ไข้ไทฟอยด์ โรคไข้ไทฟอยด์ โรคพาราไทฟอยด์ - การรักษาไข้ไทฟอยด์


1,367 ผู้ชม


ไข้ไทฟอยด์และพาราไทฟอยด์ โดย นายแพทย์สุวิทย์ อารีกุล และคนอื่นๆ
          บางทีเรียกกันว่า  ไข้รากสาดน้อยและไข้รากสาดเทียม ไข้รากสาดน้อยและไข้รากสาดเทียมเป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน  มีความแตกต่างกันตรงที่ไข้รากสาดน้อยจะมีอาการรุนแรงกว่า
          เชื้อต้นเหตุ เชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อบัคเตรี ไข้ไทฟอยด์เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella typhi) 
         
ไข้พาราไทฟอยด์เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า  ซัลโมเนลลา พาราไทฟี เอ หรือ บี หรือ ซี (Salmonella paratyphi A, B, C)

          ระยะฟักตัว ตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าไป ประมาณโดยเฉลี่ย ๑-๒ สัปดาห์ ก็จะเกิดอาการของโรค ระยะฟักตัวนี้อาจเร็วได้ถึง ๓ วัน และนานถึง ๓๘ วัน
          ลักษณะอาการ เป็นโรคติดเชื้อที่มีลักษณะอาการที่ผู้รับเชื้อจะมีไข้ ซึ่งมักจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นวันละเล็กวันละน้อย จนถึง ๔๐°ซ. ภายใน ๑ สัปดาห์ มีความรู้สึกคล้ายกับจะหนาวสั่น ไม่สบาย เมื่อยตามเนื้อตามตัว ปวดศีรษะ  เบื่ออาหาร ลิ้นเป็นฝ้าสกปรกท้องอืด อาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระเหลวจนถึงอุจจาระร่วงก็ได้  อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอาการที่พบได้เสมอคือ  อาการปวดหลัง ต่อมาไข้มักจะสูงลอย อาจมีอาการไอ และมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย   ชีพจรเต้นช้า  ในผู้ป่วยผิวขาวจะพบว่ามีจุดแดงๆ เกิดขึ้นบริเวณอกและท้อง แต่ไม่ค่อยได้พบในคนไทย ผู้ป่วยมักมีอาการซึม แต่บางรายอาจมีอาการเอะอะเพ้อคลั่งได้  บางรายอาจมีอาการหมดสติ ผมร่วงทั้งศีรษะ
          ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา  ไข้จะสูงลอยต่อไปอีก ๑-๒ สัปดาห์ ถ้าหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนไข้จะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติในปลายสัปดาห์ที่ ๔  ของโรค 
          ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจถึงแก่กรรมได้ โรคนี้จะก่อให้เกิดเป็นแผลในลำไส้   ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง   ได้แก่  ลำไส้ทะลุ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบและเป็นฝีในสมอง เป็นต้น
          การติดต่อ  ในขณะที่ผู้ป่วยเป็นโรค จะตรวจพบเชื้อโรคได้ในกระแสเลือด ไขกระดูก ปัสสาวะน้ำดี และอุจจาระ ซึ่งออกมาจากแผลที่มีอยู่ในลำไส้ในระยะที่เริ่มทุเลาและฟื้นไข้  จะตรวจพบเชื้อได้มากในอุจจาระ ซึ่งจะเป็นแหล่งสำคัญในการแพร่โรคต่อไปเมื่อหายจากโรค  เชื้อโรคจะค่อยๆหายไปจากอุจจาระส่วนมากภายใน  ๒  สัปดาห์หลังจากที่หายจากโรค บางรายอาจจะมีเชื้อในอุจจาระต่อไปได้อีก จึงทำให้มีโอกาสแพร่โรคต่อไป โดยที่ผู้นั้นจะไม่สำแดงอาการของโรคเลย  รายเช่นนี้เรียกว่า  พาหะอมโรค บางคนอาจจะแพร่เชื้อต่อไปได้เป็นเวลาหลายเดือนแล้วก็หายไป  หรือเป็นพาหะอมโรคอยู่ได้ชั่วคราว มีบางรายเป็นพาหะอมโรคได้ตลอดชีวิตก็มี
          โรคไข้รากสาดน้อยมักจะมีอาการแรงกว่าไข้รากสาดเทียม ทั้งสองโรคนี้ติดต่อโดยการรับเชื้อโรคเข้าไปทางปาก ซึ่งอาจเกิดโดยตรงจากการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือพาหะอมโรค หรืออาจได้รับเชื้อที่ติดอยู่กับอาหารได้แก่ น้ำ นม ผัก หอย กุ้ง ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังพบว่าแมลงวันและแมลงสาบก็อาจเป็นสื่อนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ มูลจิ้งจกที่เปียกก็มีผู้พบว่ามีเชื้อไข้ไทฟอยด์อยู่ได้ ดังนั้น  ถ้าหากได้รับเชื้อโดยการกินเข้าไปก็จะทำให้เป็นโรคได้
          การป้องกันและควบคุมโรค
          ก. การป้องกันล่วงหน้า
              ๑. จะต้องจัดเรื่องสุขาภิบาลเกี่ยวกับน้ำบริโภคและอาหาร ให้เก็บอาหารในที่มิดชิด  อย่าให้แมลงวัน แมลงสาบ หรือจิ้งจกไต่ตอม ควรบริโภคอาหารที่สะอาดและต้มสุก
              ๒. ตรวจควบคุมร้านอาหาร   ผู้ปรุง  ผู้จำหน่าย  และผู้บริการ  หากพบว่าผู้ใดเป็นพาหะของโรค ควรหาทางแก้ไข
              ๓. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันทำลายแมลงวัน และแมลงสาบ
              ๔. ทำการฉีดหรือให้วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง  วัคซีนที่ใช้อาจจะเป็นชนิดฉีดหรือชนิดกิน
          ข. การป้องกันเมื่อเกิดการระบาด หรือ เมื่อมีผู้ป่วย อาจจะต้องแยกผู้ป่วยไว้ระยะหนึ่ง  จัดการทำลายเชื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ ที่ผู้ป่วยอาศัย โดยเฉพาะเชื้อในอุจจาระและปัสสาวะ และรักษาผู้ป่วยจนกระทั่งไม่สามารถแพร่เชื้อทางอุจจาระได้อีกต่อไป

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]

บรรณานุกรม
นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ
นายแพทย์สุวิทย์ อารีกุล
แพทย์หญิงจันทพงษ์ วะสี
แพทย์หญิงพรรณกร อิ่มวิทยา
ที่มา www.sanook.com

อัพเดทล่าสุด