ผื่นซิฟิลิส ขึ้น จะ มีการป้องกัน รักษา โรคซิฟิลิส ให้หายขาดได้ไหม


1,553 ผู้ชม


 

โรคซิฟิลิส

ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Treponema Pallidum หรือบางท่านเรียกว่า  The great imitator หรือแปลว่า นักเลียนแบบผู้ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นโรคที่มีอาการและการแสดงออกของโรคในรูปแบบต่างๆ มากมาย จนไม่สามารถแยกออกจากโรคอื่นได้อย่าง่ายดายนัก

โรคซิฟิลิสพบได้บ่อยแค่ไหน

ในประเทศไทยเรานั้นไม่ทราบสถิติที่แน่นอน แต่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี คศ.2006 มีการรายงานผู้ป่วยไว้ที่จำนวน 36,000 คน (รวมผู้ป่วยซิฟิลิสในทุกๆ ระยะของโรค)

เราจะติดเชื้อซิฟิลิสได้อย่างไร?

  • ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับแผลของโรคซิฟิลิส (Syphilis sore, chancre) แผลนี้อาจจะอยู่ที่ ด้านนอกของอวัยวะเพศ, ในช่องคลอด, ที่รูทวาร, ที่ภายในรูทวาร, ที่ริมฝีปาก, ในช่องปาก เมื่อมีการร่วมเพศกันทางการร่วมเพศปกติ หรือทางทวารหนัก หรือทางปาก ก็จะเกิดการติดโรคขึ้น
  • ติดต่อทางมารดาที่ตั้งครรภ์ส่งผ่านเชื้อไปสู่ลูกที่อยู่ในครรภ์

หมายเหตุ: การใช้ห้องน้ำร่วมกัน, การจับลูกบิดประตู, การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน, การใช้อ่างอาบน้ำร่วมกัน, การใช้เสื้อผ้าร่วมกัน, การกินอาหารร่วมกัน ไม่ทำให้ติดโรคนี้

การแสดงออกของโรคนี้ในผู้ใหญ่เป็นอย่างไร

คน จำนวนมากติดเชื้อซิฟิลิส โดยที่ไม่แสดงอาการอยู่เป็นปีๆ (หลายปี) แต่คนเหล่านี้ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของโรคนี้ ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการรักษา, เหตุที่คนที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วสามารถแพร่โรคได้ เพราะบางคนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นว่า ตนเองนั้นมีแผลที่เป็นการแสดงออกของโรค ในระยะที่สามารถแพร่เชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่นได้ จึงไม่ได้ป้องกัน จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่โรคออกไป โดยที่คนที่ให้และรับโรคต่างก็ไม่รู้ตัวกันทั้งคู่

syphilis chancre

ระยะต่างๆ ของโรค

1. ระยะแรก (Primary Stage)

ระยะนี้เริ่มจากเมื่อเชื้อโรคนี้ เข้าสู่ร่างกายของคนไข้ หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการ (ใช้เวลาประมาณ 10-90 วัน หรือเฉลี่ยประมาณ 21 วัน) อาการที่เกิดคือจะเริ่มมีแผล เดี่ยว หรือ หลายแผล เราเรียกว่า แผล  Chancre คือมีลักษณะ แผลขนาดเล็ก สัณฐานกลม นิ่ม และ ไม่เจ็บปวด (แผลนี้บางทีอยู่ในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นได้เราก็จะไม่รู้ว่ามีแผล) แผลนี้จะเกิดที่ที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย, แผลนี้จะหายไปเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาภายใน 3-6 สัปดาห์ และถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคก็จะเริ่มดำเนินไปสู่ระยะที่ 2

2. ระยะที่ 2 (Secondary Stage)

syphilis rash

ระยะนี้มีลักษณะที่สำคัญคือมีผื่นที่ผิวหนังและภายในเยื่อบุ  ผื่นนี้มีลักษณะคือ

  • ผื่นนี้อาจจะเกิดที่ตำแหน่งเดียวหรือหลายๆ ตำแหน่งในร่างกายก็ได้
  • ผื่นนี้มักจะไม่คัน
  • ผื่นนี้อาจจะเกิดหลังจากแผล Chancre หายไปแล้วทันที หรือหลังจากแผลหายแล้วหลายสัปดาห์ก็ได้
  • ผื่นที่จำเพาะกับซิฟิลิสระยะนี้คือ ผื่นแดงหรือแดงน้ำตาล หยาบๆ ปรากฏขึ้นที่ ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่อย่างไรก็ตามเราอาจจะพบผื่นที่ลักษณะต่างไปจากนี้ได้ที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และบางครั้งผื่นที่เกิดขึ้นจางมากจนไม่ทันได้สังเกตเห็นก็ได้
  • อาการอื่นๆ ที่อาจจะพบร่วมกับผื่นได้ เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บคอ ผมร่วงเป็นกระจุกๆ ปวดหัว น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย

อาการและอาการแสดงของโรคระยะนี้จะหายไปได้เอง ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม และถ้าไม่ได้รักษาโรคจะเข้าสู่ระยะ ท้ายและแอบแฝง ของโรค (Late and Latent Stage)

3. ระยะที่ 3 ระยะแอบแฝงและระยะท้ายของโรค (Late and Latent Stage)

syphilis rash

late syphilis

ระยะแอบแฝง (Latent Stage) ระยะนี้เริ่มขึ้นเมื่ออาการของระยะที่  1 และ 2 นั้นหายไปแล้ว ระยะนี้ไม่มีอาการแต่ยังมีเชื้ออยู่ภายในร่างกาย ระยะอาจจะดำรงอยู่ได้หลายๆปี ประมาณ 15% ของคนไข้ระยะนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเข้าสู่ระยะท้ายของโรค คือ  Late stage ซึ่งกว่าจะเข้าสู่ระยะนี้อาจจะกินเวลา 10-20 ปี นับจากการติดเชื้อครั้งแรก ในระยะท้ายนี้ โรคจะทำร้ายอวัยวะภายในของร่างกายคนไข้ เช่น สมอง ตา เส้นประสาท หัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก ข้อต่อ จนเกิดอาการเช่น มีการขยับเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน จนทำให้เดินได้ไม่สะดวก เป็นอัมพาต มีอาการเหน็บชา ตาบอด สมองเสื่อม และอาจจะถึงตายได้

ซิฟิลิสมีผลต่อหญิงมีครรภ์และทารกอย่างไร

ทารกสามารถติดเชื้อนี้จากมารดาได้ตั้งแต่ อยู่ในครรภ์ ขึ้นอยู่กับว่ามารดาติดเชื้อมานานมากเท่าไร เด็กที่ติดเชื้ออาจจะมีภาวะ ตายทันทีเมื่อคลอดออกมา หรือตายหลังคลอดไม่นาน หรือไม่มีอาการใดๆ เลยตอนคลอด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที อาจจะทำให้ทารกมีปัญหาอย่างรุนแรงภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด อาจจะมีการเจริญเติบโตช้า ชัก และเสียชีวิตได้

เราจะวินิจฉัยโรคซิฟิลิสได้อย่างไร

  1. วินิจฉัยโดยการเอาชิ้นส่วนของแผล Chancre มาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พิเศษ ที่เรียกว่า Dark-Field Microscope จะตรวจพบแบคทีเรียที่เป็นเชื้อก่อโรค
  2. การตรวจเลือด เมื่อมีการติดเชื้อซิฟิลิสขึ้นภายในเวลาไม่นานคนไข้จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น มาในร่างกาย เรียกว่า Antibody แต่เป็นภูมิที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ เราสามารถตรวจพบและใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ อย่างแน่นอน และราคาค่าตรวจก็ไม่แพง ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน แต่อย่างไรก็ตามเราจะยังสามารถตรวจพบภูมินี้ได้เป็นปีๆ แม้ว่าเราจะได้รักษากำจัดเชื้อนี้ในร่างกายออกไปหมดแล้ว ในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการกำหนดให้ตรวจเลือดชนิดนี้ทุกครั้งที่ตั้ง ครรภ์

ซิฟิลิส และโรคเอดส์

ในขณะที่คนไข้มีแผล Chancre จากซิฟิลิส นั้นมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปถึง  2-5 เท่า

เราจะรักษาซิฟิลิสได้อย่างไร

ในคนไข้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสมาไม่ถึงปี การรักษาเพียงการฉีด ยาเพนนิซิลิน เพียงเข็มเดียวก็หายขาดได้ แต่ถ้ามีการติดเชื้อมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จำเป็นต้องได้รับยามากกว่านั้น และคนไข้ที่แพ้ยาเพนนิซิลินก็มียากลุ่มอื่นๆ ที่สามารถแทนได้ ในการรักษาโรคซิฟิลิสนั้นควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ไม่ควรซื้อยาทานเอง การรักษาฆ่าเชื้อแบคทีเรียซิฟิลิสให้หมดไปเป็นการป้องกันความเสียหาย ของอวัยวะที่จะถูกทำลายในอนาคต แต่ไม่ช่วยทำให้อวัยวะที่ถูกทำลายแล้วเสียหายแล้วกลับมาเป็นปกติได้

เนื่องจากซิฟิลิสเป็นโรคที่รักษาให้หายขาด ได้ คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ควรได้รับการตรวจหาโรคนี้เป็นระยะๆ เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในคนที่กำลังรักษาโรคนี้ควรงดการมีเพศสัมพันธ์กับใครๆ และควรแจ้งให้คู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันมาเข้ารับการตรวจและรักษาโรคด้วย

โรคซิฟิลิสหายขาดหรือไม่ ?

ในคนที่ติดเชื้อซิฟิลิสและได้รับการรักษาจนหายแล้ว สามารถติดเชื้อได้ใหม่ได้ ถ้าไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อนี้อีก เราจะไม่มีภูมิป้องกันตนเองจากเชื้อนี้ได้ตลอดไปเหมือนโรคบางโรค เราสามารถติดโรคได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคอยู่

เราจะป้องกันโรคซิฟิลิสได้อย่างไร

  1. ไม่สำส่อน มีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือภรรยาคนเดียว ที่ได้ตรวจเช็คแล้วว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดๆ ในร่างกาย
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่พฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  3. การใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส ถ้าเราจำเป็นที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีความเสี่ยง ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  4. การล้างอวัยวะเพศทันที ทั้งภายในและภายนอก ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  5. ถ้าเราพบสิ่งผิดปกติที่บริเวณอวัยวะเพศเช่น ผื่น แผล สารคัดหลั่ง รอยบวม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
 

อัพเดทล่าสุด