อ่านบทความชีวจิตจากนิตยสาร ชีวจิตออนไลน์เรื่องล่าสุด


2,289 ผู้ชม


ทุกมื้อด้วยชีวจิต ภารกิจพิชิตมะเร็ง

   เพราะมั่นใจในศักยภาพของตนเองและรู้สึกสนุกกับการทำงานดิฉัน– ทัศนีย์ สกลนุรักษ์ จึงกระโดดเข้าสู่ความเป็นworking woman ตั้งแต่อายุ 24 ปี และทำงานอย่างหนักตลอดมา นอกจากนี้ยังรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา บ่อยครั้งอาหารที่รับประทานจึงเป็นพวกอาหารกล่องแช่แข็ง และขนมอบกรอบ ขาดการออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ

จุดเปลี่ยนของชีวิต

   ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อนหน้านี้ (อายุ 40 ปี) ดิฉันไปตรวจสุขภาพประจำปี และพบว่ามีเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก จึงต้องผ่าตัดรังไข่และมดลูกออก และรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบเม็ดทุกวัน จนกระทั่งอายุ 50 ปี ใน

   ตอนนั้นคิดเอาเองว่า เพราะชอบรับประทานเนื้อวัวเป็นชีวิตจิตใจ จึงอาจเป็นสาเหตุของการป่วยครั้งนี้ ดิฉันจึงเลิกรับประทานเนื้อวัวไป แต่ก็ยังคงขาดการออกกำลังกายและพักผ่อนไม่เพียงพออยู่เหมือนเดิม

   จนเมื่อประมาณ 3-4 ปีให้หลัง ดิฉันไปตรวจสุขภาพประจำปีอีกครั้ง และพบว่าเป็นมะเร็งที่เต้านมในระยะที่ 2 ต้องเข้ารับการรักษาโดยการตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่เต้านมออกไป อีกทั้งคุณหมอยังบอกว่าถึงแม้จะตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าดิฉันจะไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งได้อีก

   หลังจากวันนั้นดิฉันก็รู้สึกกลัวโรคมะเร็งมากและเริ่มศึกษาถึงวิธีการ ป้องกันโรคมะเร็งอย่างจริงจัง จนกระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนร่วมงาน นำหนังสืองานศพของคุณแม่เพื่อนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมาให้อ่าน ซึ่งเป็นบทความของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เกี่ยวกับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ดิฉันรู้สึกสนใจมาก โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “you are what you eat” และเมื่อได้อ่านแล้วก็ทำให้วิถีการกินของดิฉันเปลี่ยนไป

ก้าวสู่ชีวิตแบบชีวจิต

   มาดูเมนูอาหารชีวจิตแต่ละมื้อใน 1 วันของดิฉันกันไหมคะว่ามีอะไรบ้าง

   มื้อเช้า – ดิฉันจะดื่มน้ำอาร์ซีเป็นอย่างแรกในทุก ๆ เช้า ตามด้วยน้ำผลไม้คั้นที่คั้นเองสด ๆ จากเครื่องคั้นน้ำผลไม้แยกกาก ข้าวเช้าของดิฉัน จะเป็นข้าว(กล้อง)ต้ม รับประทานกับผัดผักสัก 1 อย่างที่สับเปลี่ยนกันเพื่อไม่ให้จำเจ เช่น ผัดผักตำลึง ผัดผักบุ้ง ผัดผักแม้ว ผัดผักหวาน หรือผัดผักกาดขาว เป็นต้นบวกกับปลาทอดอีก 1 ตัว เช่นปลาสำลีหรือปลาแซลมอน

   ตบท้ายมื้อเช้าด้วยผลไม้สดตามฤดูกาลที่จะต้องมีติดตู้เย็นไว้ประจำ โดยผลไม้ที่รับประทานนั้นจะต้องเลือกที่มีน้ำตาลน้อย เช่น องุ่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่งและแอ๊ปเปิ้ล เป็นต้น แม้ว่าจะต้องเร่งรีบไปทำงานแค่ไหน ดิฉันก็ไม่ละเลยที่จะรับประทานอาหารมื้อเช้าค่ะ

   มื้อกลางวัน – มื้อกลางวันเป็นมื้อที่ดิฉันจะต้องไปรับประทานที่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่สามารถหารับประทานอาหารชีวจิตได้ง่ายนัก ดิฉันจึงต้องเตรียมอาหารกลางวันไว้ตั้งแต่ตอนเช้าและใส่ปิ่นโตไปรับประทาน ที่ทำงาน โดยอาหารที่รับประทานก็จะเป็นข้าวกล้องสวยกับปลาทอด หรือปลาราดซอส ในบางครั้งก็จะเปลี่ยนเป็นก๋วยเตี๋ยวหรือผัดหมี่แบบชีวจิตบ้าง แต่ก็ไม่ลืมที่จะต้องมีน้ำผลไม้คั้นกับผลไม้สดไปรับประทานด้วยเสมอ

   แน่นอนว่าเวลาไปรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนร่วมงานนั้น ย่อมมีความรู้สึกว่าอาหารที่เพื่อนๆ รับประทานนั้นช่างน่ารับประทานเสียเหลือเกิน อาจจะมีบ้างที่ทำให้รู้สึกอึดอัดกับการจำกัดการรับประทานอาหารของตัวเอง แต่เมื่อคิดถึงความสุขที่จะได้รับเมื่อมีสุขภาพร่างกายที่ดีแล้วนั้น ดิฉันกลับรู้สึกว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้ดูสุขภาพของตัวเอง

   มื้อเย็น – จากที่ปกติมักนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ที่ทำงาน และรับประทานอาหารเย็นในช่วง 4 -5 ทุ่มเสมอ ดิฉันได้เปลี่ยนมารับประทานอาหารเย็นก่อนเวลา 6 โมงเย็นพร้อมๆ กับครอบครัว โดยในมื้อเย็นนี้ดิฉันจะรับประทานให้น้อยกว่ามื้ออื่นๆ ครึ่งหนึ่ง เพราะหลังจากอาหารมื้อเย็นก็จะเป็นช่วงเวลาพักผ่อนที่ไม่จำเป็นต้องได้รับ พลังงานที่มากเกินไป

   สำหรับอาหารที่รับประทานในมื้อเย็นนั้นจะเป็น ข้าว(กล้อง)สวย กับปลานึ่ง แกงส้มผักรวม หรือบางครั้งก็จะเป็นผักต้มกับน้ำพริก บ้างก็เป็นซุปเต้าหู้ (ซุปมิโซะ) กับสลัดผัก และไม่ลืมที่จะต้องมีน้ำผลไม้คั้นกับผลไม้สดปิดท้ายมื้ออาหารด้วย

สุขภาพดีที่เลือกเอง

   หลังจากหันกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังทั้งจากโดยการรับประทานอาหาร ชีวจิต ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันและพักผ่อนอย่างเพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ดิฉันก็ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์ทั้งสุขภาพกายใจ

   ตั้งแต่เดือนแรกดิฉันก็พบว่า ระบบขับถ่ายดีขึ้นมาก ผิวพรรณสดใสขึ้น เปล่งปลั่งยิ่งกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน จนเพื่อนๆ อดที่จะทักไม่ได้ เข้าสู่เดือนที่ 3 ดิฉันก็รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่เหนื่อยง่ายหรือรู้สึกอ่อนล้าเหมือนเมื่อก่อนทั้งๆ ที่อายุมากขึ้น

   จนเมื่อดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังมาเป็นเวลา 1 ปี ดิฉันจึงไปตรวจสุขภาพประจำปี และพบว่าไม่มีการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาย่ำกรายอีกเลย

   ดิฉันคิดว่าการป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้น ไม่ได้ถือเป็นความโชคร้ายแต่เพียงด้านเดียว แต่ยังถือเป็นความโชคดีเพราะทำให้ดิฉันได้หันกลับมาดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย

ที่มา

อัพเดทล่าสุด