ผื่น คัน ลมพิษ โรคลมพิษยักษ์ แตกต่างกันอย่างไร !!


5,268 ผู้ชม


โรคลมพิษยักษ์
   
 นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ลมพิษ
ลมพิษ หมายถึง อาการผิวหนังขึ้นเป็นวงนูนแดง คัน มักเกิดขึ้นฉับพลันเมื่อเกิดอาการแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นหรือขนสัตว์ เป็นต้น
ส่วนใหญ่มักมีอาการอยู่ ไม่นานก็ทุเลาไปได้ หรือหลังกินยาแก้แพ้ก็มักจะหายขาดไปได้ แต่บางคนอาจเป็นลมพิษขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นนานเกิน ๒ เดือน ก็เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและให้ยาบรรเทา
ชื่อภาษาไทย โรคลมพิษยักษ์
ชื่อภาษาอังกฤษ Urticaria, Hives
สาเหตุ
ลม พิษ เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว มีพลาสมา (น้ำเลือด) ซึมออกมาในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดง มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร* (เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว มะเขือเทศ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เป็นต้น สารที่ผสมในอาหาร (เช่น ผงชูรส สารกันบูด   สีผสมอาหาร) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เพนิซิลลิน ซัลฟา เป็นต้น) เซรุ่ม วัคซีน พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย (เช่น ผึ้ง ต่อ มด ยุง เป็นต้น) ฝุ่นละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น (ที่นอน หมอน) ไหม หรือสารเคมี (เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ สารพิษฆ่าแมลง เป็นต้น)
บางรายที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ เป็นต้น ก็อาจมีอาการของลมพิษเกิดขึ้นได้
แต่บางรายก็อาจตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน
ใน รายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง (เป็นติดต่อกันนานเกิน ๒ เดือน) ส่วนมากจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนน้อยที่อาจพบว่ามีสาเหตุ ซึ่งนอกจากจะเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว (โดยเฉพาะแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์) แล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการแพ้ความร้อน ความเย็น (น้ำเย็น น้ำแข็ง อากาศเย็น ห้องปรับอากาศ) แสงแดด เหงื่อ (เช่น หลังจากออกกำลังกาย) น้ำ แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดกับผิวหนัง การยกน้ำหนัก โรคติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ โรคพยาธิลำไส้ ตัวจี๊ด หูน้ำหนวก)
บางรายอาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น เอสแอลอี มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนน้อย นอกจากนี้ ความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ รวมทั้งทำให้อาการลมพิษกำเริบในรายที่เกิดจากสาเหตุ อื่นๆ
     
อาการ
มัก เกิดขึ้นฉับพลัน ด้วยอาการขึ้นเป็นวงนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก เนื้อภายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นขอบแดงๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้ ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหน ก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น บางรายอาจมีไข้ขึ้นเล็กน้อย หรือรู้สึกร้อนผ่าวตามผิวกาย
ลมพิษอาจเกิด ขึ้นที่หน้า แขนขา ลำตัว หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ มักขึ้นกระจายตัวไม่เหมือนกันทั้ง ๒ ข้างของร่างกาย วงนูนแดงจะเป็นอยู่ประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ได้อีกภายในวันเดียวกันหรือวันต่อมา หรือในเดือนต่อๆ มาก็ได้ บางรายอาจขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะยุบหายได้เองภายใน ๑-๗ วัน
ในรายที่เป็นลมพิษชนิด รุนแรง ที่เรียกว่าลมพิษ ยักษ์ หรือแองจิโอเอดิมา (angioedema/angioneurotic edema) จะมีอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๓ นิ้ว หรือมากกว่า กดไม่บุ๋ม มักขึ้นที่ริมฝีปาก หนังตา หู ลิ้น หน้า มือ แขน หรือส่วนอื่นๆ มักเป็นอยู่ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงร่วมด้วย อาจทำให้หายใจลำบาก ตัวเขียว เป็นอันตรายได้ อาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือแพ้ยา ยาที่ทำให้เกิดลมพิษชนิดรุนแรงที่พบบ่อย ได้แก่ แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ใช้แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ) ยาลดความดันกลุ่มต้านเอซ (เช่น อีนาราพริน)
ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักมีลมพิษขึ้นเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันแทบทุกวันเป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน และอาจเป็นอยู่เป็นปีๆ กว่าจะหายขาดไปได้เอง
     
การแยกโรค
อาการผื่นคันตามผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่พบบ่อยได้แก่ ผื่นคันจากการแพ้ กับโรคเชื้อรา (กลาก เกลื้อน)
ผื่น คันจากการแพ้ มีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือตุ่มนูนเล็กๆ คัน อาจขึ้นตรงบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า พร้อมกันทั้ง ๒ ข้าง หรือขึ้นตามบริเวณ ที่แพ้สิ่งสัมผัส เช่น มือ (แพ้ปูน ผงซักฟอก) รอบเอว (แพ้เข็มขัด) ข้อมือ (แพ้สายนาฬิกา) เป็นต้น
กลาก มีลักษณะเป็นวงมีขอบเขตชัดเจน ขอบนูนเล็กน้อยและมีสีแดง มักมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ หรือขุยขาวๆ อยู่รอบๆ วง วงนี้จะค่อยๆ ลุกลามขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ มักขึ้นตามผิวหนังเพียงแห่งเดียว เช่น ที่ใบหน้า แขนขา ขาหนีบ มือ เท้า เป็นต้น
เกลื้อน ลักษณะเป็นดวงกลมเล็กๆ ขนาด ๔-๕ มิลลิเมตร จำนวนหลายดวง กระจายทั่วไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้า ซอกคอ แผ่นหลัง เป็นต้น ผื่นมักแยกกันอยู่เป็นดวงๆ บางครั้งอาจแผ่มาต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ มีสีได้หลายสี เช่น สีขาว น้ำตาลจางๆ จนถึงน้ำตาลแดง
     
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการที่ขึ้นเป็นวงนูนแดง คัน กระจายทั่วทั้ง ๒ ข้างของร่างกาย
ใน รายที่เป็นเรื้อรัง แพทย์อาจทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ เป็นต้น บางครั้งอาจทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) ว่าแพ้สารอะไร
     
การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการเป็นลมพิษเกิดขึ้นฉับพลัน ควรปฏิบัติดังนี้
กินยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน ครึ่ง ถึง ๑ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง
ประคบ ด้วยน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง หรือทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน  (คาลาไมน์โลชั่น) หรือใช้ใบพลูสดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าทาบ่อยๆ (ถ้าแพ้เหล้าควร     หลีกเลี่ยง)
หาสาเหตุที่แพ้ เช่น ยา อาหาร เหล้า เบียร์ แมลง ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ เป็นต้น แล้วหลีกเลี่ยงเสีย
ถ้าไม่ทุเลา มีอาการหายใจลำบาก หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ควรไปพบแพทย์
     
การรักษา
แพทย์ จะให้ยาแก้แพ้ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ถ้าใช้คลอร์เฟนิรามีนไม่ได้ผล ก็จะให้ยาแก้แพ้ที่มีชื่อว่า ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) ๑ เม็ดทุก ๖-๘ ชั่วโมง
ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาแก้แพ้ฉีดเข้ากล้าม
ใน รายที่เป็นเรื้อรัง ถ้าตรวจพบสาเหตุก็จะให้การรักษาตามสาเหตุ (เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก) หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน แพทย์ก็จะให้ยาแก้แพ้บรรเทา ได้แก่ ไฮดรอกไซซีน ซึ่งอาจต้องให้กินทุกวัน หรือวันเว้นวัน     ไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจนานเป็นแรมปี จนกว่าจะหาย    ขาด
ในรายที่ใช้ยาแก้แพ้อย่าง เดียวไม่ได้ผล แพทย์มักจะให้ยาต้านเอช๒ (H2 antagonist) ได้แก่ รานิทิดีน (ranitidine) ร่วมด้วย ปกติยาชนิดนี้ใช้รักษาโรคกระเพาะ แต่ถ้านำมากินร่วมกับยาแก้แพ้ ก็มีฤทธิ์เสริมยาแก้แพ้ ทำให้รักษาโรคลมพิษได้ผลดี
     
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน  นอกจากมีอาการคันมาก อาจเกาจนเป็นรอยข่วน หรือติดเชื้ออักเสบ
ในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ อาจทำให้กล่องเสียงบวม หายใจลำบาก ถ้าแก้ไขไม่ทัน ก็อาจมีอันตรายได้
ผู้ที่เป็นลมพิษ อาจแพ้ยาได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง ในการใช้ยาต่าง
การดำเนินโรค
ส่วน ใหญ่เป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็มักจะหายได้ และมักจะตอบสนองต่อยาแก้แพ้ได้ดี ส่วนน้อยที่อาจเป็นๆ หายๆ บ่อย หรืออาจเป็นเรื้อรัง เป็นแรมปี บางคนอาจนาน ๓-๕ ปีกว่าจะหายขาด
     
การป้องกัน
ถ้าทราบ ว่าแพ้อะไร ก็ควรหลีกเลี่ยง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้ลมพิษกำเริบได้
     
ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบมากในช่วงอายุ ๒๐-๔๐ ปี และในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้
* อาการ แพ้ที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า แพ้อาหาร (food allergy) พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดภูมิแพ้ หืด ลมพิษ ผื่นคัน) หรือมีพ่อแม่เป็นโรคแพ้อาหาร เกิดจากการแพ้สารโปรตีนในอาหาร ส่วนใหญ่ได้แก่ นมวัว ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปู ข้าวสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอลด์
   อาการ แพ้อาหารอาจเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยหลังกินอาหารที่แพ้จะมีอาการลมพิษ ผื่นคัน หรือผิวหนังบวมคัน อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการคัดจมูก หอบหืด เป็นลม ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (anaphylactic shock)
   ทารก ที่เป็นโรคนี้ อาการลมพิษผื่นคันจะลดลงเมื่ออายุประมาณ ๑ ขวบ และมักจะหายดีเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ แต่อาจมีอาการของหวัดภูมิแพ้หรือโรคหืดมากขึ้น
   ในผู้ใหญ่ที่แพ้อาหาร มักมีอาการลมพิษ ผื่นคัน บวมคันตามหนังตา รอบปาก บางรายอาจเป็นหวัดภูมิแพ้หรือโรคหืด ในรายที่เป็นรุนแรง แม้กินอาหารที่แพ้ (เช่น กุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง) แต่เพียงเล็กน้อยหรือเจือปนอยู่ในอาหารอื่นโดยบังเอิญ ก็อาจมีอาการแพ้รุนแรง เช่น ลมพิษยักษ์ (angioedema) ซึ่งอาจมีอาการบวมของกล่องเสียง (เกิดอาการหายใจลำบาก  ตัวเขียว) หรือถึงขั้นช็อกจากการแพ้เป็นอันตรายได้
ที่มา  www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด