หูดหงอนไก่ในปาก รักษา หูดหงอนไก่ แบบชาวบ้านจาก ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


3,725 ผู้ชม


โรคหูดหงอนไก่ (condyloma acuminata)

( 142 Votes )

โรคหูดหงอนไก่ (genital wart, condyloma acuminata) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ลักษณะเป็นหูดที่เกิดที่อวัยวะเพศ รวมทั้งที่ทวารหนัก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า human papilloma virus โดยทั่วไปมักพบเป็นติ่งเนื้อสีชมพูรวมกันเป็นก้อนคล้ายหงอนไก่ พบได้หลายรูปแบบ อาจมีจำนวนและขนาดที่แตกต่างกันได้มาก และอาจพบได้มากกว่าหนึ่งแห่ง มักพบเป็นก้อนเนื้อผิวขรุขระ ก้อนเนื้ออาจรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือเป็นก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อเล็กๆหลายก้อน ตำแหน่งที่พบบ่อยเป็นที่บริเวณคอคอดของอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้ยังพบได้มากที่บริเวณแคมช่องคลอดและปากมดลูกของเพศหญิง หูดหงอนไก่ชนิดแบนมักพบที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน เช่น ในท่อปัสสาวะชาย หรือช่องคลอดและปากมดลูก ปกติโรคหูดหงอนไก่จะไม่มีอาการอะไร เว้นเสียแต่อาจมีการฉีกขาดเลือดออก หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม จึงทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองได้ จำนวนและขนาดของหูดจะใหญ่ขึ้นในขณะตั้งครรภ์

สาเหตุ

  1. โรคหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี human papilloma virus (HPV) โดยเป็นการติดเชื้อที่ชั้นหนังกำพร้า
  2. ไวรัส papilloma เป็น DNA virus จัดอยู่ใน Family Papovaviridae ชื่อของแฟมิลีได้มาจากอักษรสองตัวแรกของเชื้อ 3 ชนิดคือ papilloma, polyoma และ vacuolating agent โดยเชื้อไวรัสในแฟมิลีนี้มีจีโนมเป็น DNA สายคู่ แคปซิดมี icosahedral symmetry รูปร่างกลม ไม่มีเปลือกหุ้ม มีขนาดประมาณ 55 นาโนเมตร และเพิ่มจำนวนในนิวเคลียส
  3. ไวรัส papilloma มีการติดเชื้อในคนและสัตว์หลายชนิด แต่มีความจำเพาะต่อสปีชีส์ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคน เรียกว่า human papilloma virus (HPV) ในปัจจุบันพบเชื้อไวรัสเอชพีวีมากกว่า 100 ชนิดที่สามารถแยกเชื้อได้ในปัจจุบัน หลายชนิดพบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดเป็นมะเร็งทั้งในเพศชายและเพศหญิง
  4. เชื้อไวรัสเอชพีวี types ต่างๆทำให้เกิดหูดหรือติ่งเนื้องอกต่างชนิดกัน เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางรอยถลอกของผิวหนังและเยื่อเมือก ทางเพศสัมพันธ์ หรือทารกติดจากทางคลอดของมารดา เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุผิวหนังและเยื่อเมือกเท่านั้น ในภาวะปกติไวรัสไม่มีการแพร่กระจาย หูดเกิดจากเซลล์ติดเชื้อเพิ่มจำนวนจนเป็นก้อนทูม หูดที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีมีความแตกต่างกันได้มากทั้งรูปร่าง ลักษณะ และตำแหน่งรอยโรค พบได้ทั้งหูดที่ไม่เป็นอันตรายรุนแรงและหายไปได้เอง และหูดที่เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง
  5. ร้อยละ 90 ของโรคหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี types 6 และ 11 ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเกิดเป็นมะเร็ง
  6. ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี types 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58 ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปานกลาง และถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี types 16, 18 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยทั้งหมด พบว่าเกิดจากการติดเชื้อมากกว่าหนึ่งชนิด ความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของเชื้อไวรัสกับการเกิดโรคมะเร็งกำลังได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
  7. ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเอชพีวีนาน 1–6 เดือน

อาการ

ลักษณะของโรคหูดหงอนไก่ ปกติจะมีตุ่มหงอนไก่ คล้ายตุ่มหูด หรือหงอนของไก่ สีแดงสด บริเวณอวัยวะเพศ หรือข้างเคียง ถ้ากระทบแรงๆ อาจจะมีเลือดออกได้ บางครั้งถ้าอยู่ในช่องคลอดลึกอาจจะมองไม่เห็นแต่ มีอาจมีอาการตกขาวได้ ถ้าอยู่แถวปากช่องคลอด ก็จะเห็นได้ง่าย ในผู้ชายอาจเป็นที่ทวารหนัก หรือปลายอวัยวะเพศได้

การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่บริเวณอวัยวะเพศ สามารถทำให้เกิดรอยโรคได้หลายแบบ

  1. หูดหงอนไก่ ลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีชมพูงอกบานออกทางด้านนอก ดูคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ ในผู้ชายมักเป็นที่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาติ บางครั้งอาจเกิดที่ปากท่อปัสสาวะ และอาจงอกลามลึกเข้าไปภายในได้ ผู้ชายรักร่วมเพศ มักพบหูดที่รอบทวารหนักซึ่งอาจลุกลามเข้าไปภายในได้ ผู้หญิงพบบ่อยที่ปากช่องคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี types 6,11
  2. หูดชนิดแบนราบ มักพบบริเวณปากมดลูก ลักษณะแบนราบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี type 16 ปัจจุบันพบว่าหูดชนิดนี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
  3. หูดชนิดกลุ่ม ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3 – 4 มม. สีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบ หรือขรุขระเล็กน้อย มักเกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกันหลายตุ่ม และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี types 16,18
  4. หูดก้อนใหญ่ ลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศไว้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี type 6 บางคนอาจเรียกว่าเป็นหูดยักษ์ สาเหตุที่ทำให้หูดโตเร็ว ได้แก่ การตั้งครรภ์ ตกขาว ความสกปรก และการติดเชื้อ

การวินิจฉัย

โรคหูดหงอนไก่สามารถให้การวินิจฉัยได้จากลักษณะประวัติอาการ และการตรวจพบหูดที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ในรายที่อาการไม่ชัดเจน อาจใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย เนื่องจากเชื้อไวรัสยังเพาะเลี้ยงไม่ได้ วิธีทางห้องปฏิบัติการที่นิยมใช้เป็นวิธีการตรวจจากตัวอย่างตรวจโดยตรง เป็นการตรวจหาเซลล์ติดเชื้อ อนุภาคไวรัส หรือจีโนมของไวรัสจากชิ้นเนื้อหูด

การตรวจหาจีโนมของไวรัสเอชพีวีเป็นวิธีที่มีความไวมาก เพราะในเซลล์ที่ติดเชื้ออาจมีจีโนมของไวรัสอยู่ แต่ยังไม่มีการแสดงออก เซลล์ติดเชื้อจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง สร้างแอนติเจน หรืออนุภาคไวรัส ออกมาให้ตรวจพบ

การรักษา

  1. แม้ว่าหูดจะค่อยๆยุบหายไปเองได้ แต่กินเวลานาน และถ้าเป็นติ่งเนื้องอกใหญ่ๆตามบริเวณที่ชื้นแฉะ จะมีโอกาสหายเองได้น้อย ถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยมีหูดที่อวัยวะสืบพันธุ์นานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
  2. วิธีการรักษาโดยทาด้วยสารที่สกัดมาจากยางไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า podophylline พบว่าได้ผลดี แต่อาจมีอันตรายข้างเคียงของยา และไม่ควรใช้ยานี้นานเกินกว่าหนึ่งเดือน
  3. จี้ด้วยไฟฟ้า หรือจี้โดยใช้ความเย็น เช่น ก๊าซไนโตรเจนเหลว
  4. ทำการผ่าตัดออก อาจมีปัญหาเรื่องเลือดออกมาก
  5. จี้ด้วยเลเซอร์ สามารถใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ยากต่อการรักษา
  6. ในกรณีที่เป็นตอนตั้งครรภ์ อาจทำให้ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ต้องใช้การคลอดด้วยการผ่าตัดแทน
  7. สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมเชื้อไวรัสรวมสี่ชนิด ได้แก่ HPV types 6, 11, 16, 18 ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก พบว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคหูดหงอนไก่ได้เช่นกัน
  8. ป้องกันการติดโรคใหม่โดยตรวจคู่เพศสัมพันธ์ หรือหลีกเลี่ยงแหล่งที่อาจมีเชื้อไวรัส

imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

แหล่งข้อมูล: https://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-19-57/1193--condyloma-acuminata-

อัพเดทล่าสุด