โรคหัวใจรูมาติกคือโรคหัวใจในเด็กป้องกันได้ไหมมีคำตอบ!!


1,271 ผู้ชม


โรคหัวใจรูมาติก

          ชื่อโรคฟังดูแปลกๆ นะครับ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยเลย ความเป็นจริงแล้วโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข ของบ้านเราอยู่ เนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับร่างกายหลายระบบ เช่น ผิวหนัง กระดูก-ข้อ ประสาท และ หัวใจ ทำให้ยัง ไม่มีชื่อโรคเป็นภาษาไทยเพราะๆที่เหมาะสม เลยยังคงเรียกทับศัพท์กันไปก่อน

โรคหัวใจรูมาติก คือ อะไร
          โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบในชุมชนแออัด ยากจน ในประเทศกำลังพัฒนา

สาเหตุจากอะไร
          โรคนี้เริ่มต้นจากการติดเชื้อคออักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ จากเชื้อโรคที่ชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A)   ซึ่งติดต่อกันง่ายมากในชุมชนแออัด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือที่ๆมีผู้คนอยู่ หนาแน่น ไม่ถูกสุขลักษณะ บางคนได้รับเชื้อนี้แล้ว เกิดคออักเสบขึ้น รักษาแล้วอาการหายไป แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น ร่างกายมี การตอบสนองต่อการติดเชื้อนี้ผิดปกติ โดยร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อ แต่ภูมิต้านทานเหล่านี้กลับมาทำลายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เช่น ผิวหนังอักเสบ (Erythema marginatum, Subcutaneous nodule) ระบบประสาทผิดปกติเกิดชัก หรือ เคลื่อนไหวผิดปกติ (Chorea) ปวดตามข้อหลายๆข้อ (Polyarthritis) หัวใจอักเสบ (Carditis) ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 
          ผลที่ตามมาจากการเกิดลิ้นหัวใจอักเสบคือเกิดผังผืดเกาะยึดบริเวณลิ้นหัวใจ (fibrosis) ทำให้ลิ้นหัวใจแข็งไม่โปกสะบัดเหมือนเคย เปิดได้ไม่เต็มที่ (ลิ้นหัวใจตีบ) หรือปิดไม่สนิท (ลิ้นหัวใจรั่ว) หรือ ทั้งตีบและรั่วในขณะเดียวกัน โดยอาจจะเป็นลิ้นเดียว หรือ หลายลิ้น ก็ได้

การรักษา
          เราอาจแบ่งหลักการรักษาออกได้เป็น
          1. รักษาการติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ โดยใช้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ)
          2. ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อทุกระบบ ยาที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ แอสไพริน (aspirin) ในขนาดสูง
          3. หากเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะตีบหรือรั่ว ก็ไม่หายขาด คงเหลือความ”พิการ”นั้นไว้ การรักษาตรงนี้ขึ้นกับตำแหน่งลิ้นหัวใจ ที่พิการ และความรุนแรงที่เป็น การรักษาอาจเพียงขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ ผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือแม้กระทั่งผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำวิธีใดก็ไม่หายขาดทั้งสิ้น ยังคงมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่หรือต้องระวังไปตลอดชีวิต

ป้องกันอย่างไร
          อย่างที่กล่าวแล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะเกิดโรคหัวใจรูมาติก เราไม่ทราบว่าผู้ใดจะเกิดบ้าง หลักการป้องกันที่สำคัญคือ
          1. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ นั่นคือไม่เข้าใกล้ชิดผู้ป่วยคออักเสบ ไข้หวัด
          2. หากติดเชื้อเกิดคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบจาก เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะต้องรักษาให้ครบ รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบ 7-10 วัน
          3. หากเกิดการอักเสบที่หัวใจขึ้นแล้ว หรือ เคยเป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจรูมาติกแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำ และทุกครั้งที่เป็นซ้ำ ความ ”พิการ”ของลิ้นหัวใจจะมากขึ้น ดังนั้นจึงต้อง”ป้องกัน”ไม่ให้ติดเชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ซ้ำอีกโดยการฉีดยาเพนนิซิลิน ทุก 3-4 สัปดาห์หรือรับประทานยาทุกวันต่อเนื่องไปจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ (โดยมากพบในเด็ก) แล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะหยุด ป้องกันได้หรือยัง
          4. การป้องกันโรคนี้ให้ได้ผลดีต้องอาศัยการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปด้วย ประชาชนต้องมีเศรษฐานะดีขึ้น ความรู้ของประชาชนดีขึ้น ติดเชื้อยากขึ้น ได้รับการรักษาทันท่วงที ไม่ซื้อยารับประทานเอง เป็นต้น ปัจจุบันโรคหัวใจรูมาติดเป็นโรคหัวใจที ่”หายาก” พบได้น้อย มากในประเทศพัฒนาแล้ว จนกุมารแพทย์ต่างชาติหลายแห่งเดินทางมาดูงาน ดูผู้ป่วยในบ้านเรา ไม่รู้ว่าน่ายินดี หรือ น่าอายกันแน่

          สรุป โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจของประเทศกำลังพัฒนา และ เป็นตัวบ่งชี้ (Index) ประการหนึ่งที่แสดงความเป็นประเทศพัฒนา ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงได้ประโยชน์บ้างที่ให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักโรคนี้ ช่วยกันระวังโรคหัวใจรูมาติก ไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกหลาน เรา ในอนาคตเราอาจจะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากโรคนี้ลดลง เรื่อยๆ

ที่มา  https://internationalschool.eduzones.com

อัพเดทล่าสุด