การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบผู้หญิง (บทความโดยแพทย์ด้านโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ)


1,070 ผู้ชม


กลุ่มสตรีที่มีอาการปวดท้องน้อยเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าเป็นแบบปวดถ่วงเหนือหัวหน่าว หรือรุนแรงแบบ 
เสียดแทงจนตัวงอ โดยเฉพาะยามที่รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ และอาการเจ็บปวดบรรเทาลง เมื่อเธอถ่าย
ปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เธอมักมีความรู้สึกอยากไปห้องน้ำอยู่เสมอ พร้อมกับประสบการณ์
ที่น้ำปัสสาวะ ซึ่งขับถ่ายออกมาแต่ละครั้งมีจำนวนน้อย รวมทั้งการที่เธอตื่นขึ้นกลางดึก ไปเข้าห้องน้ำ 
คืนละ 4-6 ครั้ง เป็นอย่างน้อย อันเป็นต้นเหตุของการมีสุขภาพทรุดโทรม, ร่างกายอ่อนเพลีย, 
อารมณ์หงุดหงิด เพราะนอนไม่พอ จำนวนเกินกว่าครึ่ง (60 เปอร์เซ็นต์) ของกลุ่มสตรีนี้ ได้รับ
การวินิจฉัยว่า เธอมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เรียกว่า "Interstitial Cystitis" 
ซึ่งลักษณะกระเพาะปัสสาวะ เปลี่ยนจากปกติในแง่ที่ว่า ผนังของกระเพาะปัสสวะ มีความยืดหยุ่นน้อยลง 
เพราะมีเนื้อเยื่อชนิดพังผืด (fibrotic tissue) แทรกอยู่มากมาย ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีความจุเล็กลง 
(600-800 ลูกบาศก์เซนติเมตร) กว่าปกติ (800-1200 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในภาวะที่คนไข้ถูกดมยาสลบ) 
ตามเยื่อบุผนังซึ่งซีดขาว มักมีจ้ำเลือด ขนาดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป (Petechiae) 
ยามที่กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง นอกจากนี้อาจพบแผลตามผนัง ที่เรียกว่า Hunner's Ulcer 
ได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ของคนไข้ การตรวจน้ำปัสสาวะส่วนมากไม่พบตัวแบคทีเรีย 
หรือเชื้อโรคที่ก่อให้เกิด ความผิดปกติเช่นนี้ ซึ่งต่างจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดเฉียบพลัน 
ตรงที่ผลตรวจปัสสาวะ จะพบเชื้อโรคต้นเหตุ และมีเม็ดเลือดปนอยู่

สาเหตุที่แท้จริงในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของกระเพาะปัสสาวะจนผู้เป็นเจ้าของ มีอาการเดือดร้อน
ดังกล่าว เป็นระยะเวลาอันยาวนานนั้น ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมาก คือ การที่เยื่อบุ
กระเพาะปัสสาวะ ไม่ผลิตมูกเหนียว (mucus defecit) มาเป็นเครื่องกั้นกีดขวาง ไม่ให้น้ำปัสสาวะ 
ได้สัมผัสโดยตรงกับผนังกระเพาะปัสสาวะ (blood-urine barrier) ดังนั้นสารต่างๆ ที่มีอยู่ในปัสสาวะ 
เช่น แคลเซียม, โปตัสเซียม สามารถซึมผ่านเยื่อบุของกระเพาะปัสสาวะ เข้ามากระตุ้นปลายประสาท 
ทำให้เกิดอาการ เจ็บปวด และมีผลต่อกล้ามเนื้อรอบผนังกระเพาะปัสสาวะคือ ทำให้เกิดการหดตัว 
เกร็งแบบสปาสซั่ม หรือหดตัวไม่เป็นระเบียบ แปรปรวนไปหมด 
ผนังเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะของคนไข้กลุ่มนี้ บางกว่าปกติ คือมีเซลล์เรียงหนาตัวเพียงแค่ 2-3 เซลล์ (ปกติ 
6-7 เซลล์ เรียงเป็นชั้นขึ้นไป) และมักจะพบเซลล์ที่คอยต่อสู้ให้ร่างกาย ยามที่มีการอักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะ 
ที่เรียกว่า Mast cell นี่เป็นเหตุหนึ่ง ที่สันนิษฐานว่า โรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับพวกภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ 

สตรีมีโอกาสเกิดโรคแบบนี้มากกว่าบุรุษถึง 9 ต่อ 1 ส่วนมากพบในคนที่อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะ
กลุ่มอายุระหว่าง 40-60 ปี (42-46 ปี) ถึงแม้ว่าโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่เรียกว่า IC แบบย่อ ๆ นี้ 
ได้รับการกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 โดย Nitze แต่เนื่องจากสาเหตุคลุมเครือ รวมทั้งบทบาท
ที่เกี่ยวข้องกับแผลเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่ง Hunner ได้บรรยายไว้เมื่อประมาณ 80 ปี ที่ผ่านมา 
ทำให้สถิติอุบัติการณ์ของโรคนี้ อาจไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ในยุโรป อุบัติการณ์เกิดโรคประมาณ 18 ต่อ 
100,000 คน ประเทศฟินแลนด์มีสถิติแสดงว่าประมาณ 10-11 ต่อประชากร 100,000 คน 
โดยเฉลี่ยการเกิดโรคแต่ละปี ประมาณ 1.2 ราย ต่อ 100,000 คน (Dravisto) ส่วนในสหรัฐอเมริกา 
คาดว่ามีคนราว 40,000 ถึง 60,000 คน ได้รับความทุกข์ทรมาน จากโรคนี้ 
เชื่อว่าโรคนี้มักพบในคนผิวขาว ชาวยิว มากกว่าผิวดำ และพบในคนที่มีฐานะ ค่อนข้างดี รวมทั้งคนที่มี
ความเครียดสูง ไม่ว่าในเรื่องการงาน หรือชีวิตส่วนตัว ส่วนใหญ่มักบอกว่า อาการมีมากขึ้น หลังจากมี
เพศสัมพันธ์ (75% ของคนไข้) โดยเฉพาะภายใน 24 ชั่วโมง และอาการมักมีความรุนแรงในช่วงระยะ
ก่อนมีประจำเดือน ไม่ว่าการออกกำลังกาย, การขับรถนาน ๆ หรือการเดินทางโดยเครื่องบิน และการเป็น
ไข้หวัด, ติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดอาการกำเริบมากขึ้น คนไข้บางคนพบว่า อาหารบางชนิด 
ที่เขารับประทานเข้าไป อาจทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น พวกช็อกโกแลต, กาแฟ (คาเฟอีน), ผัก, ผลไม้ที่มี
ความเป็นกรดสูงเช่น น้ำส้ม, มะเขือเทศ แต่แท้จริงมิใช่ความเป็นกรดแต่ผักผลไม้พวกนี้มีสาร
โปตัสเซียมสูง ซึ่งเมื่อร่างกายขับถ่าย ออกทางปัสสาวะจะไปก่อความระคายเคืองที่ผนัง ของกระเพาะ
ปัสสาวะ แบบเดียวกับอาหารมีเครื่องเทศโดยเฉพาะพวกพริกชนิดต่าง ๆ ดังนั้น คนไข้พวกนี้ ควรรับประทานอาหารที่ลดเกลือแร่ลง ลดพวกซ็อสเทริยากิ (Teriyaki) หรือน้ำซีอิ้ว 
และไม่ใช้สารที่ให้ความเค็มแทนเกลือ (Salt Substitule) เพราะจะมีเกลือพวกโปตัสเซียมสูง

การทดสอบทางห้องปฏิบัติการและการตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การวินิจฉัยได้
อย่างถูกต้องว่าสตรีที่มีอาการดังกล่าวนั้นเกิดจากสาเหตุใดแน่นอน เธออาจอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ICได้หรือไม่ 
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1987 สถาบันสุขภาพ แห่งสหรัฐอเมริกา (National Institule of Health) 
ได้พยายามตั้งหลักการในการแยกคนไข้ เพื่อได้รับการตรวจและรักษาได้ถูกต้องโดยที่ประมาณ 90% 
ของคนไข้ที่ได้รับความทรมาน จาก IC นี้มักตื่นนอนกลางดึกมาปัสสาวะอย่างน้อยคืนละ 1-2 ครั้ง 
(4-7 ครั้ง) ปัสสาวะกลางวันอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน (โดยเฉลี่ย 16 ครั้ง) และมีความรู้สึกอยากไปห้องน้ำ 
อยู่ตลอดเวลา (อย่างมากมีถึง 53%) อาจมีอาการเจ็บปวด เสียดท้องน้อย มีอาการมากขึ้น เมื่อกลั้นปัสสาวะ
นานขึ้น และอาการลดหายไปหลังการขับถ่ายปัสสาวะ กล่าวคืออาการเจ็บปวดอาจมีอยู่หรือไม่เกิดขึ้นก็ไม่ถือ
เป็นหลักสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้ นอกเหนือไปจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์อีกนานาชนิด 
ส่วนการรักษาโรคนี้มีวิธีการมากมายรวมทั้งการใช้ยาแก้ปวดขนานใหม่ ชื่อ "Elmiron" ซึ่งเป็นพวก 
Pentosan polysulfate ราคาเม็ดละ $ 1.60 รับประทานวันละเม็ด (100 mg) สามเวลาต่อวัน
ติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน จนถึงขั้นตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วนออก หรือตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้งไป 
แล้วนำลำไส้ใหญ่มาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ รวมทั้งการรับประทานยากล่อมประสาท และการใช้น้ำ
และสารเข้าไป ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อแก้ไขโรคนี้

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนการรักษาไม่ว่าวิธีใด ดังนักกอล์ฟสตรี
ที่มีชื่อ คือ Tery-Jo Myers เธอเพิ่งชนะเลิศการแข่งขันกอล์ฟสตรี ที่ลอสแองเจลิส (The Los 
Angeles Woman's Champian) หลังจากที่ไม่เคยชนะเลิศ มาเป็นเวลาถึง 9 ปีเต็ม เนื่องจากปัญหา
โรคกระเพาะอักเสบแบบนี้ ขณะนี้เธอสบายดีขึ้น ด้วยยา Elmiron เธอเคยถึงกับจะฆ่าตัวตายเพราะทน
ทรมานจากการปวดเสียดท้องน้อย อยู่ตลอดเวลาไม่ไหว ปัจจุบันเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทน 
(spoke person) ของสมาคมโรคกระเพาะอักเสบแบบนี้ (Interstitial Cystitis Association) 
เพื่อให้รัฐบาล และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจกับความทุกข์ทรมานจากโรคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสตรี 
แบบเดียวกับสมาคมสตรีวัยหมดประจำเดือนและโรคกระดูกเสื่อม ที่ได้รับการรณรงค์ ให้ชาวโลกประจักษ์
ถึงความเป็นไปของโรค หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และวิธีป้องกันตลอดจนดูแลรักษาที่ถูกต้อง 

ที่มา  www.thailabonline.com/

อัพเดทล่าสุด