มะเขือพวงเป็นพืชที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงป่า
น้ำพริกกะปิ หรือผัดเผ็ดบางชนิด ซึ่งตำรับอาหารที่เราได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณกาลนั้น บรรพบุรุษของเรามิได้คำนึงถึงรสชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงทางด้านสรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้ไว้อีกด้วย ทั้งนี้
มะเขือพวงมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยหลายประการ คือ ช่วยเจริญอาหาร และย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้ โลหิตหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ปวดกระเพาะ ฝีบวมหนอง อาการบวมอักเสบ ขับปัสสาวะ ซึ่งสรรพคุณเหล่านี้ จากการที่ได้รับองค์ความรู้ในการใช้มะเขือพวงเพื่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วย ณ ศูนย์ฝึกอบรมสวนบูรณรักษ์ธรรม ทำให้ทราบว่า มะเขือพวงมีสารจำพวกไฟโตนิวเทรียนท์ ที่จะช่วยร่างกายในสภาวะขาดแคลนสารอาหาร ให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ และกลุ่มสารทอร์โวไซด์ ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเทอรอลในกระแสเลือดได้ และกระตุ้นให้ตับนำคอเลสเทอรอลในเลือดไปใช้ได้มากขึ้น รวมทั้งยับยั้งการดูดซึมกลับของคอเลสเทอรอลในลำไส้ด้วย จึงอาจช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกทางหนึ่ง สารอีกตัวหนึ่งที่ค้นพบในมะเขือพวงคือ ซาโปนิน ทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ จากการศึกษาพบว่ามะเขือพวงนั้นเป็นพืชที่มีเส้นใยสูงมาก โดยมีเส้นใยมากกว่ามะเขือยาว 3 เท่า และมากกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า แม้ว่าจะมีผักหลายชนิดที่มีสารเส้นใยสูง แต่มะเขือพวงก็ยังได้รับสมญานามเป็น “ราชาแห่งผักพื้นบ้านในเรื่องของสารเส้นใย” เนื่องจากมะเขือพวงมีสารเส้นใยมากที่สุดเมื่อเทียบกับผักพื้นบ้านของไทยเกือบทั้งหมด เส้นใยในมะเขือพวงมีชื่อเรียกว่า เพกติน เป็นสารที่ละลายน้ำได้ สารนี้จะสามารถ เปลี่ยนเป็นวุ้นไปเคลือบที่ผิวของลำไส้ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง จึงเป็นการช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็วเกินไป ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อีกด้วย
“เพกตินในมะเขือพวงนั้น ยังช่วยในการดูดซับ ไขมันส่วนเกินจากอาหารได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งของบรรพบุรุษของไทย มักจะทำแกงกะทิใส่มะเขือพวง ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และ โรคหลอดเลือดหัวใจได้ ผลวิจัยในหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่ามะเขือพวงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเหล่านั้นค่อยๆลดลง นอกจากนี้ปริมาณอนุมูล อิสระซุปเปอร์ออกไซด์และไนตริกออกไซด์ในเลือดก็ลดลงด้วย อนุมูลอิสระเหล่านี้พบมากในภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นสาเหตุของการเสื่อมของอวัยวะต่างๆในภาวะเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตพิการ จอตาพิการ ประสาทพิการ โรคที่เท้า และการ เกิดผิดปกติที่อวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มะเขือพวงช่วยในการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากเบาหวานได้” ผศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าว ผศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเกิดโรคแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ และโดยมากมักจะเป็นโรคไตร่วมด้วยในภายหลัง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะต้องมีการคุมพฤติกรรมการกินการอยู่อย่างเคร่งครัด เพื่อจะทำให้ ร่างกายของผู้ป่วยเป็นปกติ แต่จากที่พบมานั้นค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยากเพราะผู้ป่วยยังติดนิสัยการกินการอยู่แบบเดิมๆ จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น และในบางราย อาการลุกลามจนถึงต้องตัดอวัยวะต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบต่อทางจิตใจของผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่ง จากผลวิจัยในหนูที่เป็นเบาหวานพบว่า น้ำตาลและอนุมูลอิสระในเลือดของหนูลดลง ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีเพราะอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
ผศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าวเตือนด้วยว่า แม้ว่ามะเขือพวงจะมีฤทธิ์ช่วยลดอนุมูลอิสระได้จริง และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวานได้ แต่จากการวิจัยของเรายังค้นพบสารที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณที่มาก นั่นคือ สารอัลคาลอยด์ในมะเขือพวง เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้บริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ในปัจจุบันมีการศึกษาพัฒนามะเขือพวง โดยนำมาอบแห้งและผ่านกรรมวิธี ลดปริมาณสารอัลคาลอยด์ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ในรูปแบบของชามะเขือพวง จากการทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็นโรคเบาหวาน
โดยให้ดื่มชามะเขือพวงในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันพบว่า ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เมื่อร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะโรคแทรกซ้อนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณของมะเขือพวง ขอรายละเอียดได้ที่สถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า
-------------------------------------- @ ^ - ^ @ -----------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
สถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า
https://www.be-v.net/