา บอกว่า อาการอาจจะเป็นอยู่ประมาณ 1-4 สัปดาห์ และคนไข้ 90% จะหายได้เอง แต่ระหว่างการรักษาก็ต้องดูแลแบบประคับประคองอาการไปจนกว่าจะหาย เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายแบบไม่หักโหม พักผ่อนให้เพียงพอ ในขณะที่อีก 10% นั้นก็อาจจะกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังได้

 

          นอก จากนั้นถ้าเกิดภาวะเฉียบพลันอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะตับวาย ซึ่งตับมีหน้าที่ทำลายสารพิษการสร้างสารที่จำเป็นในการแข็งตัวของเลือด การสร้างโปรตีนที่จำเป็นในการคงสภาพน้ำที่อยู่ในเลือด เมื่อตับวายทำงานไม่ได้ คนไข้ก็จะเกิดภาวะช็อกไม่สามารถขับสารพิษออกไปได้ ทำให้เกิดการบวม ติดเชื้อได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นได้

 

          3.แบบเรื้อรัง กลุ่มนี้อาจจะมีอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเพลีย แต่จะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ หลายคนจึงไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายแต่ส่วนใหญ่ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มาตรวจร่างกายและเจอเชื้อไวรัสตับอักเสบบีซ่อนอยู่

 

          4.มีอาการตับแข็งไปแล้ว ไวรัสตับอักเสบบีอาจจะทำให้ตับเกิดอาการอักเสบได้ และเมื่ออักเสบมากๆ เข้าตับก็จะเกิดพังผืดจนกลายเป็นตับแข็ง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับลดลง นอกจากนั้นไวรัสตับอักเสบบีก็ยังสามารถพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งตับได้ด้วย แต่ก็มีอัตราไม่เยอะมากประมาณ 3-7% เท่านั้น แต่ผู้ที่มีอาการของไวรัสตับอักเสบบีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้มากกว่าคน ปกติถึง 250 เท่าตัวเลยทีเดียว

 

          วิธี การที่ดีที่สุดจะพบโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือการเช็คสุขภาพเป็นประจำ แต่ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีให้ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ป้องกันได้ค่อนข้างเยอะ และทำให้เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มีอัตราลดลงไปมาก

 

          นอก จากนั้น พญ.อารยา ก็แนะนำว่า วิธีการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดของทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรค นี้ก็คือ การพยายามดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าใช้ชีวิตหักโหม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

          "ไวรัส ตับอักเสบบีไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด ไม่อยากให้ซีเรียสมาก ถ้าอยากรู้ว่ามีไวรัสนี้หรือไม่ให้ไปตรวจ แต่ถ้าเป็นแล้วก็ไม่ต้องกลัวเพียงแต่ต้องไปพบแพทย์ เพราะจริงๆ แล้วบางคนไม่จำเป็นต้องรักษา เราก็สามารถอยู่กับไวรัสตับอักเสบบีได้โดยไม่เกิดอาการอะไร และเมื่อเป็นแล้วก็พักผ่อนให้เพียงพอ โอกาสที่โรคนี้จะร้ายแรงและน่ากลัวมีน้อยมากๆ ค่ะ"

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

อัพเดทล่าสุด