40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (4)


2,098 ผู้ชม

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้ ...


40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (4)

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษบทที่ 16

ให้ละศีลอดทันทีเมื่อถึงเวลา

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم : " لاَ يَزَالَ الدِّيْنُ ظَاهِرًا مَا عَجَّلَ النَّاسُ الفِطْرَ".
وَفيِ رِوَايَةِ سَهْلِ بْنِ سَعْدٍ أَنَّ رَسُولُ الله صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم قَالَ: " لاَ يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلوُا الفِطْرَ".

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่าน รอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า "ศาสนา (อิสลาม) นั้นสูงส่งและประสบชัยชนะอยู่เสมอ หากมุสลิมยังคงละศีลอดทันที (เมื่อถึงเวลา) และรายงานจากซะฮ์ล บิน ซะอัด ท่านรอซูลกล่าวว่า "มนุษย์จะยังคงประสบกับความดี (ในทุกๆ เรื่อง) หากพวกเขา (มุสลิม) รีบละศีลอดทันทีเมื่อถึงเวลา" (บันทึกโดยบุคอรี 1860 และมุสลิม 2/771)

คำอธิบาย

จากหะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่าครั้นเมื่อคำสอนของศาสนา อิสลามอุบัติขึ้น โดยมีความชัดแจ้งกว่าคำสอนของศาสนาอื่น จึงเป็นที่แน่นอนว่า ความดีต่างๆ จะคงต่อไป ในเรื่องการให้รีบละศีลอด จึงเป็นความสุขประเสริฐในหลักคำสอนอิสลามที่ต่างจากหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ เช่น ยิวและคริสต์ และศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มุสลิมมีคุณลักษณะแตกต่างไปจากผู้ที่นับถือในศาสนาคริสต์และยิว ในเรื่องนี้อบู ฮุรอยเราะห์ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เพราะว่าบรรดาชาวยิวและคริสต์นั้นจะล่าช้าในการละศีลอด"

ในรายงานอิบนุ ฮิบบาน และอัลหะกีมระบุว่าประชาชาติของฉันจะอยู่บนสุนนะฮของฉันตราบใด พวกเขาไม่รอคอยการละ ศีลอดกระทั่งดวงดาวโผล่ออกมา

อัล-มะฮ์ลับกล่าวว่า วิทยปัญญาดังกล่าวเพื่อมิให้การเพิ่มเวลากลางวันในเวลากลางคืน และละศีลอดทันทีซึ่งเป็นการเพิ่มอ่อมน้อมแก่ผู้มีศีลอด ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มพลังในการประกอบอิบาดะห์ (ฟัตหุล บารีย์ 4/194)

ในรายงานบทหนึ่งของอบี ฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า "บ่าวของฉันที่รักฉันมากที่สุดก็คือผู้ที่ละศีลอดทันที" (เมื่อถึงเวลา) อัตติรมีซีย์มีทัศนะว่า เป็นหะดีษหะสันเฆาะรีบ) อัฏฏีบีย์กล่าวว่า "หวังว่ากรุณาปราณีจากอัลลอฮนั้น อันเนื่องมาจากการเจริญรอยตามสุนนะฮของท่านรอซูลและห่างไกลจากบิดอะฮ์ และเป็นการขัดแย้งกับชาวคัมภีย์ อัลกอรีย์กล่าวว่า ในหะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ความประเสริญของประชาชาติของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) การเจริญรอยตามหะดีษ (ซุนนะฮฺ) เป็นการยืนยันว่าจะได้รับความกรุณาปราณีจากอัลลอฮ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามที่พระองค์ได้ตรัสความว่า"จงกล่าวเถิดมุหัมมัดหากเจ้ารักใคร่อัลลอฮอย่างแท้จริงแล้วดังนั้นจงตามฉัน แน่แท้อัลลอฮรักใคร่สูเจ้า"

อัมรู บิน ไมมูน อัล-เอาดีย์กล่าวว่า แท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮของท่านนบีนั้น จะละศีลอดทันที (เมื่อถึงเวลาละศีลอด) และเป็นผู้ที่ล่าช้าที่สุดในการรับประทานอาหารซุหูร (ตุห์ฟะตุล อะห์วะซีย์ 3/386)

บทเรียนจากหะดีษ

ศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาที่สูงส่งและประสบชัยชนะเหนือศาสนาอื่น ด้วยความสัจธรรมและการยอมรับจากอัลลอฮฺอันเป็นศาสนาที่พระองค์ทรงโปรดปราน (ริฎอ)

1. อิสลามยังคงเป็นศาสนาแห่งสัจธรรม ตราบใดที่ผู้ที่นับถืออิสลามยังคงยึดมั่นในหลักคำสอนอิสลามอย่างมั่นคง ประการหนึ่งคือ ด้วยการรักษาเวลาในการละศีลอด (ละทันทีเมื่อถึงเวลา)

2. ฝึกฝนให้มุสลิมมีความเคยชินกับระเบียบและการตรงต่อเวลาในการประกอบอิบาดะฮฺ

3. อิสลามเอาใจใส่ต่อผู้ที่ถือศีลอดและส่งเสริมให้ประกอบอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ศุบห)

4. ท่านรอซูลจะไม่พึงพอใจหากประชาชาติของท่านล่าช้าในการละศีลอด ฉะนั้นด้วยเหตุการล่าช้าในการละศีลอดจะนำไปสู่ความเสียหายต่อศาสนาได้

5. เพื่อให้เกิดความแตกต่างไปจากการดำเนินชีวิตของชาวยิวและคริสต์ โดยเฉพาะวิธีการละศีลอด ซึ่งหลักฐานจาก หะดีษพบว่าพวกเขา (ชาวยิวและคริสต์) จะล่าช้าในการละศีลอด

6. การละศีลอดทันทีในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นซุนนะห์ของท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

7. การละศีลอดทันทีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ถือศีลอด

หะดีษบทที่ 17

ละศีลอดด้วยอินทผลัม

عَنْ سَلْمَانِ بْنِ عَامِرِ الضَّبِّى رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم : " إِذَا أَفْطَرَ أَحَدَكُمْ فَلْيُفْطِرْ عَلَى تَمْرٍ ، فَإِنْ لَمْ يَجِدْ فَلْيُفْطِرْ عَلَى مَاءٍ فَإِنَّهُ طَهُوْرٌ وَفِي لَفْظٍ : فَإِنَّهُ لَهُ طَهُوْرٌ . وَفِي لَفْظٍ آخَرٍ : فَإِنَّ المَاءَ طَهُوْرٌ

ความว่า จากซัลมาน บิน อามิร อัฎฎอบบีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า "เมื่อผู้ใดจากพวกท่านจะละศีลอด ก็จงละศีลอดด้วยผลอินทผลัม หากไม่มีอินทผลัม ก็จงละศีลอดด้วยน้ำ แท้จริงน้ำนั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์" (บันทึกโดยอะห์มัด 4/17–18 อบู ดาวูด 2355 อิบนุ มาญะห์ 1699 และอัตติรมีซีย์ 694 กล่าวว่า: เป็นหะดีษเศาะฮี๊ห์)

คำอธิบายหะดีษ

บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะว่า วิทยปัญญาในการส่งเสริมให้มีการละศีลอดด้วยผลอินทผลัมนั้น เนื่องจากความหวานของมันสามารถทำให้เกิดพละกำลัง อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากความหวานนั้นจะสอดคล้องกับความศรัทธา และสามารถทำให้หัวใจมีความอ่อนโยน ด้วยเหตุนี้ตาบิอีนบางท่านเห็นว่า ผู้ที่ถือศีลอดสามารถที่จะละศีลอดด้วยของหวานอย่างอื่นก็ได้ เช่น น้ำผึ้ง

อิบนุ หะญัร อัล-มักกีย์ กล่าวว่า ความประเสริฐต่างๆ ของลูกอินทผลัมคือ เมื่อลูกอินทผลัมเข้าไปในกระเพาะขณะที่ท้องว่างนั้นจะกลายเป็นอาหาร โดยที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารจากลูกอินทผลัมนั่นเอง

ส่วนวิทยปัญญาในการละศีลอดด้วยน้ำนั้น เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่มีความบริสุทธิ์ และสามารถบรรเทาความกระหายอันเป็นสิ่งที่คอยรบกวนการประกอบอิบาดะห์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านรอซูลแนะนำให้อ่านดุอาอ์ในการละศีลอด ความว่า "ความกระหายได้หายไปและหวังว่าด้วยการดื่มน้ำสามารถทำให้ร่างกายและใจมีความสะอาด"

บทเรียนจากหะดีษ

1. ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สอนสิ่งที่ดีงามและมีประโยชน์ต่อประชาชาติของท่าน

2. สุนัตให้ละศีลอดด้วยผลอินทผลัมที่สุกใหม่ๆ เนื่องจากมีหลักฐานจากหะดีษ ว่าท่านรอซูลละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมสดที่เรียกว่า รุฏ๊อบ หากไม่มี ท่านก็จะละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมแห้ง หากไม่มีท่านให้ละศีลอดด้วยน้ำ

3. เพื่อเป็นการเจริญรอยตาม (อิตติบาอฺ) ตามซุนนะห์ของท่าน โดยเริ่มละศีลอดด้วยอินทผลัมสุกใหม่ๆ หากไม่มีจึงจะละศีลอดด้วยอินทผลัมแห้งหรือด้วยน้ำ

4. ท่านรอซูลกำชับให้ประชาชาติของท่านละศีลอดด้วยลูกอินทผลัม

หะดีษบทที่ 18

ความเป็นมาของการละหมาดตะรอวีห์

عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا أَنَّ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم خَرَجَ مِنْ جَوْفِ الْلَيْلِ فَصَلَّى فِيْ الْمَسْجِدِ فَصَلَّى رِجاَلٌ فَأَصْبَحَ النَّاسُ يَتَحَدَّثُوْنَ بِذَلِكَ فَاجْتَمَعَ أَكْثُرُ مِنْهُمْ ، فَخَرَجَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ فِيْ الْلَيْلَةِ الثَّانِيَةِ فَصَلُّوا بِصَلاَتِهِ فَأَصْبَحَ النَّاسُ يَذْكُرُوْنَ ذَلِكَ ، فَكَثَرَ أَهْلُ الْمَسْجِدِ مِنَ اللَّيْلَةِ الثَّالِثَةِ فَخَرَجَ فَصَلُّوا بِصَلاَتِهِ فَلَمَّا كَانَتْ الْلَيْلَةِ الرَّابِعَةُ عَجَزَ الْمَسْجِدُ عَنْ أَهْلِهِ ، فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ فَطَفِقَ رِجَالٌ مِنْهُمْ يَقُوْلُوْنَ : " الصَّلاَةُ " فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ حَتَّى خَرَجَ لِصَلاَةِ الْفَجْرِ ، فَلَماَّ قَضَى الفَجْرَ أَقْبَلَ عَلَى النَّاسِ ثُمَّ تَشْهَّدَ فَقَالَ : أَمَّا بَعْدُ ، فَإِنَّهُ لَمْ يَخْفَ عَلَيَّ شَأْنُكُمْ اللَّيْلَةَ، وَلَكِنِّى خَشِيْتُ أَنْ تُفْرَضَ عَلَيْكُمْ صَلاَةُ اللَّيْلِ فَتَعْجِزُوْا عَنْهاَ.

ความหมาย จากท่านหญิงอะอีชะห์ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า "ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปในเวลากลางคืน (ในค่ำคืนของเดือนรอมฏอน) ท่านปฏิบัติละหมาด (ตะรอวีห์) ในมัสยิดของท่าน (คือมัสยิดอันนะบะวีย์ในนครมะดีนะห์) ซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากละหมาดตามท่าน

ในวันต่อมา บรรดาเศาะฮาบะห์จึงพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (คือเกี่ยวกับการละหมาดตะรอวีห์ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมี) ในคืนที่สองบรรดาเศาะฮาบะห์มีการชุมนุมจำนวนมากขึ้นกว่าคืนที่ผ่านมาและท่านรอซูลก็เดินออกไปยังมัสยิด พวกเขาจึงละหมาด (ตะรอวีห์) ตามท่านรอซูล และในวันต่อมา มีคนจำนวนมากพูดถึงเรื่องดังกล่าว ในคืนที่สามบรรดาเศาะฮาบะห์จึงออกไปยังมัสยิดมากยิ่งขึ้น และท่านรอซูลก็เดินออกไปยังมัสยิด พวกเขาจึงละหมาด (ตะรอวีห์) ตามท่านรอซูล

เมื่อถึงคืนที่สี่ ภายในมัสยิดนั้นเต็มไปด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ คืนนั้นท่านรอซูลไม่ได้ออกไปยังมัสยิดพร้อมๆ กับพวกเขา ดังนั้น ในจำนวนพวกเขาจึงพูดขึ้นว่า "ละหมาด" (เป้าหมายเพื่อให้ท่านรอซูลได้ยิน) แต่ท่านรอซูลก็ไม่ได้ออกไปยังพวกเขา (พวกเขาคอยท่านรอซูลกระทั่งเวลาซุบฮ) ท่านรอซูลจึงออกมาเพื่อละหมาดซุบฮ์ หลังจากละหมาดซุบฮ์แล้ว ท่านรอซูลจึงหันมา (เป็นการเริ่มต้นในการกล่าวคำพูด) และท่านรอซูลจึงกล่าวว่า แท้จริงแล้วมิใช่ฉันไม่รู้เกี่ยวกับพวกท่านเมื่อคืนนี้ แต่ฉันเกรงว่าจะเป็นการฟัรดูเหนือพวกท่านในการละหมาดกลางคืน (ตะรอวีห์) ซึ่งจะทำให้พวกท่านอ่อนแอที่ปฏิบัติ" (มุตตะฟะกุน อะลัยห์)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ส่งเสริมให้มีการละหมาดกิยามุลลัยล์หรือละหมาดตะรอวีห์ในเดือนรอมฏอน เพราะในการละหมาดตะรอวีห์มีความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่มาก

2. ท่านรอซูลในฐานะเป็นผู้นำของประชาชาติมุสลิม ท่านเองได้ประกอบการละหมาดตะรอวีห์ในเดือนรอมฏอน

3. หะดีษนี้บ่งบอกถึงความจริงจังของบรรดาเศาะฮาบะฮ์ และความตั้งใจในการปฏิบัติอะมั้ลอิบาดะห์ตามรอซูล

4. ท่านรอซูลมีความโอบอ้อมอารีต่อประชาชาติของท่าน

หะดีษบทที่ 19

ความประเสริฐของการละหมาดตะรอวี๊ห์

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قاَلَ : قاَلَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ : " مَنْ قاَمَ رَمْضاَنَ إِيْماَناً وَاحْتِساَباً غُفِرَلَهُ ماَ تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ"

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)กล่าวว่า "ผู้ใดที่ละหมาดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธา (ต่อคำสั่งและสัญญาของอัลลอฮฺ)รวมทั้งคาดหวังผลตอบแทนจากพระองค์ แน่แท้พระองค์จะทรงอภัยโทษต่อบาปต่างๆ ที่ผ่านมา" (มุตตะฟะกุน อะลัยห์ : บุคอรี 2/252 และมุสลิม 1/523)

คำอธิบาย

การงานที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้บรรดามุสลิมกระทำในเดือนรอมฎอน คือ การละหมาดในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นการละหมาดตะรอวี๊ห์ และผลการตอบแทนในการปฏิบัตินั้นยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการประกอบอิบดะฮ์ประเภทอื่นๆ ที่ใช้ให้ปฏิบัติในเดือนรอมฎอน เช่น การถือศีลอด เพราะต่างได้รับการสัญญาว่าจะได้รับการอภัยโทษในบาปที่กระทำมา เฉกเช่นเดียวกับการตอบแทนที่ได้สัญญาแก่คนที่ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ในค่ำคืนอัลเกาะดัรในด้านการได้รับอภัยโทษ ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจของเราต่อคำสั่งของอัลลอฮ์ รวมทั้งความบริสุทธิใจในการปฏิบัติอะมัลดังกล่าวด้วย

ส่วนหุก่มของการละหมาดตะรอวีห์นั้น บรรดาอุลามาอ์ได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นสุนัตสำหรับชายและหญิง และใช้ให้ปฏิบัติทั้งในรูปแบบญะมาอะห์หรือในลักษณะต่างคนต่างทำ แต่การปฏิบัติในรูปแบบญะมาอะห์จะมีความประเสริฐมากกว่า

บทเรียนจากหะดีษ

1. ความประเสริฐของเดือนรอมฎอนและอิบาดะฮฺกิยามุลลัยล์ในเดือนรอมฎอน

2. มีความมั่นใจต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ และความบริสุทธิ์ใจในการประกอบอิบาดะฮฺนั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขหลักของการได้มาซึ่งการตอบแทนจากอัลลอฮฺ (หมายถึงอัลลอฮฺจะทรงพิจารณาถึงความบริสุทธิ์ใจในการประกอบอิบาดะฮฺของบ่าว)

3. เราะมัตของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะให้อภัยต่อบาปต่างๆ ที่ผ่านมาแก่ผู้ที่ดำรงละหมาดในค่ำคืนเดือนรอมฎอน

หะดีษบทที่ 20

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในเดือนรอมฏอน

عَنْ اِبْنِ عَبَّاسٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُماَ قَالَ : كاَنَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ أَجْوَدَ النَّاسِ ، وَكاَنَ أَجْوَدُ ماَ يَكُوْنُ فِيْ رَمْضاَنَ حِيْنَ يَلْقَاهُ جِبْرِيْلُ . وَكاَنَ يَلْقاَهُ جِبْرِيْلُ فِيْ كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمْضاَنَ فَيَداَرَسُهُ القُرْآنَ ، فَلَرَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمِ حِيْنَ يَلْقاَهُ جِبْرِيْلُ أَجْوَدُ بِالْخَيْرِ مِنَ الرِّيْحِ الْمُرْسَلَةِ

ความว่า จากอิบนุ อับบาส เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า "ท่านรอซูลเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุด (ในการให้ทาน) และท่านยังเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างที่สุดในเดือนรอมฏอน ขณะที่ท่านพบกับญิบรีล และท่านญิบรีลจะพบกับท่านรอซูลทุกค่ำคืนของเดือนรอมฏอน เพื่อสอนอัลกุรอาน แท้จริงแล้วท่านรอซูลขณะที่ท่านญิบรีลพบกับท่านนั้น ท่านจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยการทำความดียิ่งกว่าลมรำเพย" (บันทึกโดยบุคอรี 6 และมุสลิม 2308)

คำอธิบายหะดีษ

ท่านอิบนุหะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า "อัล-ญูด" เป็น ความเอื้อเฟื้อในความหมายทางศาสนา คือ การให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เหมาะสมแก่คนที่มีสิทธิในสิ่งนั้น ซึ่งจะมีความหมายกว้างกว่าการให้ทาน (เศาะดะเกาะฮ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนรอมฏอนเป็นฤดูแห่งการประกอบคุณความดี เพราะอัลลอฮจะประทานความโปรดปรานลงมาแก่บ่าวของพระองค์อย่างมากมายในเดือนนี้

ท่านอัซ-ซัยน์ บิน อัลมุนีร์ กล่าวว่า ลักษณะการเปรียบเทียบระหว่างความเอื้อเฟื้อของท่านรอซูลลุลอฮด้วยความดีงามและความเอื้อเฟื้อของลมรำเพยลมในที่นี้ก็คือ ลมแห่งความโปรดปรานที่อัลลอฮประทานไว้ในการลงฝนทั่วฟ้า อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝนตกลงมาบนพื้นดินทั้งที่แห้งแล้งหรืออุดมสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึง ความดีงามของท่านรอซูลจะครอบคลุมถึงคนที่มีความขัดสนและร่ำรวย ซึ่งมีมากกว่าฝนตกที่เกิดจากลมแรง (ฟัตฮุลบารีย์ 4/611)

อิหม่ามอันนะวะวีย์ กล่าวว่า ในหะดีษดังกล่าวนั้นมีข้อคิดอยู่หลายประการ เช่น

- ส่งเสริมให้ความเอื้อเฟื้ออยู่ตลอดเวลา
- ให้เพิ่มความเอื้อเฟื้อในเดือนรอมฏอน
- อยู่ร่วมกับผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- ให้มีการเยี่ยมเยียนผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- สุนัตให้อ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฏอนมากๆ
- หลักฐานชี้ให้เห็นว่าอัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนรอมฏอน

บทเรียนจากหะดีษ

1. แบบอย่างของท่านรอซูลในหะดีษนี้ก็คือ การมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อในการใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮ

2. ท่านมีจิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่เกินกว่าผู้คนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฏอนขณะที่ท่านญิบริลพบกับท่านรอซูลในทุกคืน

3. เชิญชวนประชาชาติมุสลิมทุกคนให้มีความเอื้อเฟื้อเพื่อ เจริญรอยตามแบบอย่างของท่านรอซูลและหวังเพื่อได้รับผลบุญเท่าทวีคูณ

4. ส่งเสริมให้มีการศึกษาอัลกุรอาน ในเดือนรอมฏอนโดยการสลับการอ่านและฟัง ขณะเดียวกันส่งเสริมให้มีการตะดับบุร (ใคร่ครวญ) ในขณะอ่านอัล-กุรอาน

5. อัลกุรอานและรอมฏอนได้ปลูกฝังบุคลิกภาพมุสลิมเพื่อให้มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อและใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮ

6. ความประเสริฐของการมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อและการให้ทาน (เศาะดะเกาะฮ)

7. การมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อยิ่งของท่านรอซูลนั้นเปรียบ เสมือนลมรำเพย

อัพเดทล่าสุด