อาการเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร อักเสบ เฉียบพลัน (acute gastroenteritis) ที่ต้องรู้


2,993 ผู้ชม


โรคทางเดินอาหารอักเสบ เฉียบพลัน (acute gastroenteritis)
          โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (acute diarrhea) หรือโรคทางเดินอาหารอักเสบเฉียบพลัน (acute gastroenteritis) ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสมีความสำคัญและรุนแรงในประเทศด้อยพัฒนาและกำลัง พัฒนา โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา จากการสำรวจในแต่ละปีพบว่า มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงถึง 3-5 พันล้านคน และเสียชีวิตถึง 5-10 ล้านคน องค์การอนามัยโลกได้ทำการเฝ้าระวังโรคในชุมชนของประเทศกำลังพัฒนา พบอัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เฉลี่ยคนละ 2-3 ครั้งต่อปี และอัตราตายจากโรคนี้พบสูงสุดในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย คือ ไวรัสโรตา (rotavirus)
          พยาธิกำเนิด โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา มีระยะฟักตัวสั้นประมาณ 1-3 วัน การติดต่อผ่านทางอุจจาระโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสโรตา (fecal-oral route) อาจติดต่อได้โดยการสัมผัสกันโดยตรง (direct contact) กับคนหรือสัตว์ที่เป็นโรค ถ้าเด็กติดเชื้อไวรัสโรตาและใกล้ชิดกับผู้ใหญ่เชื้ออาจติดต่อทำให้ผู้ใหญ่มี การติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุให้มีการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัวเดียวกัน
          อาการของโรค ไวรัสโรตาก่อโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็ก ถ้าเด็กโตหรือผู้ใหญ่มีการติดเชื้อชนิดนี้อาจจะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยกว่าที่พบในเด็กเล็ก
          หลังระยะฟักตัว 1-3 วัน จะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ต่ำๆประมาณ 38 องศาเซลเซียส บางครั้งอาจเกิดอาการร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีน้ำมูกไหล ไอ คอแดง ทอลซิลอักเสบ อาการพบนานตั้งแต่ 2-3 วันจนถึง 7-10 วัน บางรายอาจมีอาการรุนแรง มีการขาดน้ำ ช็อก อาจทำให้เสียชีวิตได้ บางรายเกดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ และมีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต ปกติโรคนี้จะหายเองได้ ระยะเวลาของโรคประมาณ 2-14 วัน ระยะเฉลี่ย 4 วัน
          การ ติดเชื้อไวรัสโรตาอาจไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน แต่จะอันตรายรุนแรงในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และรุนแรงในผู้ใหญ่ที่มีภาวะกดภูมิคุ้มกัน
          การรักษา เช่นเดียวกับการรักษาโรคอุจจาระร่วงอื่นๆที่มีการสูญเสียน้ำโดยการให้ของ เหลวจำพวกน้ำตาลเกลือแร่และอิเล็กโตรไลต์ต่างๆ
          การป้องกันและการควบคุม การรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การทำความสะอาดมือ การรักษาความสะอาดในการประกอบอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ การดูแลห้องสุขาให้สะอาดถูกสุขลักษณะ
          การป้องกันที่ได้ผลดีคือการให้ active immunization ซึ่งก็คือการให้วัคซีนนั่นเอง
ที่มา  www.thaipr.net

อัพเดทล่าสุด