เรื่องโรคหัวใจ ต้องทาน อาหารเฉพาะโรคหัวใจ ให้ถูกถึงหาย !!


782 ผู้ชม


อาหารเฉพาะโรคหัวใจ
   
โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจาก พฤติกรรมการบริโภค ของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ ได้ถูกอิทธิพลของสังคมตะวันตกเข้ามาครอบงำ นิยมการบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซา ไก่ทอด เฟรนซ์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีไขมันในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิด trans fat ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อมิให้โรคหัวใจลุกลามเป็นมากขึ้น ดังนี้
     
1.
    จำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันที่เป็นอันตรายและโคเลสเตอรอล
     
2.
    เลือกบริโภคอาหารโปรตีนประเภทที่มีไขมันต่ำ
     
3.
    รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
     
4.
    เลือกรับประทานข้าวหรือผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ไม่ได้ขัดสีเอารำออก(whole grain)
     
5.
    บริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน
จำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันที่เป็นอันตรายและโคเลสเตอรอล
การจำกัดการบริโภคอาหารจำพวกไขมันอิ่มตัวและไขมัน ชนิด trans fat ร่วมกับจำกัดการบริโภคอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ และเนื่องจากโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูง เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิด โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากจะทำให้เกิดการสะสมของ plaque(ส่วนของไขมันที่ไปเกาะตามผนังเส้นเลือด) ทำให้รูของเส้นเลือดแดงเล็กลง ทำให้เกิดโรคหัวใจวายและโรคอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบ
คำแนะนำสำหรับการบริโภคอาหารประเภทไขมัน
     

    ไขมันอิ่มตัวและ trans fat ควรบริโภคไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน
     

    ไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Polyunsaturated ควรบริโภคไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน
     

    ไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Monounsaturated ควรบริโภค 10%-15% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน
     

    โคเลสเตอรอล ควรบริโภคน้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน
ดังนั้น จึงควรงดบริโภคอาหารประเภท เนย, มาการีนชนิดที่เป็น hydrogenated, สารที่ทำให้แป้งกรอบ,หลีกเลี่ยงการรับประทาน ครีม, เกรวี่ รวมทั้งในการประกอบอาหารก็ควรงดการใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว แต่เลือกใช้น้ำมันพืชชนิดที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน เช่น น้ำมันมะกอก, น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
เลือกบริโภคอาหารโปรตีนประเภทที่มีไขมันต่ำ
อาหาร หลายประเภทเช่น เนื้อสัตว์, เป็ดไก่, ปลา, นม, ไข่ เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ให้โปรตีน แต่บางชนิดจะมีปริมาณ ไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง ดังนั้นการเลือกบริโภคอาหารโปรตีน ควรเลือกในกลุ่มที่มีปริมาณไขมันต่ำ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอล
ตัวอย่างเช่น ถ้าจะรับประทานนมก็ควรเลือกนมพร่องมันเนย, นมสูตรไขมันต่ำ (low fat) มากกว่าที่จะทานนมสด, การรับประทานเนื้อสัตว์ก็ควรเลือกรับประทานในส่วนที่ไม่ติดมัน, งดรับประทานในส่วนที่เป็นหนัง,งดการรับประทานเครื่องในสัตว์ เพราะมีปริมาณ โคเลสเตอรอลสูง การรับประทานไข่ก็ควรเลือกเฉพาะไข่ขาว งดรับประทานไข่แดงเนื่องจากมีปริมาณโคเลสเตอรอลสูง
นอกจากนี้อาจเลือกรับประทานแหล่งอาหารที่เป็นโปรตีนที่ได้จากพืช เช่น อาหารประเภทถั่ว, ถั่วเหลือง, การรับประทานปลาโดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญแล้ว ยังมีไขมันชนิดโอเมก้า-3 ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และป้องกันภาวะหัวใจวายได้ด้วย
รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
ผักและผลไม้ เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ แต่เป็นแหล่งของวิตามิน, เกลือแร่ และเส้นใยอาหาร นอกจากนี้ยังมีสารที่เรียกว่า phytochemicals ซึ่งพบในพืช และช่วยป้องกันโรคหัวใจได้
แนะนำบริโภค
     

    ผักผลไม้สดหรือแช่เย็น
     

    ผักกระป๋องชนิดที่มีเกลือโซเดียมต่ำ
     

    ผลไม้กระป๋องชนิดที่อยู่ในน้ำผลไม้
งดบริโภค
     

    มะพร้าว
     

    ผักที่ผ่านกระบวนการทอด
     

    ผลไม้กระป๋องชนิดที่แช่ในน้ำเชื่อมเข้มข้น
เลือกรับประทานข้าวหรือผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ไม่ได้ขัดสีเอารำออก (whole grain)
whole grain จะเป็นแหล่งสำคัญของเส้นใยอาหาร และยังมีวิตามินเกลือแร่หลายชนิด ได้แก่ thiamine, riboflavin, niacin, folate, selenium, zinc, iron
แนะนำบริโภค
     

    แป้งข้าวเจ้าที่ไม่ได้เอารำออก (whole wheat)
     

    ขนมปังชนิดที่ทำจาก whole grain หรือ whole wheat
     

    ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวแดง
     

    พาสต้าชนิด whole grain
     

    ข้าวโอ๊ตบดหยาบ
งดบริโภค
     

    มัฟฟิน
     

    วาฟเฟิล
     

    โดนัท บิสกิต ขนมเค็ก พาย เส้นหมี่ที่ทำจากไข่
     

    ข้าวโพดอบเนย
บริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน
การบริโภคที่ไม่มากเกินไป ให้พอเหมาะและสมดุลกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน จะช่วยป้องกันการเก็บพลังงานที่เกินพอในรูปของไขมัน อันจะทำให้เกิดโรคอ้วน ที่เป็นอันตรายทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้
     
                   
            แหล่งข้อมูล : www.thaiheartclinic.com
 

อัพเดทล่าสุด