นวัตกรรมป้องกัน"เอ๋อ" "ผัก-ไข่ ไอโอดีน"ห่วงโซอาหารในชุมชน นวัตกรรมป้องกัน"เอ๋อ" "ผัก-ไข่ ไอโอดีน"ห่วงโซอาหารในชุมชน "โรค เอ๋อ"และภาวะการขาดสารไอโอดีน (IODINE) ของคนไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขเรื่องนี้มาเป็นเวลานานและต่อเนื่อง แต่กลับมีข้อมูลบ่งชี้ที่สะท้อนออกมาว่า... การแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนยังมีประสิทธิผลไม่เพียงพอ !! ช่วงที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำผลการตรวจคัดกรองระดับ Thyroid Stimulating Hormone หรือ TSH ของทารกแรกเกิดทั่วประเทศ โดยแบ่งตามภาคมาใช้ประเมินระดับความรุนแรงของภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในแต่ละ พื้นที่ ตั้งแต่ปี 2546 - 2552 พบว่า ประเทศไทยทุกจังหวัดมีภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี... จากการสำรวจเชิงรุกในพื้นที่อุดรธานี - หนองคาย ในปี 2549 โดยเจาะไปที่กลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 - 45 ปี จำนวน 904 ราย มีระดับ median urine iodine (จากปัสสาวะ) เฉลี่ยเพียง 5.32 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dl) จากเกณฑ์ปกติ ควรมีอย่างน้อย 10 - 20 ug /dl ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ( World Health Organization : WHO) ส่วน การเก็บตัวอย่างเกลือจากครัวเรือนและร้านค้า พบเกลือได้มาตรฐานหรือมีไอโอดีนมากกว่า 30 ppm (Part Per Million หรือ มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) เพียงร้อยละ 8.9 และตัวอย่างน้ำปลาจากครัวเรือนและร้านค้า 910 ตัวอย่าง/32 ยี่ห้อ ไม่พบปริมาณสารไอโอดีนทุกตัวอย่าง... แล้วผลจากการขาดภาวะไอโอดีน ส่งผลอะไร ? ดร.วิยะดา เจริญศิริวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมและชีวเคมี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข อธิบายว่า "ผลกระทบร้ายแรงจะมีความชัดเจนในทารกตั้งครรภ์ จนถึงอายุ 2-3 ปี ซึ่งไอโอดีน มีผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมอง - ใยสมอง หากขาดไอโอดีนอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในแม่ อาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนเด็กที่คลอดออกมาแล้วจะมีผลทำให้พัฒนาการของทารกไม่เป็นไปตามวัย ลดความเฉลียวฉลาด และลดการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก" หากขาดไอโอดีน อย่างรุนแรง อาจมีภาวะสมองพิการมาแต่กำเนิด เป็นใบ้ ช่วยตนเองไม่ได้ เชื่องช้า เซื่องซึม ร่างกายแคระแกน พุงป่อง สมองทึบ สาเหตุสำคัญของภาวะ "ปัญญาอ่อน" หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "โรคเอ๋อ" ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของ "โครงการนวตกรรมแก้ปัญหาโรคเอ๋อและภาวะขาดสารไอโอดีนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ในเขตพื้นที่อุดรธานี และหนองคาย" ที่เน้นส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ..!! ดร.วิยะดา วิเคราะห์ว่า พฤติกรรมของคนไทยไม่ชอบการบังคับ เช่น จะบอกให้แต่ละวันต้องรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนจำนวนเท่านี้ เท่านั้น มักจะไม่ได้ผล จึงกลับมาคิดว่าหากเอาชุมชนมาเป็นจุดศูนย์กลาง โดยเริ่มจากการบอกให้ประชาชนทราบก่อนว่าสิ่งที่ชุมชนเผชิญอยู่มีความเสี่ยง และมีผลต่อสติปัญญาลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตของเรา "จากนั้นได้ร่วมมือกับ เกษตรอำเภอ สสจ. อบต. นักวิจัย อสม. และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 อุดรธานี ที่มีความรู้ทางวิชาการและเทคนิคในการทำให้พืชผักและไข่ที่ชาวบ้านบริโภคกัน อยู่ทุกวันมีสารไอโอดีน โดยเลือกพื้นที่เสี่ยงทางภาคอีสาน ที่บ้านโพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย จำลองพื้นที่การเกษตรตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีแปลงผัก และการเลี้ยงไก่ไข่ไอโอดีน" ดร.วิยะดา กล่าว จินตนาการและสมมติฐานในการเติมเต็มคุณภาพอาหารไอโอดีนให้กับประชาชนกำลังจะเป็นจริงในพื้นที่แห่งนี้ ทนพญ. จินตนา ว่องวิไลรัตน์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 อุดรธานี บอกว่า การเพิ่มสารไอโอดีนในระบบห่วงโซ่อาหาร และผลผลิตทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน ในพื้นที่บ้านโพธิ์ตาก จะทำกับผักพื้นบ้านและพืชผักที่ท้องถิ่นนิยมบริโภค เช่น ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง ผักกาดหอม คะน้า ต้นหอม กระเพรา สะระแหน่ โหระพา ฯลฯ ด้วยการฉีดพ่นใบพืชด้วยสารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท ในอัตราส่วนที่เหมาะสมก่อนการเก็บเกี่ยวจำนวน 1 - 2 ครั้ง ผักที่ปลูกจะนำธาตุไอโอดีนไปสะสมในส่วนต่างๆ ของพืช และเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของสารประกอบทางอินทรีย์ ซึ่งมีความคงตัวและไม่เสื่อมสลายเมื่อถูกความร้อน แสงแดด หรือปรุงเป็นอาหาร "สารไอโอดีนที่สะสมในพืชผักสดจะมีปริมาณเพียงพอกับร่างกายคนเรา โดยผักปริมาณ 1 - 2 ขีด สามารถให้สารไอโอดีนได้สูงถึง 240 - 250 ไมโครกรัม" ทนพญ.จินตนา กล่าวและบอกถึงความต้องการไอโอดีนของคนเราในแต่ละวัน ว่า เด็กเล็กถึงวัยเรียน ควรได้รับไอโอดีน 90 - 120 ไมโครกรัม (mg) ต่อวัน เยาวชนและคนสูงวัย ควรจะได้รับสัก 150 mg/วัน ขณะที่หญิงมีครรภ์ควรได้รับไอโอดีนถึง 250 mg/วัน แม้ว่าใน 1 วัน คนเราได้ปริมาณในปริมาณที่มาก ก็จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เพราะไอโอดีนจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะอยุ่แล้ว นอกจากนี้ การให้แม่ไก่ไข่กินอาหารที่ผสมสารโปแตสเซียมไอโอไดด์ที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้ไข่ไก่มีไอโอดีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 97.76 ไมโครกรัม/ฟอง โดยจุดเด่นของนวตกรรมนี้ คือ ความคงตัวของธาตุไอโอดีนในเซลล์ของไข่แดง ที่ไม่เสื่อมสลายเมื่อต้องผ่านกระบวนการต้มให้สุข นางมณีวรรณ ทิพย์สมบัติ กรรมการกลุ่มไก่พันธุ์ไข่ บ้านโพธิ์ตาก เล่าว่า ชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ตระหนักถึงปัญหาการขาดสารไอโอดีน จึงได้ร่วมกันตั้งกลุ่มฯ โดยมีพันธุ์ไก่ 393 ตัว จากการระดมหุ้นละ 100 บาท (ไม่เกิน 500 หุ้นต่อครอบครัว) นำร่องเลี้ยงไก่ไข่ ในอัตราส่วนอาหารไก่ 100 กิโลกรัมต่อหัวอาหารไก่ไข่ผสมไอโอดีนเข้มข้นชนิดผง 1 ถุง โดย 5 วันจะผสม 1 ครั้ง ป้องกันไอโอดีนจางหายไม่ได้ผล ซึ่งไก่ 1 ตัวจะให้อาหารประมาณ 110 - 120 กรัมต่อวัน เพราะหากไก่กินมาก จะทำให้อ้วน ซึ่งจะมีผลต่อการไข่ที่ลดลง โดยเฉลี่ยไก่ 10 ตัวจะให้ไข่ไก่ได้ถึง 7 - 12 ฟอง ปัจจุบันนี้ 1 ครัวเรือนก็จะเก็บไว้กิน 3 - 5 ฟอง ส่วนที่เหลือก็นำมาขายที่กลุ่ม ซึ่งไข่ที่นี้จะมีตราประทับ IQ ที่รับรองมาตรฐานไข่ไอโอดีนจากศูนย์วิทย์ฯ อุดรธานี และจะมีการสุ่มตรวจไข่ปีละ 2 - 3 ครั้ง ปิดท้ายที่ นายสามารถ สุทธิดี กำนัน ต.โพธิ์ตาก กล่าวว่า ที่ผ่านมาข่าวสารการประชาสัมพันธ์มาไม่ค่อยถึงพื้นที่มากนัก แต่เมื่อแกนนำและชาวบ้านมีความรู้ถึงปัญหาไอโอดีน ทุกวันนี้เราจึงไม่มองข้ามการบริโภคไอโอดีน ที่ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ โดยอาศัยความเข้มแข็งของชุมชนมาสร้างต้นแบบการปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่ ไอโอดีน และนำมาบริโภค ภาพที่เห็นได้ชัดเจน คือ พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนเปลี่ยนไป และหันมาบริโภคพืชผักที่เราปลูกเอง เลี้ยงเองตามหลักเศรษฐกิจพิเพียง และเชื่อว่าปัญหาหารขาดสารไอโอดีนจะลดลง และหายไปจากพื้นที่ของเรา นับเป็นต้นแบบนวัตกรรมแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในระดับชุมชน... การมีส่วนร่วมของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อการแก้ไขปัญหาโรคเอ๋อและปัญหาการขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่างๆ ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป |
ที่มา www.socialwarning.m-society.go.th |