อาหารอันตรายสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม(สาเหตุโรคไต)


877 ผู้ชม




การเสื่อมของไต อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคประจำตัว อย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน เกาต์  ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในยุคนี้ป่วยเป็นโรคไตกันมากขึ้น เกิดจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อม มีอาหารบางชนิดที่ทำให้การเสื่อมของไตแสดงผลรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เราไปทำความรู้จักอาหารเหล่านั้นกันดีกว่า
 
อาหารกลุ่มไหนอันตรายต่อไต
เนื่องจากไตทำหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกาย เมื่อไตเสื่อม ย่อมส่งผลให้ระบบขับถ่าย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติในการถ่ายปัสสาวะ และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นเหตุที่ผู้ป่วยโรคไต มีอาการแทรกซ้อนของโรคเพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไป จึงส่งผลให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ส่วนอาหารที่ทำให้ไตผิดปกติ นายแพทย์อุปถัมภ์ แจกแจงให้ฟังเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

โพแทสเซียม
เป็นสารอาหารที่ช่วยในการหด และคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ปกติคนเราสามารถรับโพแทสเซียมได้วันละ 18 กรัม โดยไม่มีอันตราย เนื่องจากโพแทสเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางไต ในคนที่มีไตปกติ สามารถปรับการขับโพแทสเซียมได้มากน้อย ตามปริมาณที่ได้รับจากอาหาร แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้อย่างที่ควรจะเป็น

หากไตขับโพแทสเซียมน้อยเกินไป จะทำให้มีโพแทสเซียมคั่งในเลือด ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อล้า หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงจำเป็นต้องควบคุม ระดับโพแทสเซียมในร่างกายให้อยู่ในระดับที่สมดุล เพื่อป้องอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยงดผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น หัวปลี มันเทศ เห็ดฟาง มะเขือพวง ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง หอมแดง ดอกกะหล่ำ ทุเรียน กล้วย มะละกอสุก กระท้อน ผลไม้แห้งเช่น ลูกเกด ลูกพรุน เป็นต้น และรับประทานผักและผลไม้ ที่มีโพแทสเซียมน้อย เช่น เห็ดหูหนู บวบ ถั่วพลู แตงกวา บวบ ฟักเขียว ถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่ แตงโม สับปะรด ชมพู่ เป็นต้น

โซเดียมคลอไรด์
ทำหน้าที่ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย ให้อยู่ในระดับปกติ ป้องกันความดันโลหิตสูง และลดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ในภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ไตจะไม่สามารถขับโซเดียมคลอไรด์ออกจากร่างกายได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวม เนื่องจากเกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย และความดันโลหิตสูง (ทั้งนี้ ปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่ควรบริโภคใน 1 วัน ประมาณ 2,000 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา)
คนที่เป็นโรคไต การกินอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป จะยิ่งทำให้ไตทำงานหนัก จนเกิดอาการบวมน้ำ ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายต้องขับโซเดียมคลอไรด์อยู่ตลอด อีกทั้งยังมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้มากกว่าคนปกติ อาหารที่มีโซเดียมคลอไรด์สูงที่ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานให้น้อยลงคือ เกลือ น้ำปลา น้ำบูดู ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ซุปก้อน ผงฟู กะปิ อาหารตากแห้ง ผักและผลไม้ดองเค็ม ไข่เค็ม กุ้งแห้ง เนยแข็ง เป็นต้น ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเติมผงชูรสในอาหารด้วย

ฟอสฟอรัส

เป็นแร่ธาตุที่มักจะทำงานร่วมกับแคลเชียม ในการสร้างและเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก โดยปกติแล้วฟอสฟอรัสจะถูกขับออกทางไต แต่เมื่อไตเสื่อม ไม่สามารถขับฟอสฟอรัสส่วนเกินออกจากร่างกายได้เหมือนเดิม จะทำให้เกิดการคั่งของฟอสฟอรัสในร่างกาย เมื่อระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ร่างกายจะดึงเอาแคลเซียมในกระดูกมาจับฟอสฟอรัส ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย หากแคลเซียมกับฟอสฟอรัสจับตัวกันเป็นก้อนมากขึ้น อาจไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดการอุดตันได้ นอกจากนั้นยังพบอีกว่า การกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะยิ่งเร่งการเสื่อมของไตให้รุนแรงมากขึ้น

แหล่งอาหารที่ให้ฟอสฟอรัสสูง และผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต ไอศกรีม เนื้อสัตว์ติดกระดูก ไข่แดง ช็อคโกแลต กาแฟ เบียร์ น้ำอัดลม เป็นต้น

โปรตีน
คือส่วนประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในร่างกาย แม้ร่างกายจะนำเอาโปรตีนไปใช้ได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อเกิดภาวะไตเสื่อม ไม่สามารถขับของเสียได้ตามปกติ ก็จะทำให้เกิดของเสียที่เกิดจากโปรตีน ไปสะสมและคั่งตามอวัยวะต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งนี้แพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไต งดอาหารที่ให้โปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ไข่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้  นม เป็นต้น
นอกจากต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการเลือกกินอาหารต้องห้ามในข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยโรคไตโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ควรมีการควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวัน โดยควรดื่มน้ำให้เหลือวันละประมาณ 3-4 แก้วต่อวัน (ประมาณ 750 -1,000 ซีซี) เพื่อช่วยให้ไตซึ่งทำหน้าที่ในการขับปัสสาวะทำงานน้อยลง ส่วนผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการบวมน้ำ สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 224

 
แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com

อัพเดทล่าสุด