40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (7)


40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (7)

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษบทที่ 31

คำสั่งให้แสวงหาคืนอัล-เกาะดัรช่วงสิบวันสุดท้ายในเดือนรอมฎอน

عَنْ عَائِشَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهَا قَالَتْ : كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم يُحَاوِرُ فِي العَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ وَيَقُوْلُ : " تَحَرَّوا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي العَشْرِ الأَوَاخِرِ"

ความว่า จากท่านหญิงอาอีชะ เราะดิยัลลอฮูอันฮา เล่าว่า ท่านรอซูล (ศ็อลฯ)ได้ทำการเอี๊ยะติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนและท่านรอซูลกล่าวว่า : จงแสวงหาค่ำคืนอัล-เกาะดัรในสิบวันสุดท้าย (ของเดือนรอมฎอน) (รายงานโดยติรมีซีย์ 789)

คำอธิบายหะดีษ

คำว่า "تَحَرَّوا" หมายถึง การตั้งเจตนาพร้อมการมุ่งมั่นในการกระทำบางสิ่งบางอย่างเป็นการเฉพาะ

ในหะดีษข้างต้นในขณะที่ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) เอี๊ยะติกาฟสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอนนั้น ท่านสั่งให้บรรดา เศาะหาบะฮ์ใช้ความพยายามในการค้นหาคืนอัล-เกาะดัร เพื่อที่จะได้มาซึ่งความประเสริฐของค่ำคืนอัล-เกาะดัรในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน โดยการเสียสละเวลาเอี๊ยะติกาฟในมัสยิด

ดังมีรายงานโดยมุสลิมและอัตติรมีซีย์

في رواية مسلم والترمذى بللفظ : رَأَيْتَ ليَلَةَ القَدْرِ فَأَنْسَيْتهُاَ . فَاطْلُبُوْهَا فِي العَشْرِ الأَوَاخِرِ وَهِيَ لَيْلَةُ رِيْحٍ وَمَطَرٍ وَرَعْدٍ
ความว่า "ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) กล่าวว่าฉันได้เห็นค่ำคืนอัล-เกาะดัร หลังจากนั้นฉันลืม ดังนั้น เจ้าจงแสวงหามันเถิดในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ในคืนนั้นจะปรากฎลมพัด ฝนตกและฟ้าผ่า (ตุหฟะฮอัล-อัฮวะซีย์ 3/504) ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดมีว่า ค่ำคืนอัล-เกาะดัรจะปรากฎในเดือนรอมฏอนก่อนสิบวันสุดท้าย และจะปรากฏคืนเลขคี่โดยมิได้ระบุจะเกิดขึ้นคืนใด

ท่านอิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์กล่าวในฟัตหุลบารีย์ว่า บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องเกี่ยวกับค่ำคืนอัลเกาะดัรมากกว่าสี่สิบทัศนะ ทัศนะที่ถูกต้องที่ถูกคือ ค่ำคืนที่เป็นเลขคี่ของสิบคืนสุดท้ายที่คาดว่าใกล้เคียงความถูกต้องที่สุด นั่นคือ คืนที่ยี่สิบเอ็ดหรือยี่สิบสามตามทัศนะของอัซ-ชาฟีอีย์ และคืนที่ยี่สิบเจ็ดตามทัศนะของอุละมาฮฺส่วนใหญ่ (ตุห์ฟะตุล-อัล-อะห์วะซีย์ 3/505)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ส่งเสริมให้มีการเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนเพื่อเป็นการเจริญรอยตามซุนนะฮ์ท่านรอซูล
2. เป้าหมายของการเอี๊ยะติกาฟได้แก่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความบะรอกะฮ์ และความประเสริฐของค่ำคืนอัล-เกาะดัร
3. ให้มีความตั้งใจเข้มแข็ง จริงจังในการประกอบอะมัลที่ ศอและห์ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
4. ความประเสริฐของสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งจะเกิดค่ำคืนอัล-เกาะดัรในค่ำคืนใดค่ำคืนหนึ่ง และท่านรอซูลตระหนักอย่างเฉพาะเจาะจงด้วยการเอี๊ยะติกาฟ และท่านได้สั่งเพื่อให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์ค้นหาค่ำคืนอัล-เกาะดัรอย่างจริงจัง
5. ความประเสริฐของการเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนและความประเสริฐของการค้นหาค่ำคืนอัล-เกาะดัรอย่างจริงจัง

หะดีษที่ 32

การเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของรอมฏอน

عَنْ عَائِشَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهَا : أَنَّ النَّبِيَ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم كَانَ يَعْتَكِفُ فِي العَشْرِ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللهُ ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ

ความหมาย จากท่านหญิงอะอีชะ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า "แท้จริงท่านรอซูลทำการเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอนตลอดมา กระทั่งท่านเสียชีวิต ต่อมา(ได้รับการสืบทอด)การเอี๊ยะติกาฟโดยบรรดาภรรยาของท่าน"
(รายงานโดยอัลบุคอรีย์ 2/255 และมุสลิม 2/831)

คำอธิบายหะดีษ

ความหมายของคำว่า "اِعْتِكَاف" อิบนุ ฮะญัร อัลอัสเกาะลานีย์กล่าวว่า การเอี๊ยะติกาฟทางภาษาหมายถึง การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสม่ำเสมอและจำกัดตัวเองในความสม่ำเสมอดังกล่าว ส่วนความหมายทางวิชาการคือ การพำนักอยู่ในมัสยิดด้วยการกระทำที่เฉพาะเจาะจง บรรดาอุลามะอ์มัซฮับทั้งสี่และมุสลิมทุกคนมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า หุก่มของการเอี๊ยะติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอนนั้นเป็นสุนัตมุอักกะดะห์ เนื่องจากเป็นการเจริญรอยตามซุนนะห์ของท่านรอซูลและเป็นการเชิญชวนเพื่อค้นหาค่ำคืนอัล-เกาะดัร (อธิบายหะดีษโดยมุสลิม 8/67)

บทเรียนจากหะดีษ

1. การเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของรอมฏอนเป็นอะมัลเฉพาะของท่านรอซูล ซึ่งท่านปฏิบัติกระทั่งท่านเสียชีวิตลง
2. ส่งเสริมให้ทำเอี๊ยะติกาฟตลอดทั้งสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน
3. มีการกำหนด วัน เวลา และเดือนสำหรับการเอี๊ยะติกาฟ คือ สิบวันสุดท้ายของรอมฏอน
4. หุก่ม (สุนัต) ในการเอี๊ยะติกาฟนั้นชัดเจน และไม่มีการโมฆะกระทั่งท่านรอซูลเสียชีวิตไป ยังได้รับการเจริญรอยตามโดยบรรดาภรรยาของท่าน และด้วยการเอี๊ยะติกาฟในสิบวันสุดท้ายของรอมฏอน
5. เอิ๊ยะติก๊าฟสำหรับเหล่าสตรีนั้น จะมีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น การได้รับอนุญาตจากผู้เป็นสามีหรือจากวะลีย์ของเธอ หากการเอี๊ยะติก๊าฟภายในมัสยิดญาแมะอ์สตรีจะต้องอยู่ในบริเวณที่เฉพาะต่างหากจากผู้ชายและสถานที่ที่ไม่ก่อความแออัดแก่ผู้ที่มาละหมาด ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ เกี่ยวกับสตรีขณะอยู่ในมัสยิด

หะดีษบทที่ 33

ดุอาในค่ำคืนอัล-เกาะดัร

عَنْ عَائِشَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهَا سَأَلْتُ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم أَرَأَيْتَ إِنْ عَلِمْتُ أَىْ لَيْلَةُ القَدْرِ ، مَا أَقُوْلُ فِيْهَا؟ قَالَ : قُوْلِى : اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّى.

ความว่า จากท่านหญิงอาอิชะห์กล่าวว่าฉันได้ถามท่านรอซูลว่า ท่านจะว่าอย่างไร หากฉันรับทราบว่าค่ำคืนไหนเป็นค่ำคืนอัล-เกาะดัร แล้วฉันจะกล่าวอะไรในคืนนั้นๆ ท่านรอซูลตอบว่าจงกล่าวเถิด (เป็นการดุอาอ์ต่ออัลลอฮ)
(รายงานโดยอัตติรมีซีย์ 3513 และอิบนุมาญะฮ์ 3850)

اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّى

หมายถึง "โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้า แท้จริงพระองค์ทรงให้อภัย พระองค์ทรงชอบการให้อภัย ดังนั้นพระองค์จงให้อภัย (บาป) ของฉันเถิด"

คำอธิบายหะดีษ

ค่ำคืนอัล-เกาะดัรเป็นคืนที่มีความประเสริฐและมีเกียรติยิ่ง ความประเสริฐของค่ำคืนนี้ยิ่งใหญ่กว่าเดือนอื่นเป็นพันๆ เท่า บางครั้งทั้งผู้ที่เป็นชายและหญิงไม่ทราบว่าในค่ำคืนนั้นควรอ่านอะไรกันบ้าง หรือว่าไม่มีคำสอนจากท่านรอซูลบ้างเลยหรือ? ด้วยเหตุนี้ท่านหญิงอะอีชะห์อุมมุลมุมินีน ขอให้ท่านรอซูลสอนดุอาในค่ำคืนอัล-เกาะดัร เนื่องจากดุอาของท่านรอซูลนั้นเป็น ดุอาที่ดีที่สุด หากเราสังเกตแล้ว จะเห็นว่าดุอาที่ท่านรอซูลวอนขอต่ออัลลอฮนั้นเป็น ดุอาที่เกี่ยวข้องกับการขออภัยต่อัลลอฮผู้ทรงให้อภัย ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการขอให้อัลลอฮลบล้างบาปต่างๆ ให้หมดไปนั้นเป็นสิ่งที่ จำเป็นยิ่ง เนื่องจากบาปนั้นเป็นสิ่งที่กีดกั้นมิให้บุคคลเข้าในสรวงสวรรค์และห่างไกลจากนรกของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมยิ่งที่เราทุกคนควรมีการขอดุอาต่ออัลลอฮในค่ำคืนที่ทรงประเสริฐยิ่ง หวังเพื่อจะได้เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องจากบาปทั้งหลาย แท้จริงแล้วอัลลอฮทรงรักผู้ที่ขออภัยโทษและบริสุทธิ์จากบาปต่าง ๆ

บทเรียนจากหะดีษ

1. ความกระตือรือร้นของท่านหญิงอะอีชะห์ ซึ่งเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของมุสลิมและมุสลีมะห์ เมื่อเผชิญกับค่ำอัลเกาะดัร
2. มุสลิมะฮ์ก็มีสิทธิที่จะได้รับความดีและความประเสริฐของค่ำคืนอัลเกาะดัร
3. บัญญัติให้มีการขอดุอาในค่ำคืนอัลเกาะดัร เมื่อปรากฎซึ่งสัญญาณต่าง ๆ
4. ดุอาในค่ำคืนอัลเกาะดัรที่ดีที่สุดคือดุอาที่ท่านรอซูลได้สอนไว้ในหะดีษข้างต้น
5. ดุอาเพื่อขออภัยโทษต่ออัลลอฮนั้นสำคัญกว่าดุอาอื่นๆ
6. คุณลักษณะของอัลลอฮนั้นพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัยแก่บ่าวของพระองค์

หะดีษบทที่ 34

ฟัรดูซะกาตฟิตเราะห์

عَنْ اِبنِ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ زَكَاةَ الفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَو صَاعًا مِنْ شَعِيْرٍ عَلَى الحُرِّ وَالعَبْدِ وَالذَّكَرِ وَالأُنْْثىَ ، وَالصَّغِيْرِ وَالكَبِيْرِ مِنَ المُسْلِمِيْنَ . وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤُدَّى قَبْلَ خُرُوْجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلاَةِ .

ความว่า จากอับดุลเลาะ บิน อุมัร เราฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : "ท่านรอซูล(ศ็อลฯ)ได้ฟัรดูบัญญัติให้ออกซะกาตฟิตเราะห์ 1 กันตังด้วยลูกอินทผลัม หรือ 1 กันตังด้วยแป้งสาลีแก่มุสลิมที่เป็นเสรีชนและทาส ชายและผู้หญิง คนแก่และเด็ก และท่านรอซูลได้สั่งให้จ่ายซะกาตก่อนที่ผู้คนจะออกไปเพื่อละหมาดวันอีด"
(มุตตะฟะกุน อะลัยฮ์ : บุคอรี 3/291-292 และมุสลิม 983)

คำอธิบาย

อิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "فرض" ญุมฮุรอุละมาฮจากซะลัฟและเคาะลัฟให้ความหมายว่า "ลาซิมและวาญิบ" เพราะซะกาตฟิตเราะห์สำหรับพวกเขามีหุกมวาญิบ เนื่องจากเข้าอยู่ในภาพรวมคำสั่งของอัลลอฮ และเนื่องจากการใช้คำ "فرض" มี อุละมาอ์บางท่านเห็นว่าซะกาตฟิตเราะฮ์นั้นสุนัตไม่ใช่วาญิบ

ท่านอิบนุ กุตัยบะฮ์กล่าวว่า ที่หมายถึงซะกาตฟิตเราะห์นั้นคือ ซะกาตสำหรับตนเอง ซึ่งมาจากคำว่า "ฟิตเราะห์" (อัล-ฟัตหุ อัร-ร็อบบานีย์ มะอาซัรฮิฮี 9/138)

หะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ซะกาตฟิตเราะห์ไม่เป็นเงื่อนไขของถึงนิศอบ (เกณฑ์) ทั้งนี้วาญิบสำหรับผู้ยากจนและผู้ร่ำรวย

อัล-อิมาม อัช-ชาฟิอีย์กล่าวว่า หากมีเหลือจากค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัวในเช้าตรู่ของวันอีดและกลางคืนของวันอีด จึงเป็นวาญิบสำหรับเขาในการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ (ชัรหุ อัส-สุนนะห์ ลิล-บะเฆาะวีย์ 6/71)

ที่ถูกต้องตามสุนนะของรอซูล (ศ็อลฯ) คือ ซะกาต ฟิตเราะห์จะต้องจ่ายฟิตเราะห์ในวันอีดก่อนออกไปสู่มุซัลลา แต่ถ้าหากว่าการให้ฟิตเราะห์ทันทีหลังจากเข้ารอมฏอนก่อนวันอีดถือว่าควร (ฮารุส) เพราะท่านอุมัรเคยฝากซะกาตฟิตเราะห์ให้แก่ผู้จัดเก็บฟิตเราะห์ ก่อนวันอีดสองวันหรือสามวัน (อัล-มุวัฏเฏาะอ์ 1/285 ออกโดยอัซ-ซาฟีอีย์ 1/248 สะนัตเศาะฮีห์ ให้ดูในซัรหุอัส-สุนนะ 6/76)

บทเรียนจากหะดีษ

1. กำหนดให้จ่ายซะกาตฟิเราะฮ์ในเดือนรอมฎอน เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดมีความบริสุทธิ์ และเป็นการช่วยเหลือคนยากจน
2. การจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ถูกบัญญัติขึ้น (ฟัรฎู) ในปีที่ 2 หลังจากฮิจญ์เราะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮ์
3. มุสลิมที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตได้แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง มุสลิมที่เสรีชน คนแก่ หนุ่มสาว จนถึงเด็กทารกที่เพิ่งเกิดในช่วงปลายรอมฎอนก็จะต้องจ่ายซะกาตเช่นเดียวกัน
4. ประเภทซะกาต ได้แก่ ลูกอินทผลัมหรือแป้งสาลี ส่วนข้าวสารนั้นเป็นการกิยาสกับแป้งสาลีที่เป็นอาหารหลัก
5. อัตราซะกาตที่จะต้องจ่าย คือ 1 ศออฺ ( กันตังของชาวมะดีนะห์เท่ากับ 3 ลิตร กับ 1 กระป๋องนมของบ้านเรา)
6. ซะกาตจะต้องจ่ายให้เสร็จสิ้นก่อนละหมาดอีด
7. ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตฟิตเราะห์ คือ 8 จำพวก (เหมือนกับจำพวกที่สามารถรับซะกาตทั่วไป)
8. เวลาที่สามารถจ่ายซะกาตคือ เริ่มตั้งแต่ต้นรอมฎอนจนถึงเช้าวันอีดก่อนละหมาดอีด
9. ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้ประชาชาติมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือคนที่ยากจน เพื่อให้เกิดความรักใคร่ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

หะดีษบทที่ 35

เป้าหมายของการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์

عَنْ اِبنِ عَبَّاسٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ : " فَرَضَ رَسُولُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ زَكَاةَ الفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنَ الَلغْوِ وَالرَّفَثِ وَطُعْمَةً لِلمَسَاكِيْنَ فَمَنْ أَدَاهَا قَبْلَ الصَّلاَةِ فَهِىَ زَكَاةٌ مَقْبُولَةٌ وَمَنْ أَدَاهَا بَعْدَ الصَّلاَةِ فَهِىَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ

ความว่า จากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า:ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) ได้กำหนดฟัรฎูซะกาตฟิตเราะห์เพื่อเป็นการชำระผู้ถือศีลอดให้สะอาดบริสุทธิ์จาก (ทั้งคำพูดและการกระทำ) ที่ไร้สาระและซากาต จะเป็นอาหารของคนยากจน ดังนั้น ผู้ใดที่จ่ายซะกาตก่อนละหมาดวันอีด จึงเป็นซะกาตที่อัลลอฮฺทรงตอบรับ และผู้ใดที่จ่ายซะกาตหลังจากละหมาดอีดแล้วถือว่าเป็นเศาะดาเกาะฮฺทั่วๆ ไป (มิใช่เป็นซะกาต) (รายงานโดย อิบนุ มาญะห์ 1827)

บทเรียนจากหะดีษ

1. หุก่มของการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์คือ วาญิบ

2. วิทยปัญญาของการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ที่หะดีษกล่าวไว้ คือ
- ทำให้ผู้ถือศีลอดสะอาดจากคำพูดและการกระทำที่ชั่วร้ายและไม่มีประโยชน์
- เป็นอาหารแก่คนยากจน

3. ระยะเวลาในการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์คือตั้งแต่ต้นรอมฎอนจนถึงเช้าวันอีด (ก่อนละหมาดอีด)

4. เวลาที่ดีที่สุดในการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์คือ เช้าของวันอีด

5. ผู้ที่จ่ายซะกาตฟิตเราะห์ก่อนละหมาดวันอีดนั้นเป็น ซะกาตที่อัลลอฮรับฺ แต่หากจ่ายหลังจากละหมาดวันอีดแล้ว จะไม่ถือว่าเป็นซะกาต แต่จะเป็นการทำทานทั่วไป ดังนั้น เขายังคงมีภาระต้องจ่ายซะกาตอยู่

อัพเดทล่าสุด