เชื้อซิฟิลิส คือ อะไร และ ซิฟิลิสเกิดจากเชื้อบัคเตรีที่มีชื่อว่าอะไร !!


1,038 ผู้ชม


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดย นายแพทย์สุวิทย์ อารีกุล และคนอื่นๆ
          เดิมที่เดียวเรารู้จักโรคกลุ่มนี้ในนามของกามโรคหรือในภาษาอังกฤษว่า  venereal  diseases  หรือ VDแต่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยกันอย่างกว้างขวาง  ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นว่า  ยังมีโรคอื่นที่ติดต่อกันได้โดยการร่วมเพศ และโดยเพศสัมพันธ์ในลักษณะอื่นๆ  ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมโรคต่างๆ ให้กว้างขวางออกไปอีก ชื่อที่ใช้เรียกกามโรคในภาษาอังกฤษจึงได้เปลี่ยนไปจาก "venereal diseases หรือ VD" เป็น "sexually transmitted diseases" หรือเรียกย่อๆ ว่า STD ฉะนั้น จึงขอเรียกชื่อโรคกลุ่มนี้ในภาษาไทยว่า "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์"
          ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สำคัญๆบางโรค ซึ่งได้แก่ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม และกลุ่มอาการภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม (โรคเอดส์)
     
โรคซิฟิลิส
          เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงมากและอันตรายสูงโรคหนึ่ง  โรคซิฟิลิสเป็นได้ทุกแห่งของร่างกาย ไม่เฉพาะแต่ที่อวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แม้แต่ตามลิ้น มือ แขน ขา รวมทั้งระบบประสาท หัวใจ เส้นเลือด ตา กระดูก ฯลฯ ในบางรายอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการอย่างใดตั้งแต่แรก   และกว่าจะรู้ว่ามีอาการ โรคนั้นได้กำเริบมากแล้วก็ได้
          เชื้อต้นเหตุ  โรคซิฟิลิสเกิดจากบัคเตรีที่มีขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายกับเกลียวสว่าน  ชอบเคลื่อนไหวไปมา  สามารถไชเนื้อส่วนที่อ่อนๆได้ โดยเฉพาะจะเข้าสู่ร่างกายตรงที่เป็นแผลถลอก แม้แต่เป็นแผลถลอกเพียงเล็กน้อย เชื้อนี้มีชื่อว่า ทรีโพนีมา พัลลิดุม (treponema pallidum)
          ระยะฟักตัว ประมาณ ๑๐-๒๐ วัน หรืออาจนานถึง ๓ เดือน
          ลักษณะอาการ   ในขั้นแรกตรงบริเวณที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นที่อวัยวะสืบพันธุ์  หรือที่อื่นๆ เช่น ในปาก จะมีตุ่มเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดหรือโตกว่า นั้นเล็กน้อย  ซึ่งต่อไปจะแตกกลายเป็นแผลกว้างออกขอบแผลเรียบและแข็ง  ในระยะนี้เรียกว่า "ซิฟิลิสระยะ   ที่ ๑" แผลจะไม่มีอาการคันหรือเจ็บแต่อย่างใด แม้ปล่อย ทิ้งไว้โดยไม่รักษา แผลก็จะหายเองได้ แต่เชื้อซิฟิลิสนั้นยังคงอยู่ในร่างกาย ตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นแผล เชื้อจะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ แล้วต่อไปจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายในบางรายจะปรากฏอาการผื่นขึ้นตามตัวที่เรียกกันว่า "ออกดอก" ซึ่งเป็น "ระยะที่ ๒ ของซิฟิลิส" ผื่นนี้มีลักษณะต่างกับผื่นลมพิษหรือการแพ้สารต่างๆ  ก็คือ  ไม่มีอาการคัน และผื่นจะปรากฏที่ฝ่ามือด้วย แต่บางครั้งอาจจะไม่มีผื่นเลยก็ได้ แต่จะเกิดอาการอย่างอื่น เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วง ฯลฯ
          เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่   ๒  การตรวจเลือดจะพบการเปลี่ยนแปลงที่แสดงปฏิกิริยาให้ผลบวกของน้ำเหลืองอย่าง สูงมาก ถ้ายังปล่อยปละละเลยทิ้งไว้  ไม่ไปพบแพทย์รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง  โรคจะสงบอยู่ระยะหนึ่ง  ระยะนี้เชื้อโรคจะหลบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอาการ จะทราบผลได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น อาจกินเวลาหลายปีโรคจึงจะเข้า สู่ "ระยะที่ ๓" อันเป็นระยะสุดท้ายของโรค บางครั้งเรียกว่า "ซิฟิลิสระยะหลัง" ในระยะนี้ผู้ป่วยก็อาจจะต้องทุกข์ทรมานด้วยอาการของหลายระบบของร่างกาย เป็นต้นว่าบนผิวหนังจะมีก้อนนูน แตกเป็นแผลเหวอะหวะ ซึ่งจะกลายเป็นแผลเป็นทำให้เสียโฉม จมูกโหว่  กระดูกผุ อาจตาบอด หูหนวก สติปัญญาเสื่อม สมองพิการจนถึงเป็นอัมพาต หรืออาจถึงกับเป็นบ้าก็ได้ยิ่งกว่านั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต  ถ้าเกิดไปเป็นที่หัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว  หัวใจวาย เส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจโป่งพอง และตายในที่สุด นอกจากนี้ในสตรีที่ตั้งครรภ์  ถ้าเป็นซิฟิลิส  เชื้อซิฟิลิสจะถ่ายทอด ผ่านทางรก ทำให้ทารกป่วยด้วยโรคนี้ถึงตายในครรภ์ หรือถ้าคลอดออกมาแล้วอาจจะพิการตลอดชีวิตก็ได้ เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด
          การติดต่อ   โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยทางใดทางหนึ่ง คือ
          ๑. โดยการร่วมประเวณีกับผู้ที่กำลังเป็นซิฟิลิสระยะแพร่เชื้อ คือ ระยะที่ ๑  สำหรับระยะที่ ๒ ถ้าถูกต้องกับน้ำเหลืองที่ผื่นผิวหนัง (ออกดอก) ก็จะติดโรคได้เช่นกัน
          ๒. เป็นมาแต่กำเนิด  นั่นคือ เมื่อหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เป็นซิฟิลิส ก็สามารถแพร่เชื้อมาให้ทารกในครรภ์โดยผ่านทางรก
          ๓. โดยเหตุบังเอิญ เช่น สัมผัสกับแผลซิฟิลิส
          การป้องกันและควบคุมโรค โรคนี้เกิดขึ้นจากการสำส่อนทางเพศ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันโรค  วิธีป้องกันที่ให้ผลก็คือ  ละเว้นพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ   นอกจากนี้จะต้องมีระบบติดตามนำผู้ป่วยทั้งที่เป็นหญิงโสเภณีและหญิงบริการ รูปอื่นๆ หรือแม้แต่สามัญชน ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรคนำมารักษาให้หายขาด
          ในกลุ่มชนที่มีความสำส่อนทางเพศ  ควรจะต้องให้มีการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องป้องกัน
     
โรคหนองใน
          บางที่เรียกกันว่า โกโนร์เรีย หรือโรคหนองใน
          เชื้อต้นเหตุ  เป็นบัคเตรี  มีชื่อว่า  ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoea)
          ระยะฟักตัว  ใช้เวลาประมาณ ๒-๓ วัน หรืออาจยาวนานถึง ๑-๒ สัปดาห์ก็ได้
          ลักษณะอาการ  โรคนี้เป็นกับบุคคลทั้งสองเพศ แต่ลักษณะจะแตกต่างกันดังนี้
          อาการในผู้ชาย จะมีอาการที่รุนแรงคือ เริ่มด้วยอาการขัดเบา เจ็บแสบท่อปัสสาวะทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะ ที่ปลายอวัยวะเพศตรงปากท่อปัสสาวะจะอักเสบแดง และจะมีหนองไหลเยิ้ม บางครั้งจะมีหนองข้นจนคล้ายเส้นขนมจีน รายที่เป็นมากๆ กางเกงในจะเปรอะเปื้อนไปด้วยหนอง หนองจะไหลอยู่ประมาณ ๑-๒  สัปดาห์  ถ้าไม่ได้รับการรักษา หนองก็จะเริ่มลดน้อยลง แต่อาการอักเสบเวลาถ่ายปัสสาวะก็ยังคงอยู่จะมีอาการคันภายในท่อปัสสาวะ  ถ้าปล่อยให้โรคดำเนินอยู่เช่นนี้จะกลายเป็นหนองในเรื้อรัง   ต่อมน้ำเหลืองจะบวมเจ็บ  อาจมีอาการปวดตามข้อ  บางรายจะมีผื่นคันตามตัวด้วย โรคอาจลุกลามต่อไป ทำให้เกิดต่อมลูกหมากอักเสบ ท่ออสุจิตีบตันและทำให้เป็นหมันได้
          อาการในผู้หญิง  อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีแต่เพียงอาการแสบเวลาปัสสาวะ  บางรายอาจจะมีหนองไหล  ซึ่งผู้ป่วยมักจะให้ประวัติว่าตกขาว   บางราย จะไม่มีหนองปรากฏให้เห็นเลย  บางรายอาการตกขาวมีมากจนต้องใช้ผ้าอนามัยก็มี  ส่วนใหญ่อาการในผู้หญิงจะน้อยกว่าในผู้ชายมาก  จนทำให้บางคนสำคัญผิดว่า ไม่ได้เป็นโรค ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายในการแพร่เชื้อต่อไปโดยเฉพาะในหญิงบริการ    เนื่องจากมีอาการน้อยจึงมักไม่ใคร่รักษา  โรคจึงเรื้อรังลุกลามต่อไป  ทำให้เกิดอาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน  ทำให้ปีกมดลูกอักเสบมดลูกอักเสบ ปวดมดลูก ช่องท้องอักเสบ รังไข่อักเสบ ปวดเมื่อยหลัง ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีไข้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปอีก คือ ท่อรังไข่ตีบตันเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือเป็นหมันในที่สุด ถ้าเกิดมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน จะมีการตกขาว ซึ่งมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย มีเลือดปน มีไข้ และมักจะมีอาการใกล้ๆ กับระยะมีประจำเดือน  ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า  ไข้ทับระดู
         โรคหนองในอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ ได้แก่
          ๑. โรคแพร่กระจายโดยตรงจากแหล่งที่เป็นโรคดังได้กล่าวไว้แล้ว คือ  จากอวัยวะเพศไปทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ  ปีกมดลูกอักเสบ ต่อมบาร์โทลินในช่องคลอดอักเสบ  และท่อนำอสุจิอักเสบ
          ๒. โรคแพร่ออกไปโดยทางอ้อม เช่น เอามือเปื้อนหนองไปเช็ดตา หรือใช้ผ้าขาวม้าไปเช็ดตาตนเอง ทำให้ตาอักเสบเป็นหนองได้
          ๓. โรคแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดทำให้เกิดข้ออักเสบ มีผื่นตามผิวหนัง ลิ้นหัวใจอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และตับอักเสบ
          ๔. โรคติดไปยังทารกในครรภ์  ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์  ทำให้คลอดก่อนกำหนด  บางครั้งจะติดโรคขณะคลอดผ่านช่องคลอดที่มีเชื้อโรค ทำให้ตาอักเสบเป็นหนอง
         โรคหนองในในเด็กหญิง มักจะเกิดแก่เด็กหญิงวัยอนุบาล วัยเรียนชั้นประถม  อายุประมาณ ๓-๕ขวบ จะมีอาการหนองไหลออกมาจากช่องคลอด  มีอาการคัน  พ่อแม่จะสังเกตว่าเด็กคันอวัยวะเพศเสมอๆ  ที่กางเกงในจะมีหนองติด เด็กพวกนี้มักติดเชื้อหนองจากผ้าขาวม้า ผ้าปูที่นอน โถส้วม หรือใช้มือที่เปื้อนเชื้อไปเกาอวัยวะเพศ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ  พวกผิวขาว มักจะเกิดจากการร่วมเพศก่อนถึงวัยอันควร  นอกจากโรคจะเกิดแก่อวัยวะเพศแล้ว  ปัจจุบันพบว่ามีอาการคออักเสบอันเกิดจากเชื้อหนองในบ่อยขึ้นเพราะมีเพศ สัมพันธ์แบบใช้ปาก  และบางรายมีอาการอักเสบของทวารหนัก  ซึ่งเป็นผลจากเพศสัมพันธุ์ทางทวารหนัก
          การติดต่อ  ที่สำคัญคือ  การร่วมเพศโดยตรงและการกระทำเพศสัมพันธ์โดยวิธีอื่นๆ  การสัมผัสกับเชื้อโรคโดยทางอ้อม ได้แก่ มือเปื้อนเชื้อ ใช้เสื้อผ้า ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกงใน นั่งโถส้วมตามหลังผู้ที่เป็นโรคเพิ่งใช้ส้วมไปใหม่ๆ  เหล่านี้เป็นต้น
          การป้องกันและควบคุมโรค  รักษาอนามัยส่วนบุคคล  ละเว้นการสำส่อนทางเพศ  ใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศกับหญิงบริการ ไม่กระทำเพศสัมพันธ์ที่ผิดปกติ  หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดที่สงสัย แม้แต่เพียงเล็กน้อย  ให้รีบไปรับการตรวจวินิจฉัยโรคโดยด่วน
   
โรคหนองในเทียม
          เชื้อต้นเหตุ  เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญบ่อยที่สุด คือ คลามีเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) นอกจากนี้  ยังมีเชื้อยูเรียพลาสมายูเรียไลทิคุม  (Ureaplasma urealyticum)
          ระยะฟักตัว นานประมาณ ๗-๑๔ วัน
          ลักษณะอาการ  ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสบหรือรู้สึกขัดเวลาถ่ายปัสสาวะและมีหนองใสๆ  บางรายมีอาการคันในท่อปัสสาวะ  หรือมีรอยแดงๆ บริเวณปากท่อปัสสาวะ  มักมีหนองไหลในตอนเช้าๆ ในบางรายอาจมีเชื้ออยู่โดยไม่มีอาการก็ได้  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อคลามีเดีย บางคนอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น  เกิดการอักเสบลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก ถุงอัณฑะ ทำให้เกิดเป็นหมันตามมา  ในหญิงที่ติดเชื้อนี้มักไม่แสดงอาการชัดเจน บางรายจะมีตกขาวมาก  ตรวจพบปากมดลูกอักเสบ  เชื้ออาจลุกลามเข้าสู่อวัยวะภายใน  เกิดการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ในช่องเชิงกราน  ทำให้เกิดอาการไข้ ปวดท้องน้อย ท่อรังไข่อักเสบตีบตัน เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือเป็นหมัน     นอกจากนี้ถ้ามารดามีเชื้อที่บริเวณปากมดลูก  ทารกที่คลอดผ่านออกมาจะได้รับเชื้อเข้าตา ทำให้เกิดตาอักเสบในระยะแรกคลอด และถ้าทารกที่ตาอักเสบนี้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคกับอวัยวะระบบอื่นได้ ที่สำคัญคือปวดบวม
          การติดต่อ  ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้น ทารกแรกเกิดอาจได้รับการติดเชื้อจากมารดาก็ได้
          การป้องกันและควบคุมโรค   เมื่อพบผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ยารักษาจนครบกำหนด   และแนะนำให้นำคู่สมรสมาตรวจรักษาด้วย  ในระยะที่มีอาการควรงดการร่วมเพศ  ไม่ควรประพฤติสำส่อนทางเพศ  และการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคได้
     
กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือโรคเอดส์
          โรคเอดส์ (AIDS) เป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งย่อมาจาก acquired immunity   deficiency   syndrome หมายถึง  กลุ่มอาการที่มีการเสื่อมลงของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มิได้เป็นโดย กำเนิด    แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง อันเป็นเหตุให้ร่างกายติดเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นเชื้อจำพวกฉวยโอกาสได้ง่าย เป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ ซึ่งเพิ่งมีรายงานเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔
          เชื้อต้นเหตุ  คือ  เชื้อไวรัสที่เดิมเรียกว่า  เอชที-แอลวี ๓ (HTLV III) มีชื่อเต็มว่า  ฮิวแมน  ที ลิมโฟทรอพิก  ไวรัส  ๓  (human T lymphotropic  virus III) เชื้อไวรัสนี้มีชื่อพ้องว่า ลิมฟาดีโนพาที แอสโซซิเอเทด ไวรัส (lymphadenopathy associated virus หรือ LAV) เชื้อนี้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า   ทีลิมโฟไซต์ (T lymphocyte) และผลจากการที่ทีลิมโฟโซต์ของผู้ป่วยถูกทำลาย ทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันโรคชนิดหนึ่งที่อาศัยเซลล์ของร่างกายเสื่อมไป ปัจจุบันนี้  คณะกรรมการระหว่างชาติ  ได้ตกลงเรียกชื่อไวรัสนี้ว่า เอชไอวี ซึ่งมีชื่อเต็มว่า ฮิวแมน อิมมูโนเดฟิเชียนซี ไวรัส (HIV; human immunodeficiency  virus)
          ระยะฟักตัว  ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน แต่อาจนานตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๕ ปีแล้วจึงเกิดอาการขอโรค
          ลักษณะอาการ  เป็นอาการที่เกิดเนื่องจากมีเชื้อโรคอื่นๆ ฉวยโอกาสในเมื่อร่างกายของผู้นั้นมีภาวะภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง   อาการแสดงมีหลายรูปแบบด้วยกันคือ  อาการทางเดินหายใจ  เช่น  ปอดอักเสบ อาการทางระบบทางเดินอาหาร  เช่น  อุจจาระร่วงแบบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกัน  อาการทางระบบ ประสาทส่วนกลาง  มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซูบผอม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต  หรือในบางรายอาจพบว่ามีมะเร็งบางชนิดเกิดขึ้นก็ได้
          ส่วนมากผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักจะตายภายใน ๑-๒  หลังจากเริ่มมีอาการ
         การติดต่อ  ตามปกติเชื้อไวรัสของโรคนี้ จะอาศัยอยู่ในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำลายของผู้ป่วย การติดต่อส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการร่วมเพศกับผู้ป่วย และพบมากในกลุ่มรักร่วมเพศ (homosexual) นอกจากนี้อาจติดโรคได้จากการรับเลือดจากผู้ป่วย การใช้เข็มฉีดยาที่สกปรกร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดที่ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด เชื้ออาจเข้าทางแผลในปาก โดยการจูบกับผู้ป่วย และถ้ามารดาป่วยก็สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ไปสู่ทารกในครรภ์ได้
        การป้องกันและควบคุมโรค สำหรับประชาชนทั่วไป ควรถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
        ๑. หลีกเลี่ยงการร่วมเพศกับผู้ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย  หรือที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
        ๒. หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาเข้าเส้นร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด
        ๓. หลีกเลี่ยงการจูบปากกับผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคเอดส์
        ๔. ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ห้ามบริจาคหรือให้เลือดกับผู้อื่น
ที่มา  gotoknow.org

อัพเดทล่าสุด