ไส้เลื่อน.. ปัญหาปวดใจของผู้ชาย แขกรับเชิญพิเศษ - คุณก้าว พึ่งบางกรวย นักแสดง
- นพ.กมล เรืองทอง ศัลยแพทย์
คุณณพสิทธิ์ : วันนี้ถ้าคุณผู้ชายรับชมรายการของเราอยู่อย่าไปไหนครับ เพราะวันนี้โรคเกี่ยวกับผู้ชายโดยเฉพาะ โรคนั้นคือ โรคไส้เลื่อนครับ และคนที่มีประสบการณ์ที่อยู่กับผมวันนี้นะครับ เป็นคนที่มีอารมณ์ขันมากเลย ตอนนี้มาอยู่เบื้องหลังแล้ว เดี๋ยวเรามาพบกันเลยนะครับ พร้อมกับศัลยแพทย์ นพ.กมล เรืองทอง จะมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยครับ และแขกของเราคือ คุณก้าว พึ่งบางกรวยครับ สวัสดีครับ ตอนนี้คุณก้าวทำอะไรอยู่บ้างครับ ตอนนี้ไม่ค่อยเห็นหน้าจอทีวีเลยครับ คุณก้าว : ตอนนี้ทำรายการกอล์ฟกับอ่ำ และมีบริษัทของตัวเอง คุณณพสิทธิ์ : เป็นมายังไงครับ ช่วยเล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อยครับ คุณก้าว : ตอนแรกไม่คิดว่าผมเป็น วันหนึ่งตรงท้องน้อยด้านซ้ายมันนูนๆ มันบวมมาแล้วกดเข้าได้ เรายืดตัวให้กล้ามเนื้อยืดแล้วกดเข้าไป มันเข้าได้ครับ คุณณพสิทธิ์ : มีการออกมา พอกดเข้าก็เข้าไป คุณก้าว : ใช่ครับ ผมนอนหงายแล้วก็กดเข้าไป เออเข้า คุณณพสิทธิ์ : ไม่งงเหรอครับ อยู่ๆ ก้อนอะไรมาตุ่ยออกมา ตอนนั้นคิดหรือยัง คุณก้าว : ไม่ครับ ผมคิดแล้วว่าเป็นอาการเริ่มแรกแล้ว รู้แล้วครับ ว่ากล้ามเนื้อช่องท้องเริ่มรู้สึกอ่อนแอแล้ว เพราะสมัยก่อนผมเล่นฟุตบอลกับพื้นปูนสนามบาส บางครั้งก็เท้าเปล่า บ้าๆ บอๆ สมัยเด็กๆ ครับ บางครั้งถ่ายรายการผมก็กระโดดจากชั้นสองลงชั้นล่าง กระแทกกระทั้นเยอะ กล้ามเนื้อหูรูดมันเลยอ่อนแอ นพ.กมล : ตอนนั้นคุณก้าวไม่ได้ปวดเลยใช่ไหมครับ คุณก้าว : ไม่ได้ปวดเลยครับ มีแต่ก้อนเฉยๆ คุณณพสิทธิ์ : อาการของคนเป็นไส้เลื่อนนอกจากที่คุณก้าวอธิบายแล้ว จะสังเกตยังไงได้บ้างครับ นพ.กมล : อาการอย่างคุณก้าวเป็นอาการที่เจอบ่อยที่สุดเลยครับ คือ มาด้วยเรื่องก้อนบวมตุ่ยๆ โดยมากมักจะไม่มีอาการ จะมีก้อนบวมตุ่ยๆ บริเวณขาหนีบ อาการแรกเริ่มมักจะไม่เจ็บไม่ปวดอะไร ก้อนเนื้อจะสังเกตได้ว่ามันโตได้ยุบได้ ในบางจังหวะถ้าทำงานหนักๆ หรือเบ่งเยอะๆ บางทีมันก็โต ถ้าสบายๆ หรือนอนก้อนมันก็ยุบเข้าไปได้ครับ คุณณพสิทธิ์ : เบ่งเยอะๆ นี่คือออกกำลังกาย นพ.กมล : ยกของหนักหรือว่าเบ่งตอนเข้าห้องน้ำท้องผูกก็จะเจอว่าก้อนมันตุ่ยออกมา พอหยุดเบ่งมันก็หายกลับเข้าไปอะไรอย่างนี้ เป็นอาการที่เราเจออย่างนี้เลยครับ คุณก้าว : สมมุติวันไหนผมทานเยอะๆ ปกติทานเยอะมันจะออกมา ตอนที่ยังไม่ได้ผ่าตัดนะครับ คุณณพสิทธิ์ : กระเพาะมันดันออกมาเหรอครับ นพ.กมล : แรงดันในช่องท้องครับ คุณก้าว : เวลานอนหงายกดเข้ายาก แต่วันไหนที่กินน้อยๆ พอ ประมาณเข้าง่าย อยู่ดีๆ นอนเฉยๆ มันก็หดเข้าไปเอง แต่บางครั้งพยายามกดเท่าไหร่ก็ไม่เข้า แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวรอ ตอนเช้าถ่ายเสร็จก็เข้า คุณณพสิทธิ์ : สังเกตได้ว่าการเป็นไส้เลื่อนจะมีก้อนตุ่ยๆ ตรงขาหนีบ จะมีการเจ็บปวดอะไรด้วยหรือไม่ครับ นพ.กมล : โดยมากไม่มีอาการครับ ยกเว้นว่าถ้าเป็นเยอะ หรือลำไส้เข้ามาติดแล้วมันกลับเข้าไปไม่ได้ อย่างนี้บางทีก็จะปวด ถ้าเกิดยังออกมาได้และดันเข้าไปได้ ก็อาจจะไม่มีอาการอย่างที่คุณก้าวเป็น แต่ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเข้า หรือว่าดันเข้าลำบาก อันนั้นไม่ค่อยดีแล้วครับ คุณณพสิทธิ์ : แสดงว่ามันออกมาเยอะไปแล้ว นพ.กมล : ช่องทางที่มันออกมามันแคบ บางทีมันอาจจะรัด ถ้ามันออกมามากๆ บางทีมันรัด มันไม่เข้านะครับ ถ้าเกิดไส้ออกมาแล้วโดนรัด ไม่เข้า อันนี้เกิดปัญหาแล้วครับ คุณก้าว : ผมเลยตัดสินใจเลย คุณณพสิทธิ์ : ก่อนที่จะตัดสินใจทิ้งไว้นานหรือไม่ครับ คุณก้าว : ทิ้งไว้เกือบปีครับ นพ.กมล : จริงๆ แล้ว ถ้าคิดว่าเป็นไส้เลื่อน ควรจะไปหาหมอตั้งแต่แรก ถ้าหมอตรวจแล้ว ยืนยันว่าเป็นไส้เลื่อนจริง ในทางการแพทย์ เราแนะนำให้ผ่าตัดรักษา อย่าไปรอครับ คุณณพสิทธิ์ : ผมอยากจะทราบว่า ผลข้างเคียงจากการที่ทิ้งนานเกินไป ถ้าไม่ได้ไปหาทันทีทิ้งไว้ 1 ปี มันอาจจะเกิดอะไรที่ร้ายแรงมากกว่านั้น นพ.กมล : คนไข้ที่เป็นไส้เลื่อน ที่เรากลัวที่สุด คือ เรากลัวว่าลำไส้มันจะมาติดคา ถ้ามันเข้าได้ออกได้ไม่มีปัญหา แต่บางทีวันร้ายคืนร้าย ติดคาแล้วไม่เข้า บางทีลำไส้ที่ไปติดคามันจะโดนรัด แล้วอาจจะเน่าตายได้ เพราะ ฉะนั้นถ้ารู้รีบไปหาหมอ หมอจะดูเป็นรายๆ ไป ส่วนมากจะแนะนำให้ผ่าตัดครับ ยกเว้นว่ามีข้อห้าม ผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งก็น้อยที่จะเป็นอย่างนั้น คุณณพสิทธิ์ : ที่ผมได้ยินว่าการที่เป็นไส้เลื่อนคือ 1.ออกกำลังกายกระโดดโลดเต้นมากเกินไป หรือเป็นคนที่ไม่ชอบใส่กางเกงใน นพ.กมล : ไม่ใส่กางเกงในคงไม่มีผลเท่าไหร่ แต่การออกกำลังกายหรือภาวะที่แรงดันช่องท้องสูงนานๆ อย่างเช่น คนไข้ท้องผูกเรื้อรังนานๆ หรือว่าคนไข้ปัสสาวะลำบาก ในที่มีต่อมลูกหมากโต เวลาปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งนานๆ อาจจะเป็นไส้เลื่อนได้ หรือในกรณีที่ไอติดต่อกันนานๆ อย่างเช่น คนไข้สูบบุหรี่จัดๆ ก็เป็นได้เหมือนกัน หรือสุดท้ายในคุณผู้หญิง ซึ่งตั้งครรภ์ก็เป็นภาวะเสริมอันหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ง่ายขึ้น คุณณพสิทธิ์ : ผู้หญิงก็เป็นได้ นี่ผมกำลังจะบอกว่าผู้หญิงโชคดีน่ะ คุณก้าว : ผู้หญิงเฉพาะช่วงตั้งครรภ์หรือเปล่าครับ นพ.กมล : ไม่จำเป็นครับ แต่ว่าตั้งครรภ์ก็ทำให้แรงดันในท้องสูง ก็ทำให้เป็นภาวะเสริมทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ครับ คุณณพสิทธิ์ : อาการของผู้หญิงก็เหมือนกับของผู้ชาย นพ.กมล : มีก้อนตุ่ยๆ ที่ขาหนีบ คล้ายๆ กันเลยครับ คุณก้าว : ก็ต้องผ่าตัดเหมือนกัน นพ.กมล : ต้องผ่าตัดเหมือนกัน คุณณพสิทธิ์ : ใช้เวลาการผ่าตัดกี่ชั่วโมงครับ นพ.กมล : ประมาณ 1 ชั่วโมงครับ คุณณพสิทธิ์ : ถามจริงๆ กลัวมั้ย คุณก้าว : ตอนแรกกลัวครับ กลัวห้องผ่าตัด เห็นแล้วมันเย็นครับ คุณหมอรู้จักผม ถามว่าเป็นยังไงบ้าง อยากหลับหรือยัง หมอดีครับ จิตวิทยาของการผ่าตัดคือ ทำให้คนไข้ไม่เครียด ผมบอกผมไม่อยากหลับครับ ผมดูผ่าตัดก็ได้ เราทำเป็นใจแข็ง ทำเป็นใจดีสู้เสือ สักพักหนึ่งก็หลับ ตื่นมาไม่รู้อะไรเลย ตื่นมาก็เสร็จแล้วครับ ไม่รู้สึกอะไรเลยครับ คุณณพสิทธิ์ : ตอนที่เป็นมีผลกับการทำงานของเราหรือไม่ครับ คุณก้าว : มีผลครับ เวลาเราไปเล่นกีฬาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะรู้สึกว่าหน่วงๆ บางครั้งมันเสียดๆ บางครั้งเสียวๆ เหมือน กันต้องคอยกดคอยระวัง คอยระแวงว่ามันจะมากขนาดไหน มันจะลงไปถึงลูกอัณฑะหรือเปล่า เราระแวง เรากลัว มันก็เลยทำให้เราไม่ค่อยมีสมาธิกับการทำงาน ถามว่าเจ็บหรือไม่ ไม่เจ็บ แต่ผมว่าการที่เราผ่าตัดแล้ว มันรู้สึกคล่องตัวกว่า ทำอะไรก็สบายใจ เราไม่ได้เป็นแล้วน่ะ เราหายแล้วน่ะ คุณณพสิทธิ์ : มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ครับ นพ.กมล : น้อยครับ หลังจากการผ่าตัดดีๆ แล้ว โอกาสกลับมาเป็นน่าจะน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ครับ ตามสถิตินะครับ คุณณพสิทธิ์ : ตอนนั้นคุณหมอแนะนำให้ดูแลตัวเองยังไงบ้างครับ คุณก้าว : คุณหมอบอกว่าอย่าเพิ่งออกกำลังกาย ประมาณ 6 อาทิตย์ ผมก็ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แต่จริงๆ ก็มีบ้าง นพ.กมล : จริงๆ ที่หมอห้ามออกกำลังกายหลังการผ่าตัด เพราะกลัวที่เย็บไว้ข้างในครับ ข้างนอกไม่เท่าไหร่ กลัวข้างในที่เย็บไว้มันจะฉีก เพราะเย็บไว้ 2 ชั้น คุณณพสิทธิ์ : สรุปคุณหมอมีงดอะไรบ้างครับ งดออกกำลังกาย นพ.กมล : อย่าออกกำลังกายหนักครับ ถ้าเบาๆ ได้ครับ เดินเร็วๆ หรือจ๊อกกิ้งเบาๆ ได้ คุณณพสิทธิ์ : อาหารเกี่ยวไหมครับ นพ.กมล : ไม่เกี่ยวครับ แต่ต้องระวังอย่าให้ท้องผูกนะครับ คุณณพสิทธิ์ : แต่หลังจากนั้นแล้วใช้ชีวิตปกติได้ คุณก้าว : ตอนนี้รู้สึกสบาย เพียงแต่ว่ายังมีรอยแผลเป็นอยู่เท่านั้นเอง เพราะว่ายังไม่หาย เพิ่งประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้นเอง ยังเป็นรอยแผลเป็นอยู่นิดหน่อย คุณณพสิทธิ์ : สังเกตจะเป็นตุ่ยๆ ที่ขาหนีบ นพ.กมล : อาการจะมีก้อนตุ่ยๆ โดยเฉพาะถ้าก้อนนั้นโตได้ ยุบได้ ตามจังหวะการเบ่ง การไอ การจามนะครับ แต่ไม่ใช่ที่ขาหนีบที่เดียวนะครับ ไส้เลื่อนยังเป็นที่อื่นได้อีกนะครับ คุณก้าว : ตรงไหนครับ นพ.กมล : ตรงสะดือก็เป็นได้ ตรงขาหนีบหรือตรงแนวกลางลำตัว ที่กล้ามเนื้อด้านซ้ายกับด้านขวามาประสานกัน บางทีมันประสานกันไม่สนิท กลางลำตัวก็ก้อนตุ่ยขึ้นมาได้ หรืออีกที่หนึ่งครับ ตามแผลผ่าตัด เพราะแผลผ่าตัดเป็นจุดอ่อนของช่องท้อง ถ้าแผลผ่าตัดประสานกันไม่ดี ก็เกิดไส้เลื่อนตรงแผลผ่าตัดได้เหมือนกัน คุณณพสิทธิ์ : ส่วนมากนะครับ เป็นกันประมาณอายุเท่าไหร่ครับ นพ.กมล : เป็นได้ทุกอายุครับ ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุมากๆ เป็นได้หมดครับ คุณณพสิทธิ์ : ไม่อยากให้คุณผู้ชมกลัวมากนัก คือ ไม่ต้องกลัวเลยใช่ไหมครับ คุณก้าว : ไม่ต้องกลัวเลยครับ ในตอนแรกผมยอมรับว่าผมกลัวการผ่าตัด ผมก็พยายามโทรหาเพื่อน แต่พอผ่าตัดเข้าจริงๆ เป็นความรู้สึกกันเอง คือ แพทย์สมัยนี้ผมว่าเขาดีครับ คุยแบบเป็นกันเอง คุยเรื่องโน่นเรื่องนี้ ไม่ให้เราเครียด คุณณพสิทธิ์ : ไม่อยากให้เครียดมากเท่านั้นเอง คือ โรคนี้มันรักษาได้ ไม่ได้เจ็บปวดทรมานมากมายขนาดนั้น ถ้ารู้ว่าเป็นก็รีบไปหาหมอ คุณก้าว : ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ใช่ไหมครับ คุณหมอ นพ.กมล : ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ครับ ดีกว่าทิ้งไว้ให้มีปัญหานะครับ ถ้าทิ้งไว้มีปัญหาลำไส้โดนเข้าไปรัดเน่าตาย โอกาสจะเป็นการผ่าตัดใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผมว่าไปหาแพทย์ดีกว่า อย่ากลัวหมอครับ คุณณพสิทธิ์ : วันนี้ต้องขอขอบคุณ คุณก้าวและคุณหมอมากเลยครับ แต่ก็ไม่ให้กลับไปมือเปล่านะครับ วันนี้เรามี captain trade bear จากบางกอกแอร์เวย์ให้เอากลับไปเป็นเพื่อน ขอบคุณครับ คุณผู้ชมครับ เห็นมั้ยครับ อย่างที่คุณก้าวเล่าให้ฟังนะครับ อย่าเป็นอย่างคุณก้าวกลัวหมอปล่อยไปปี บางคนอาจจะไม่โชคดีอย่างคุณก้าวก็ได้นะครับ เพราะฉะนั้นเป็นอะไรนิดหน่อยพบแพทย์เลยดีกว่า อย่าชะล่าใจ หมั่นดูแลรักษาร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงนะครับ การออกกำลังกาย+ไส้เลื่อน |