40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (8)


1,773 ผู้ชม

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้ ...


40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (8)

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษบทที่ 36

วันอีดในอิสลาม

عَنْ أَنَسٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَدِمَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ المَدِينَةَ وَلَهُم يَوْمَانِ يَلْعَبُوْنَ فِيْهِمَا فَقَالَ : مَا هَذَانِ اليَومَانِ ؟ قَالوُا : يَا رَسُولَ اللهِ كُنَّا نَلْعَبُ فِيْهِمَا بِالجَاهِلِيَّةِ فَقَالَ : قَدْ أَبْدَلَكُمُ اللهُ خَيْرًا مِنْهُمَا: يَومُ الأَضْحَى وََيَوْمُ الفِطْرِ"
ความว่า จากอนัส เราฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ขณะที่ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) อพยพจากนครมักกะฮฺมาถึงนครมะดีนะห์ ชาวนครมะดีนะห์ขณะนั้นมีวันสำคัญอยู่สองวัน ซึ่งพวกเขามีการละเล่นอย่างสนุกสนานในวันดังกล่าว ท่านรอซูลถามว่า สองวันนี้คือวันอะไร? พวกเขาจึงตอบว่า เป็นวันที่พวกเรามีความสนุกสนานในทั้งสองวันในสมัยญะฮีลียะห์ จากนั้นท่านรอซูลกล่าวว่า แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงทดแทนแก่พวกท่าน สองวันอื่นที่ดีกว่าสองวัน สำคัญของพวกท่านนั้นคือวันอิดิลอัฎฮาและอิดิลฟิตรี"
(รายงานโดยอบู ดาวูด 1/295 อิสนาดเศาะเหี๊ยะ นะซาอีย์ 3/179-180)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ท่านรอซูลเคยอพยพจากมักกะฮฺไปยังมะดีนะห์เพื่อเผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮ

2. คนในสมัยญะฮีลียะห์ก็มีวันสำคัญสำหรับพวกเขา

3. ทุกชาติและทุกศาสนาในโลกนี้ต่างก็มีวันสำคัญของพวกเขา

4. วันอีดในอิสลามมีเพียง 2 วัน คือ วันอิดิลฟิตรี และวันอิดิลอัฎหา

5. วันอิดิลฟิตรีและวันอิดิลอัฎฮามีเกียรติยิ่งกว่าวันอีดใดๆ ของมวลมนุษยชาติในโลกนี้

6. อัลลอฮฺประสงค์ดีต่อประชาชาติมุสลิมเสมอ

7. การส่งเสริมวันอีดอันนอกเหนือจากวันอิดิลฟิตรีและ อิดิลอัฏฮาถือว่าเป็นการผิดต่อซุนนะห์และหลักคำสอนของอัลลอฮฺและรอซูล

หะดีษบทที่ 37

การแต่งกายในวันอีด

عَنْ عَبْدِاللهِ ابْنِ عُمَر قَالَ : " أَخَذَ عُمَرُ جُبَّةً مِنْ استَبْرَقٍ تُبَاعُ فِي السُّوقِ فَأَخَذَهَا ، فَأَتَى رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم فَقَالَ : إِبتَعْ هَذِهِ ، تَجْمَلُ بِهَا لِلْعِيْدِ وَالوُفُوْدِ فَقَالَ لَهُ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم : إِنَّمَا هَذِهِ لِبَاسُ مَن لاَ خَلاَقَ لَهُ . فَلَبِثَ عُمَرُ مَا شَاءَ أَنْ يَلبِثَ ، ثُمَّ أَرْسَلَ إِلَيْهِ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عِلَيهِ وَسَلَّم بِجُبَّةٍ دِيْبَاجٍ ، فَأَقْبَلَ بِهَا عُمَرُ فَأَتَى بِهَا رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم فَقَالَ : يَا رَسُولُ الله ، إِنَّكَ قُلتَ إِنَّمَا هَذِهِ لِبَاسٌ مَنْ لاَ خَلاَقَ لَهُ وَأَرْسَلْتَ إِلَى بِهَذِهَ الجُبَّةٍ . فَقَالَ لَهُ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم : تَبِيْعُهَا أَو تَصِيْبُ بِهَا حَاجَتَكَ.

ความว่า จากอับดุลลอฮ อิบนุ อุมัร เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านอุมัร (บินอัลค็อฏฏอบ) ได้หยิบเสื้อคลุมตัวหนึ่ง (ที่ทำมาจาก) เส้นไหมหยาบ และได้ (ซื้อ) เสื้อตัวนั้น หลังจากนั้นท่านเข้าพบท่านรอซูล (ศ็อลฯ) พร้อมกล่าวว่า โอ้ท่านรอสูล (ศ็อลฯ) ท่านจงซื้อเสื้อชุดนี้เพื่อสวมใส่ในวันอีดและเพื่อสวมใส่ในการต้อนรับคณะ (แขก) ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) จึงได้กล่าวแก่อุมัรว่า แท้จริงเสื้อดังกล่าว จะไม่มีผลบุญ (ในวันอะคิเราะห์) ท่าน อุมัรจึงนั่งลง หลังจากนั้นท่านรอสูล (ศ็อลฯ) ฝากเสื้อที่ทำมาจาก ดิบาจญ์ (เส้นไหมละเอียด) ท่านอุมัรจึงรับเสื้อดังกล่าว พร้อมทั้งนำเสื้อดังกล่าวไปยังรอซูล (ศ็อลฯ) ท่าน อุมัร กล่าวว่า โอ้ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) แท้จริงท่านได้กล่าวว่า เสื้อดังกล่าวเป็นเครื่องประดับของคนที่ไม่มีผลบุญ และ (ทำไม) ท่านจึงฝากเสื้อดังกล่าวให้แก่ฉัน ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) ตอบว่า ท่านขายเสื้อดังกล่าวหรือท่านได้มา (ราคา) เพื่อ (สนอง) ความจำเป็นของท่าน"
(รายงานโดย บุคอรีย์ มะอา อัลฟัตฮี 2/439)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ส่งเสริมให้ใส่เสื้อที่สวยงามในวันอีด

2. เครื่องแต่งตัวในวันอีดนั้นจะต้องไม่ขัดกับหลักการอิสลาม

3. ห้ามผู้ชายสวมใส่เสื้อที่ทำจากเส้นไหม

4. ผู้ที่ใส่เสื้อที่ทำจากเส้นไหมถูกตราว่าเป็นผู้ที่โชคร้ายในวันอะคีเราะห์

5. ส่งเสริมให้มีการพบปะกับคนที่มีเกียรติและเป็นที่นับถือ

หะดีษบทที่ 38

รับประทานเล็กน้อยก่อนออกไปละหมาดวันอีด

عَنْ أَنَسٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم لاَ يَغْدُوْ يَومَ الفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلُ التَّمَرَاتِ وَيَأْكُلُهُنَّ وِتْرًا

ความว่า จากอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า: ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) จะไม่ออกจากบ้านในวันอีด(ฟิตรีย์) เว้นแต่ท่านได้รับประทานลูกอินทผลัมเล็กน้อยและรับประทานจำนวนที่เป็นเลขคี่" (เศาะเหี๊ยะห์บุคอรี มะอัล ฟัตฮุ 2/1446)

คำอธิบายหะดีษ

อัล-มัะฮ์ลับกล่าวว่า วิทยปัญญาของการส่งเสริมให้รับประทานก่อนละหมาดอีด (ฟิตรีย์) ก็เพื่อมิให้คนอื่นเข้าใจว่าวันดังกล่าวเป็นวันถือศีลอด บางท่านกล่าวว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่ต้องละศีลอดหลังจากวาญิบให้ถือศีลอด ดังนั้น จึงสุนัตให้รับประทานอาหารเล็กน้อย หากมิใช่เป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารก็ได้

อุละมาอ์บางท่านจากพวกเขากล่าวว่า เนื่องจากซัยฏอนถูก ล่ามโซ่ในเดือนรอมฏอนและชัยฏอนจะไม่ถูกปลดปล่อยเว้นแต่หลังจากละหมาดอีด (ฟิตรีย์) ด้วยเหตุนี้ จึงสุนัตให้ละศีลอดทันที (รับประทาน) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการถูกหลอกลวงของชัยฏอนมารร้าย

บทเรียนจากหะดีษ

1. หะดีษกล่าวถึงเรื่องของ "การกระทำที่สุนัต" หรือการกระทำของท่านรอซูลก่อนออกจากบ้านไปสู่ยังสถานที่ละหมาดอีด
2. ท่านรอซูลจะรับประทานลูกอินทผลัมสักเล็กน้อยก่อน ไปละหมาดอีด
3. ข้อดีและประโยชน์ของลูกอินทผลัม ซึ่งท่านรอซูลจะรับประทานอยู่เสมอ
4. วิธีรับประทานอินทผลัม คือ รับประทานเป็นจำนวนเลขคี่
5. ความประเสริฐของจำนวนเลขคี่ในอิสลาม อิบาดะห์หลายอย่างปฏิบัติเป็นจำนวนเลขคี่

หะดีษบทที่ 39

ให้พาครอบครัว สตรี ในเช้าวันอีด

عَنْ أُمِّ عَطِيَّةَ قَالَتْ : أَمَرَنَا رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم أَنْ نُخْرِجَهُنَّ فيِ الفِطْرِ وَالأَضْحَى العَوَائِقَ وَالْحُيَْْضَ وَذَوَاتِ الخُدُوْرِ . فَأَمَّا الحُيَّضُ فَيَعْتَزِلْنَ الصَّلاَةَ وَيَشْهَدْنَ الخَيْرَ وَدَعْوَةَ المُسْلِمِيْنَ. قُلْتُ : يَا رَسُولُ اللهِ إِحْدَانَا لاَ تَكوُنُ لَهَا جِلْبَابٌ. قَالَ لِتُلْبِسَهَا أُخْتُهَا مِنْ جِلْبَابِهَا

ความว่า จากอุมมุ อะตียะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า : ท่านรอซูลได้สั่งให้เราพาบรรดาหญิงสาว สตรีที่กำลังมีประจำเดือนไปยังมุศ็อลฯลาในวันตรุษอีดิลฟิตรีและวันตรุษอิดิลอัฎฮา โดยจะแยกสตรีที่มีประจำเดือนจากสถานที่ละหมาดในขณะเดียวกันจะให้พวกเธอได้รับฟังความดีงามและร่วมในการขอดุอาอฺของมุสลิม อุมมุอะตียะห์กล่าวว่า: โอ้ท่านรอซูล ! ในบรรดาพวกเรามีสตรีที่ไม่มียิลบาบ (เครื่องแต่งกายที่ใช้ปกปิดเอาเราะห์) ท่านรอซูลตอบว่า : ญาติพี่น้องควรให้เขายืมญิลบาบ" (รายงานโดยมุสลิม 883)

บทเรียนจากหะดีษ

1. กล่าวถึงเกียรติและความยิ่งใหญ่ของวันอีดในอิสลาม
2. ท่านรอซูลได้ส่งเสริมให้สตรีทุกคนออกมาเพื่อร่วมในวันอีดิลฟิตรีและอิดิลอัฎฮา ซึ่งจะรวมถึงบรรดาหญิงสาวที่มีประจำเดือน
3. วัตถุประสงค์ที่ให้บรรดาหญิงสาวออกมาก็เพื่อให้เขาสามารถร่วมในกิจกรรมการทำความดีและร่วมในการขอดุอาอฺ
4. สตรีที่ออกจากบ้านจะต้องสวมใส่หิญาบ หมายถึง ห้ามออกจากบ้านโดยไม่ปกปิดเอาเราะห์ (สิ่งพึงสงวน)
5. ส่งเสริมให้มีการให้หยิบยืมฮีญาบแก่เพื่อน ๆ ที่ยังไม่มี
6. ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความดีงามเกิดขึ้นเพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺและรอซูล

หะดีษบทที่ 40

ส่งเสริมทำทานในวันอีดให้มาก

عَنْ جَابِرِ بْنِ عَبدِاللهِ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : شَهِدْتُ مَعَ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم الصَّلاَةَ يَوْمَ العِيْدِ فَبَدَأَ بِالصَّلاَةِ قَبْلَ الخُطْبَةِ بِغَيْرِ أَذَانْ وَلاَ إِقَامَةٍ ، ثُمَّ قَامَ مُتَّكِئاً عَلَى بِلاَلٍ ، فَأَمَرَ بِتَقْوَى اللهِ وَحَثَّ عَلَى طَاعَتِهِ وَوَعَظَ النَّاسَ عَلَى طَاعَتِهَ وَذَكَرَهُمْ ، ثُمَّ مَضَى حَتَّى أَتَى النِّسَاءَ فَوَعَظَهُنَّ وَذَكَرَهُنَّ فَقَالَ : تَصَدَّقْنَ ، فَإِنَّ أَكْثَرَكُنَّ حَطَبُ جَهَنَّم . فَقَامَتْ امرَأَةٌ مِنْ سِطَةِ النِّسَاءِ سَفْعَاءِ الخَدَّيْنِ فَقَالَتْ : لِمَ يَارَسُولَ اللهِ ؟ قَالَ: لأَنَّكُنَّ تُكْثِرْنَ الشَّكَاةَ وَتَكْفُرْنَ العَشِيْرَ. قاَلَ : فَجَعَلْنَ يَتَصَدَّقْنَ مِنْ حُلِيِّهِنَّ يُلْقِيْنَ فيِ ثَوبِ بَلاَلٍ مِنْ أَقْرِطَتِهِنَّ وَخَوَاتِمِهِنَّ

ความว่า จากญะบีร บิน อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ฉันได้ละหมาดอีดพร้อม ๆ กับท่าน รอซูล ท่านได้เริ่มละหมาดก่อนการคุฏบะฮฺโดยไม่มีอะซานและอิกอมะฮฺ จากนั้นท่านยืนขึ้น (อ่านคุตบะฮฺ) โดยจับที่บิลาล (เนื้อหาคุตบะฮฺได้แก่)เพื่อยำเกรงและภักดีต่ออัลลอฮ ตักเตือนผู้ที่มาละหมาด (ด้วยคำสอนที่ดี) (หลังจากเสร็จสิ้นจากคุฏบะฮ์) ท่านเดินไปข้างหน้าจนถึงที่ของฝ่าย มุสลีมะฮฺ และตรงนั้นท่านได้ตักเตือนพวกเธอ กล่าวว่าพวกท่านจงทำทานเถิด แท้จริงแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อไฟนรกญะฮันนัม (เมื่อฟังดังกล่าวแล้ว) มีผู้หญิงที่มีเกียรตินางหนึ่งยืนขึ้นพร้อมกล่าวว่า : ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นโอ้ท่านรอซูล ? ท่านรอซูลตอบว่า : เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบฟ้องและลืมบุญคุณสามีง่าย ญะบีรกล่าวว่าจากนั้นเหล่าผู้หญิงจึงได้ทำทานด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ของพวกเขา เช่น ตุ้มหู แหวน โดยที่พวกเธอใส่สิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้นลงไปในเสื้อของบิลาล" (รายงานโดยมุสลิม 884)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ญะบีร บิน อับดิลละฮฺ เป็นเศาะหาบะฮ์คนหนึ่งที่เคยละหมาดวันอีดร่วมกับท่านรอซูล (ศ็อลฯ)

2. วิธีละหมาดวันอีดในอิสลาม เริ่มต้นด้วยการละหมาด (จำนวน 2 เราะกะอ๊าต) จากนั้นจึงอ่านคุตบะฮฺ

3. ละหมาดวันอีดมีวิธีที่เฉพาะ ได้แก่ จะไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺ การคุตบะฮฺจะอ่านหลังจากละหมาดเสร็จ

4. อิหม่ามหรือผู้ที่อ่านคุตบะฮฺสามารถจะพิงผู้อื่นได้

5. สิ่งที่จำเป็นต่อการปลูกฝังในวันอีดคือ การตักวาและการภักดี (เชื่อฟัง) ต่ออัลลอฮฺ ขณะเดียวกันให้ความรู้และบทเรียนในขณะคุตบะฮฺ

6. ท่านรอซูลให้ความสำคัญเกี่ยวกับสตรี

7. ส่งเสริมให้สตรีทำการบริจาคทานมากๆ โดยเฉพาะในวันอีด เพราะสตรีจำนวนมากจะเป็นเหยื่อของไฟนรก

8. ชอบฟ้องและไม่รู้บุญคุณของสามี เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องเข้านรก (ขอให้พระองค์อัลลอฮฺทรงห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้)

9. ความประเสริฐของการบริจาคทาน ซึ่งเป็นอะมั๊ลเฉพาะที่ท่านรอซูลได้สั่งไว้ เพื่อให้สตรีปฏิบัติในวันอีด

10. ความพิเศษของบรรดาเศาะหาบะฮฺสตรีคือ การน้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺด้วยความชื่นใจ

11. บรรดาเศาะฮาบะฮฺสตรีจะบริจาคทานด้วยการมอบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ

อัพเดทล่าสุด