โรคหนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis) | | | หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยรองจากหนองใน (ประมาณ 30-40%ของโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด) โดยจะมีอาการคล้ายหนองใน แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองใน (โกโนเรีย) สาเหตุ เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียม มีได้หลายชนิด อาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือเชื้อราก็ได้ ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้ยังไม่ทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุแน่ชัด ประมาณ 40% เกิดจากคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นเชื้อกึ่งไวรัสกึ่งแบคทีเรีย (เชื้อนี้มีพันธุ์ย่อยอีกหลายชนิด ซึ่งบางชนิดทำให้ เป็นฝีมะม่วง) อีก 10 % อาจเกิดจากเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อโปรโตซัว ที่มีชื่อว่า ทริโคโมแนสวาจินาลิส (Trichomanas vaginalis) เชื้อไวรัสเริม เป็นต้น อาการ ในผู้ชาย อาการมักเกิดหลังติดเชื้อประมาณ 1-4 สัปดาห์ (ระยะฟักตัว) โดยมีอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัดและมีหนองไหล ซึ่งลักษณะเป็นมูกใสหรือมูกขุ่น ๆ ไม่เป็นหนองข้นแบบหนองใน และออกซึมเพียงเล็กน้อย ไม่ออกมากแบบหนองใน บางคนในระยะแรกอาจสังเกตมีอาการแสบที่ท่อปัสสาวะ และมีมูกออกเล็กน้อยเฉพาะในช่วง เช้าเท่านั้น ถ้าให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงในแก้วใส แล้วใช้ไฟฉายส่องดู จะเห็นเส้นขาว ๆ คล้ายเส้นด้ายลอยอยู่ถ้าไม่ได้รับ การรักษา อาการอาจเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ในผู้หญิง ส่วนมากมักไม่มีอาการแสดง ส่วนน้อยอาจมีอาการตกขาว การรักษา หากสงสัย ควรตรวจยืนยันด้วยการนำหนองไปย้อมสี และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าเป็น จริง ควรให้ยาขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้ - ดอกซีไซคลีน กินครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน - เตตราไซคลีน กินครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน - อีริโทรไมซิน กินครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้งนาน 14 วัน - ไมโนไมซิน (Minomycin ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเตตราไซคลีน) กินครั้งละ 100 มก. วันละครั้ง นาน 14 วัน - ร็อกซิโทรไมซิน(Roxithromycin ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเดียวกับอีริโทรไมซิน) กินครั้งละ 150 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน
|