อาการ โรคไส้เลื่อนในผู้ชาย พร้อม รูปไส้เลื่อน (ตัวอย่าง)


1,639 ผู้ชม


 ไส้เลื่อน (Hernia)  _รูปไส้เลื่อน________________________________________________________

Femoral Hernia   Inguinal hernia

รูปที่ 1 Femoral hernia (2)                                   รูปที่ Inguinal hernia (3)

ไส้เลื่อน เกิด จากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปใจบริเวณนั้น ทำให้เห็นเป็นก้อนตุง มักจะเป็นเฉพาะเวลามีแรงดันในช่องท้องสูง เช่น เวลาไอ จาม ร้องไห้ เบ่งถ่าย ยกของหนัก

            ไส้เลื่อนมีหลายชนิด ซึ่งจะมีอาการ โรคแทรกซ้อนและการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น ที่พบได้บ่อย ได้แก่

            1.  บริเวณสะดือ ทำให้เป็นสะดือจุ่น หรือไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) มัก จะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้ จะเห็นสะดือโป่ง มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และจะหายได้เองก่อนอายุได้ 2 ขวบ ถ้าไม่หาย อาจต้องผ่าตัด เมื่ออายุได้ 3-5 ขวบ

          2.  บริเวณขาหนีบ ทำให้เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia) ซึ่งเป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจพบได้ประมาณ 1-2% และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบ ๆ เท่า

            ถึงแม้ว่าผนังท้องตรงบริเวณขาหนีบจะอ่อนแอมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาการของไส้เลื่อน มักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ (15) ถุงลมพอง (16)

            นอกจากนี้ ยังมีไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia) พบ ในผู้ป่วยบางคนที่ภายหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัดเกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ

            ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสะดือจุ่น และไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ซึ่งพบมากกว่าในไส้เลื่อนชนิดอื่น

อาการ_________________________________________________________________________

            สะดือจุ่น  ทารกมีอาการสะดือจุ่นหรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ

            ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ  มี อาการเป็นก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบ หรือลูกอัณฑะ ซึ่งจะเห็นขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงาย ก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป ก้อนมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร

อาการแทรกซ้อน_______________________________________________________________

            อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ

บางครั้งไส้เลื่อนอาจติดค้างอยู่ที่ขาหนีบหรือลูกอัณฑะ ไม่สามารถไหลกลับเข้าช่องท้องได้ตามปกติ เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดติดค้าง (obstructed hernia) ซึ่งอาจทำให้มีอาการของลำไส้ตีบตัน (54) คือปวดท้อง และอาเจียนรุนแรง

ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้ลำไส้ที่ติดค้างอยู่ถูกบีบรัดจนบวมและขาดเลือดมาเลี้ยง ในที่สุดลำไส้เน่า เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด (strangulated hernia) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง เมื่อลำไส้เกิดการทะลุก็จะกลายเป็น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (47) เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การรักษา______________________________________________________________________

            สะดือจุ่น ไม่ ต้องทำอะไร ยกเว้นในรายที่ก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าพันรอบเอว กดสะดือจุ่นไว้ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา รอจนอายุ 2 ขวบ ถ้ายังไม่หายอาจต้องผ่าตัดแก้ไข

ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ควรแนะนำไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล

ในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือก้อนติดค้าง ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำผ่าตัดอย่างรีบด่วน

ข้อแนะนำ______________________________________________________________________

1.  ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบที่มีก้อนบวมที่ลูกอัณฑะ มักจะมีความละอาย ไม่กล้าหาหมอ ควรอธิบายให้ทราบถึงสาเหตุที่เป็น และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การรักษาให้หายขาด มีอยู่ทางเดียวคือการผ่าตัด ระหว่างที่ยังไม่ได้ผ่าตัด ผู้ป่วยควรสังเกตอาการด้วยตัวเอง ถ้าหากมีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพาะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

2.  ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ แม้ว่าจะพบมากในผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้ ซึ่งจะมีอาการเป็นก้อนตุงที่ขาหนีบ หากสงสัยควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องผ่าตัดเช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง__________________________________________________________________

1. สุรเกียรต์  อาชานานุภาพ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป: หลักการวินิจฉัยและการ

    รักษา/280โรคและการดูแลรักษา.กรุงเทพ: พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2544.

2. www.nlm.nih.gov (picture: “รูปที่ 1 Femoral hernia”)

3. www.nlm.nih.gov (picture: “รูปที่ 2 Inguinal hernia”)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล นางสาววริศรา  ผาสุขมูล ผู้ตรวจสอบ อ.ธีราพร  ชนะกิจ


 

อัพเดทล่าสุด