วิธีรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในหญิงตั้งครรภ์


1,029 ผู้ชม


หญิงตั้งครรภ์จะป้องกันภาวะเจ็บป่วยได้อย่างไร (ตอนที่ 3)
ผศ.วิไลพรรณ สวัสดิ์พาณิชย์

        วันนี้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ขอนำเสนอเรื่อง “หญิงตั้งครรภ์จะป้องกันภาวะเจ็บป่วยได้อย่างไร ”ตอนที่ 3 ซึ่งในตอนที่ 1 เราได้พูดถึงหวัดหรือไข้หวัด และตอนที่ 2 พูดถึง โรคหัดเยอรมัน โรคหัดและโรคคางทูมกันแล้ว วันนี้จะพูดถึงเรื่องการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคตับอักเสบกันนะคะ
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
        การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาก ร้อยละ 10 ของ หญิงตั้งครรภ์จะมีการติดเชื้อ 1 ครั้ง และผู้ที่มีการติดเชื้ออาจติดเชื้อซ้ำอีก 1 ใน 3 ซึ่งอาการที่พบบ่อย คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ควรไปรับการรักษาให้หายขาดโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำและการลุกลามของโรค และควรรับประทานยาจนครบถ้วน ไม่ควรหยุดรับประทานยาเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วหรือไม่มีอาการ
        จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 20-40 ของการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะที่ไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวะการติดเชื้อของกรวยไต ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบที่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ภาวะกรวยไตอักเสบในไตรมาสที่ 3 จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด อาการของโรคมักจะทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะสีแดงเป็นเลือด ปวดหลังมาก ดังนั้นทันทีที่คุณแม่มีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
        การป้องกันการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นและหากมีอาการเริ่มต้นเล็กน้อย ควรปฏิบัติดังนี้
        1. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ งดการดื่มกาแฟ และน้ำชา
        2. พยายามถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น และการถ่ายปัสสาวะทุกครั้งควรถ่ายให้หมดจนรู้สึกว่ากระเพาะปัสสาวะว่างจริง
        3. สวมใส่กางเกงชั้นในที่เป็นผ้าฝ้าย จะระบายอากาศได้ดี
        4. ทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก โดยชำระด้วยน้ำทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะและเช็ดจากข้างบนลงข้างล่าง
        5. ระหว่างที่ได้รับยาปฏิชีวนะควรกินโยเกิร์ตที่ไม่ได้ใส่น้ำตาลหรือไอศกรีม โยเกิร์ต เพื่อช่วยให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารอยู่ในภาวะสมดุล
        6. กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทาน
        7. มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
โรคตับอักเสบ
        โรคตับอักเสบเอ เป็นโรคที่พบบ่อยมากในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก ไม่ปรากฏว่าโรคตับอักเสบเอสามารถผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ตราบเท่าที่คุณยังไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยตัวของคุณเอง
        เชื้อตับอักเสบเอสามารถติดต่อได้ทางอุจจาระ ดังนั้นการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและทุกครั้งหลังการดูแลการขับ ถ่ายของเด็ก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดี
        ส่วนโรคตับอักเสบบีจะพบได้มากในกลุ่มอายุ 19-39 ปี เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดจากคุณแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ และโรคนี้จะติดต่อกันได้ทางเลือด เช่น ใช้ของมีคมร่วมกันและการมีเพศสัมพันธ์
        โรคตับอักเสบบีนี้สามารถป้องกันได้โดยการให้วัคซีนโดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้ ป่วย สมาชิกทุกคนในบ้านควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการเจาะเลือดตรวจหาการติดเชื้อตับอักเสบบี เพื่อที่จะได้ให้วัคซีนแก่สมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะสามีและเตรียมการให้วัคซีนและแกมมากลอบบูลิน (Gamma globulin) ในทารกแรกเกิดด้วย
        ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ป่วยด้วยโรคตับอักเสบบี การรักษาที่สำคัญคือ การนอนหลับพักผ่อนและการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยทั่วไปผู้ป่วยร้อยละ 96 จะฟื้นคืนสภาพดังเดิม มีเพียงร้อยละ 4 ที่จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น
        ทารกที่คลอดในขณะที่คุณแม่มีอาการของโรค ควรได้รับการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและระวังการปนเปื้อนเลือด ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีและแกมมากลอบบูลินภายใน 12 ชั่วโมงหลังเกิด ให้วัคซีนซ้ำเมื่อทารกอายุได้ 1 เดือน และ 6 เดือน และตรวจสอบการสร้างภูมิต้านทานเมื่อทารกอายุได้ 12 เดือนและ 15 เดือน
        หญิงตั้งครรภ์ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ สังเกตอาการผิดปกติ ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองและทารกใน ครรภ์
        ด้วยความปรารถนาดีจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาค่ะ
ที่มา  www.uniserv.buu.ac.th

อัพเดทล่าสุด