ความจริงที่ว่า ... กินน้อยอายุยืนกว่ากินมาก


ความจริงที่ว่า ... กินน้อยอายุยืนกว่ากินมาก

"จงถือศีลอดแล้วท่านจะมีสุขภาพดี" จากคำกล่าวนี้ จะเป็นคำกล่าวของท่านศาสดามุหัมมัด หรือ ไม่นั้น ในวงการศาสนายังไม่มีข้อสรุปชัด แต่ในนัยแห่งเนื้อหาที่สื่อสารออกไปนั้นช่างทรงพลัง จนทำให้บรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วโลกได้นำคำกล่าวนี้ไปถอดรหัส ใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย จนเกิดองค์ความรู้อย่างมากมายในการนำมาใช้ในวงการแพทย์ ทั้งในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและการรักษาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มนุษยชาติมีอายุยืนยาวขึ้น และมีสุขภาพดี ไม่ใช่อายุยืนยาวที่อยู่กับโรคภัยไข้เจ็บหรืออยู่บนเตียงผู้ป่วยตลอดชีวิต

ดังนั้น จึงมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ที่สนใจค้นคว้าวิจัยในการหายาอายุวัฒนะหรือการตัดแต่งทางพันธุกรรม ที่จะให้มียีนที่สามารถป้องกันโรคภัยบางโรคได้ เช่น การทดลองหาทางยืดอายุของหนูให้ยืนยาวขึ้นด้วยการตัดแต่งยีนโดยนักวิทยา ศาสตร์เชื้อสายอิตาลีในศูนย์มะเร็งสโลน-เค็ตเตอริงอนุสรณ์ ในนิวยอร์ก ผลการวิจัยปรากฏว่าหนูกลุ่มที่ได้รับการดัดแปลงยีน(p66) มีอายุยืนกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการดัดแปลงยีนถึงร้อยละ 30 แต่ การดัดแปลงยีนหรือการหายาอายุวัฒนะนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เห็นผลช้าและในที่สุดจะสามารถใช้กับมนุษย์ได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบ แต่มีการวิจัยจำนวนไม่น้อยที่บ่งชี้ว่าการที่จะมีอายุยืนได้โดยการกินให้ น้อยลง

การทดลองว่าการกินน้อยอายุยืนกว่ากินมาก ที่นักวิจัยจากตะวันตกค้นพบจากการทดลอง นั้นได้ทำกันมาตลอดตั้งแต่ ค.ศ.1935 เริ่มที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นแห่งแรก ที่ทำการทดลองในหนู 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินตลอดเวลา กับอีกกลุ่มให้กินบ้างหิวบ้าง ปรากฏว่าหนูกลุ่มแรก(กินตลอดเวลา)ตายก่อน

จากนั้น การทดลองวิจัยที่สถาบันแห่งอื่นๆ ได้เกิดขึ้นตามมาจนถึงปี ค.ศ.2000 เป็นเวลานานร่วม 65 ปี แล้วผลการวิจัยก็ปรากฏว่าผลเหมือนเดิมว่ากินน้อยอายุยืนกว่ากินมาก ไม่ว่าจะเป็นการทดลองกับหนูหรือทดลองกับลิงก็ตาม ดังเช่น การวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินและสถาบันแห่งชาติว่าด้วยวัยชรา (The National Institute on Aging : NIA) ได้ใช้การทดลองกับลิงซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปีกว่าจะเห็นผล เพราะลิงมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าหนู (ปกติหนูมีอายุไม่เกิน 3 ปี) NIA ใช้งบประมาณปีละ 3 ล้านดอลลาร์เพื่อศึกษาว่าด้วยการจำกัดปริมาณแคลอรีด้วยการทดลองหนูกับลิง ดังเช่น Tomas Prolla และ Richard Weindruch นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งเมดิสันได้ทดลองกับหนูมาก่อนแล้วและสรุปผลนำลงวารสาร Science ใน เดือนกันยายน 2542 พวกเขาพบว่าหนูที่ถูกควบคุมอาหารด้วยการลดปริมาณแคลอรีลงร้อยละ 42 เมื่อ เปรียบเทียบกับหนูอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอาหารอย่างอื่นที่มีทั้ง โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุเหมือนกันและเท่ากันแล้ว ปรากฏว่าหนูที่ถูกลดแคลอรีมียีนที่กระชุ่มกระชวยมากกว่ากลุ่มที่ได้กิน มากกว่า การทดลองครั้งนี้ใช้เวลานาน 30 เดือน และเป็นการทดลองที่ลงลึกไปในการตรวจสอบยีนในระดับโมเลกุลมากกว่าที่ผ่านๆ มา ด้วยการตรวจสอบกล้ามเนื้อและยีนจำนวน 6,347 ยีนซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่าในระดับโมเลกุลแล้ว หนูที่กินน้อยจะมีการทำงานของยีนที่หนุ่มกว่ากลุ่มหนูที่ได้กินมาก

ส่วนการทดลองกับลิงนั้น เท่าที่พบกันคือลิงที่ถูกควบคุมแคลอรีจะมีความดันโลหิตต่ำและมีระดับคอเลสเต อรอลชนิดดีในปริมาณสูงซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีสุขภาพดี อันนำไปสู่การมีอายุที่ยืนยาว หนึ่งในนักวิจัยที่รณรงค์และสนับสนุนให้กินน้อยเพื่ออายุที่ยืนยาวกว่าคือนายแพทย์รอย วัลฟอร์ด (Roy Walford) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ด้านพยาธิวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) อายุ 76 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชราภาพมานานกว่า 50 ปี

รอย วัลฟอร์ด เชื่อว่าผลการทดลองกับสัตว์ทำให้ประเมินได้ว่ามนุษย์เราสามารถที่จะมีอายุ ยืนกว่าเดิม คือ สามารถอยู่ได้ถึง 120 ปี เขาเคยทดลองทำวิจัยกับหนูมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1960 เคยรับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจาก NIA ในเรื่องนี้ เขาเคยเขียนหนังสือแนะนำเกี่ยวกับการลดอาหารออกมาเมื่อปี ค.ศ.1986 เรื่อง "The 120-Year Diet" และนำมาปรับปรุงพิมพ์ใหม่ชื่อ "Beyond the 120-Year Diet"

ในทัศนะของ รอย วัลฟอร์ด การทดลองจากหลายสถาบันวิจัยไม่เพียงแต่จะบอกว่าการกินน้อยจะทำให้อายุยืน กว่ากินมากเท่านั้น แต่ยังลดโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเบียดเบียนให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อตัวเอง

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมกินน้อยอายุยืนกว่ากินมากนั้น ขณะนี้มีอยู่หลายความเห็น เช่น เหตุผลหนึ่งเชื่อว่า "การกินมากเท่ากับเป็นการเข้าไปเร่งให้กระบวนการแก่ชราทำงานเร็วขึ้น" อีกเหตุผลหนึ่งเชื่อว่า "การ ลดอาหารหรืออาหารไม่พอนั้นมันจะไปดึงเอาพลังงานจากส่วนร่างกายที่เติบโตแล้ว เอามาใช้ในการบำรุงรักษาและซ่อมแซม ซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นสร้างพลังงานใหม่ สร้างเซลล์ใหม่มาทดแทนเซลล์เก่า" และอีกเหตุผลหนึ่งเชื่อว่า "การกินน้อยจะไปลดตัวอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวทำลายเซลล์ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดอินซูลินและป้องกันระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้เสื่อม"

การกินจุเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทีมข่าวสุขภาพ จากรอยเตอร์นิวยอร์ก ได้สรุปรายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า เมื่อพิจารณาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ในคนเรานั้น พบว่าปริมาณอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นมีความสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำ ไส้มากกว่าชนิดหรือประเภทของอาหารที่เรารับประทานอาหารเข้าไปเสียอีก

คณะวิจัย ดร.เจสซี่ ซาเทีย-อบูต้า แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา สรุป ผลที่ได้จากการติดตามเก็บข้อมูลคนผิวขาวจำนวน 933 คน และคนผิวดำจำนวน 676 คน พบว่าคนผิวดำที่รับประทานอาหารที่ปริมาณเส้นใยอาหารสูง สามารถลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนผิวขาว

เมื่อ ทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยการทดสอบคนที่มีสีผิวต่างกันสองกลุ่มนี้ พบว่าการรับประทานอาหารแต่ละชนิดที่ให้ปริมาณแคลอรีสูงจะเพิ่มความเสี่ยงใน การเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่เป็น 2-3 เท่า แต่ทว่าไม่พบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ถ้าผู้วิจัยทำการปรับจำนวนแคลอรีรวมที่ ร่างกายได้รับ

ดร. เจสซี่ ซาเทีย-อบูต้า กล่าวว่า ผลของการวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงและปริมาณสารอาหารต่างๆ ในปริมาณสูง เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันมีผลในการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสามารถสรุปได้ว่าจำนวนแคลอรีที่ได้รับทั้งหมดเป็นสาเหตุหลักที่มีความ สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชนิดของสารอาหารนั้น จะแปรผัน ขึ้นกับเชื้อชาติและพลังงานที่ได้รับ ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับจำนวนแคลอรีที่เหมาะสม มีความสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

สำหรับในประเทศไทยนั้น นายแพทย์เฉก ธนะศิริ ผู้ก่อตั้งชมรมอยู่ร้อยปี–ชีวี เป็นสุข ซึ่งปัจจุบันอายุ 83 ปี ได้กล่าวเน้นย้ำในการบริโภคอาหารที่ได้มาจากธรรมชาติแทนอาหารที่ผ่านการปรุง แต่ง หรือผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม คนไทยเสี่ยงภัยปนเปื้อนสารพิษ และสารเคมี ที่ได้รับตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา ไม่ว่าจะเป็นอาหารหลัก อาหารเสริม อาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว ล้วนแต่ไม่พ้นสารเคมี สารปรุงแต่ง ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมน ตลอดจนสารตัดแต่งพันธุกรรม เป็นแหล่งที่มาของสารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ตับและไตวาย หรือโรคดื้อยา ฯลฯ

ปัจจุบัน นักกีฬาที่เก่งๆ จะต้องกินอาหารต่ำกว่าที่นักโภชนาการกำหนดไว้ โดยให้กินเพียง 1,600-1,800 แคลอรี ต่อวัน อาหารแคลอรีต่ำๆ กลับทำให้สถิตินักกีฬาดีกว่ากินอาหารที่บริบูรณ์ไปด้วย หมู เห็ด เป็ด ไก่ และยังพบว่าการกินอาหารแคลอรีต่ำ ถัวเฉลี่ยประมาณ 1,000 แคลอรีต่อวัน ในกลุ่มชาวฮันซา บนเทือกเขาหิมาลัย ทำให้พวกเขาเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวเกินหนึ่งร้อยปี

ยังมีอีกหลายๆ งานวิจัย เช่น ที่ทำโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล ที่ทำการเจาะเลือดชาวเบดูอินเพื่อดูค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ก่อนและหลังเดือนรอมฎอน ปรากฏว่าผลของเลือดไม่ว่าในเรื่องน้ำตาลหรือไขมันในเลือดดีขึ้นโดยรวม

ครั้งหนึ่ง หลายปีก่อน มีการค้นพบโดยบังเอิญที่สถานีอวกาศเมียร์ ที่เกิดเหตุขัดข้องกับวงจรไฟฟ้าโซลาเซลล์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเป็น แหล่งพลังงานในสถานีฯ หลายเดือนจนทำให้นักบินอวกาศต้องลดลงการกินจากปกติลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มีผลทำให้ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ในเลือดดีขึ้นทุกตัว

จากการวิจัยและการทดลองข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า การที่มนุษย์และสัตว์ได้ลดพลังงานที่ได้รับลง 1 ใน 3 ของที่ได้รับตามปกติ (วิธีง่ายๆ คือการศีลอดแบบมุสลิม เพราะต้องลดมื้อเที่ยงไป 1 มื้อ) จะทำให้อายุยืนมากกว่าการกินอาหารตามปกติ รวมทั้งลดโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเบียดเบียนให้น้อยลงด้วย จึงเป็นบทพิสูจน์ของคำกล่าวที่ว่า "จงถือศีลอดแล้วท่านจะมีสุขภาพดี" ตลอดเวลายาวนานกว่า 1,400 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

อัพเดทล่าสุด