ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) คืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับการกำหนดปฎิทินฮิจเราะห์?


ดวงจันทร์นับว่าเป็นวัตถุท้องฟ้าที่เราคุ้นเคยมากที่สุดและเป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดอีกด้วย เห็นได้ชัดในตอนกลางคืนและสวยงามมากในคืนจันทร์เพ็ญ (Full Moon) หากเราสังเกตการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์บนท้องฟ้าในแต่ละคืนจะเห็นได้ว่าเฟสของดวงจันทร์ที่ปรากฏ (Phase of the moon) จะเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และจากการปรากฏเฟสของดวงจันทร์ในแต่ละวัน ชาวมุสลิมจะนำมากำหนดวันที่ และวันสำคัญของแต่ละเดือนปฏิทินฮิจเราะห์หรือปฏิทินอิสลาม 

        การนับวันและเวลาของชาวมุสลิมนั้นจะใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์กำหนดเวลา เช่นการกำหนดเวลาละหมาด 5 เวลา ในหนึ่งวันหรือ 24 ชั่งโมง ซึ่งในหนึ่งวันชาวมุสลิมจะเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และจะสิ้นสุดเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าอีกครั้ง และจะใช้ดวงจันทร์กำหนดวันที่แต่ละเดือน ดังนั้นจึงทำให้ชาวมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ทุกเดือนเพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนใหม่หรือเดือนถัดไป ซึ่งในการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) นั้นจะกำหนดให้ออกมาสังเกตการณ์ทุกๆวันที่ 29 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนปฏิทินฮิจเราะห์) หากผลการสังเกตการณ์ในวันดังกล่าวมีผู้เห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ก็จะสามารถเริ่มนับวันเวลาเริ่มต้นของเดือนใหม่ทันที (เป็นเวลาสิ่นสุดเดือนเก่าและเป็นเวลาเริ่มต้นของเดือนถัดไป) หรือเป็นเวลาเริ่มต้นวันที่ 1 เดือนถัดไป แต่หากไม่ผู้ใดสามารถเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ก็จะนับเป็นวันที่ 30 ของเดือนนั้นๆ และวันถัดไปก็จะเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ทันที่ ดังนั้นการสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ถือได้ว่าเปฺ็นสิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับชาวไทยมุสลิม เนื่องจากผลของการสังเกตการณ์ดังกล่าวจะนำไปกำหนดวันสำคัญต่างๆ ในแต่ละเดือนกอมารียะห์ หรือกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอิสลามในรอบปีฮิจเราะห์

รูปที่ 1 ภาพฮีลาล (hilal) เดือนซอฟาร ฮ.ศ.1438 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เครดิตภาพ: SAN JOSE

        ปฏิทินฮิจเราะห์หรือปฏิทินอิสลามถือว่าเป็นปฏิทินแบบจันทรคติอย่างสมบูรณ์ จะใช้ดวงจันทร์เป็นหลักในการกำหนดเดือนกอมารียะห์ 12 เดือน ในแต่ละเดือนจะมีเพียงแค่ 29 วันหรือ 30 วัน (ในการกำหนดจำนวนวันแต่ละเดือนจะใช้ผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เป็นหลัก) และในรอบปีของปฏิทินฮิจเราะห์จะแค่ 354 - 355 วัน ซึ่งจะต่างกันกับปฏิทินไทยสากลจะเป็นแบบสุริยะจันทรคติ โดยในหนึ่งปีจะมี 365 หรือ 366 วัน ดังนั้นเมื่อนำระบบแบบปฏิทินฮิจเราะห์มาเทียบกับระบบปฏิทินไทยสากลก็จะเห็นได้ว่าในรอบปีปฏิทินฮิจเราะห์จะเลื่อนเร็วขึ้นปีละ 11 - 12 วัน และในปีฮิจเราะห์ศักราชปีนี้ (ฮ.ศ.1438) วันเริ่มต้นเดือนใหม่ (เดือนกอมารียะห์) จะตรงกับวันที่เท่าไรเมื่อเทียบกับปฏิทินไทยสากลจะขึ้นอยู่กับผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในแต่ละเดือนกอมารียะห์ หรือคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี

รูปที่ 2 คำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี กำหนดวันที่ 1 ของเดือนมูฮัรรอม ฮิจเราะห์ศักราช 1438 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2559

1. เดือนมุฮัรรอม (Muharam) ฮ.ศ.1438 

        จากคำประกาศให้ชาวไทยมุสลิมออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อจะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ หรือวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งผลการสังเกตการณ์ในวันดังกล่าวได้มีผู้ที่สามารถเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal) สำนักจุฬาราชมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ในปีฮีจเราะห์ศักราช 1438 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2559 จากประกาศดังกล่าวนี้ (รูปที่2) ชาวไทยมุสลิมจะสามารถกำหนดวันสำคัญต่างๆ ของเดือนมุฮัรรอมได้อีกด้วย เช่น วันอาซูรอ หรือวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรามปีนี้ก็จะตรงกับ วันอังคารที่  11 ตุลาคม พ.ศ.2559 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกไปสังเกตจันเสี้ยวแรก (Hilal) อีกครั้งในช่วงเวลาเย็น ของวันที่ 29 มุฮัรรอม ฮ.ศ. 1438 ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนซอฟาร (เดือนที่2)

 

วันที่ 30 ตุลาคม 2559                                            วันที่ 31 ตุลาคม 2559  

รูปที่ 3 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 30 - 31 ตุลาคม 2559

2. เดือนซอฟาร (Safar) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 3 แสดงให้เห็นว่าวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2559 บริเวณประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ดังนั้นในค่ำคืนวันดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559 ก็จะเป็นวันที่ 30 เดือนมูฮัรราม (เดือนที่1) ฮ.ศ.1438  แลัวเมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559 ชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเวลาเริ่มเดือนใหม่ทันที่ หรือเริ่มต้นเดือนซอฟาร (เดือนที่ 2)  ดังนั้นวันที่ 1 เดือนซอฟาร ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 และชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อคือ ช่วงเวลาเย็นวันที่ 29 เดือนซอฟาร ซึ่งจะตรงกับวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนถัดไป (เดือนที่3) คือเดือนรอบิอุล เอาวัล 

 

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2559                                วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559

รูปที่ 4 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 29 - 30 พฤศจิกายน 2559

3. เดือนรอบิอุล เอาวัล (Rabiul Awal) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 4 แสดงให้เห็นว่า วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2559 บริเวณประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนซอฟาร (เดือนที่2) ฮ.ศ.1438 ฉะนั้นชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเวลาเริ่มเดือนใหม่เดือนรอบิอุล เอาวัล (เดือนที่3) เมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนรอบิอุล เอาวัล ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 และชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันเสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไป ในวันที่ 29 เดือนรอบิอุล เอาวัล ฮ.ศ.1438 (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2559 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนของเดือนถัดไป (เดือนที่4) คือเดือนรอบิอุล อาเคร

        เดือนรอบิอุล เอาวัล หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนเมาลิด (Mawlid al-Nabi) ถือได้ว่าเป็นเดือนสำคัญอีกเดือนของชาวมุสลิม เนื่องจากเป็นเดือนเกิดของท่านศาสดามุฮัมมัด ซึ่งนักวิชาการศาสนาอิสลามมีความเห็นตรงกันว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด เกิดในในเมืองมักกะห์ ในวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบีอุล เอาวัล และเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมจะได้จัดงานถวายความรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด ในพิธีจะมีการนำประวัติของท่านศาสดามากล่าวถึงเป็นโวหารสดุดี มีทั้งการกล่าวด้วยร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งจะการอ่าน ซัลญี หรือหนังสือ อัล-บัร-ซันญี (หนังสือประวัติท่านศาสดามูฮัมหมัด) วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณท่านศาสดาผู้มีพระคุณ และเพื่อสอนให้เยาวชนได้รู้จักบุคคลสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การอ่านดูอาขอพรจากองค์อัลเลาะ

 

วันที่ 29 ธันวาคม 2559                                          วันที่ 30 ธันวาคม 2559

รูปที่ 5 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 29 - 30 ธันวาคม 2559

4. เดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir) ฮ.ศ.1438

      จากรูปที่ 5 แสดงให้เห็นว่า วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2559 บริเวณประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก หรือฮิลาล (Hilah) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2559 และวันรุ่งขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2559 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนรอบิอุล เอาวัล (เดือนที่ 3) ฮ.ศ.1438 ฉะนั้นชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเวลาเริ่มเดือนใหม่เดือนรอบิอุล อาเคร (เดือนที่ 4) เมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2559 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนรอบิอุล อาเคร ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2559 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนรอบิอุล เอาวัล ฮ.ศ.1438 (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งจะตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 5) คือ เดือนญามาดีล อาวัล

 

วันที่ 28 มกราคม 2560                                          วันที่ 29 มกราคม 256

รูปที่ 6 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 28 - 30 มกราคม 2560

5. เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าใน วันเสาร์ ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก หรือฮิลาล (Hilah) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้น วันวันอาทิตย์ ที่ 29 มกราคม พ.ศ.2560 จะตรงกับวันที่ 30 เดือนรอบิอุล อาเคร ฮ.ศ.1438 ฉะนั้นชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเวลาเริ่มเดือนใหม่หรือเริ่มนับวันที่ 1 เดือนญามาดีล อาวัล (เดือนที่ 5) เมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2560 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนญามาดีล อาวัล ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตกันในวันที่ 29 เดือนญามาดีล อาวัล ฮ.ศ.1438  ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 6) คือเดือนญามาดีล อาเคร

รูปที่ 7 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

6. เดือนญามาดิล อาเคร (Jamadul Akhir) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 7 แสดงให้เห็นว่าในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก หรือฮิลาล (Hilah) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนดังกล่าวและวันรุ่งขึ้นจะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่หรือเริ่มนับวันที่ 1 เดือนญามาดีล อาเคร จึงสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนญามาดีล อาเคร ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนญามาดีล อาเคร (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน7) คือเดือนรอญับ

 

วันที่ 28 มีนาคม 2560                                          วันที่ 29 มีนาคม 2560

รูปที่ 8 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 28 - 29 มีนาคม 2560

7. เดือนรอญับ (Rajap) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่า วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้น วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2560 ก็จะเป็นวันที่ 30 เดือนรอบิอุล อาเคร ฮ.ศ.1438 ฉะนั้นชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ เดือนรอญับ (เดือนที่ 7) เมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2560 หรือจะสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนรอญับ ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ครั้งต่อไปจะสังเกตกันในวันที่ 29 เดือนรอญับ  ซึ่งจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 8) คือเดือนชะบาน

รูปที่ 9 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 27 เมษายน 2560

8. เดือนชะบาน (Shaban) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 9 แสดงให้เห็นว่าในวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้นจะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนชะบาน (เดือน 8) จึงสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนชะบาน ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 เดือนชะบาน ฮ.ศ.1438 (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งจะตรงกับวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่ 9) คือเดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวมุสลิม ดังนั้นทุกๆวันที่ 29 เดือนชะบานชาวไทยมุสลิมจะร่วมกันออกมาสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในเวลาเย็นวันดังกล่าว ซึ่งผลของการสังเกตการณ์จันทร์เสียวแรกในครั้งนี้จะเป็นผลเพื่อการประกาศวันที่จะเริ่มต้นถือศีลอดเดือนรอมฎอนหรือประกาศเริ่มเดือนรอมฎอนนั้นเอง

รูปที่ 10 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

9. เดือนรอมฎอน (Ramadan) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 10 แสดงให้เห็นว่าในเวลาเย็นหรือเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  ของวันดังกล่าว ดังนั้นในเวลาคำคืนวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้นจะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่หรือเริ่มนับวันที่ 1 เดือนเรอมฎอน (เดือน 9) และเป็นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะเริ่มต้นการถือศีลอดเดือนรอมฎอนของปีนี้  จึงสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1438 ปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตในวันที่ 29 รอมฎอน ซึ่งจะตรงกับวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน10) คือเดือนเชาวัล และกำหนดวันอิดฎิ้ล ฟิฏตรี (วันฮารีรายอ) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวัล

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2560                                      วันที่ 25 มิถุนายน 2560

รูปที่ 11แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 24 - 25 มิถุนายน 2560

10. เดือนเชาวัล (Shawwal) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 11 แสดงให้เห็นว่าวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2560 ก็จะเป็นวันที่ 30 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1438 หรือวันสุดท้ายของการถือศีลอดเดือนรอมฎอน ฉะนั้นชาวไทยมุสลิมจะเริ่มนับวันที่ 1 เดือนเชาวัล หรือวันอิดฎิ้ล ฟิฏตรี (วันฮารีรายอ) เมื่อเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันที่ 25 มิถุนายน 2560 หรืบจะสรุปได้ว่าวันที่ 1 เดือนเชาวัล (เดือนที่10) หรือวันอิดฎิ้ล ฟิฏตรี (วันฮารีรายอ) ประจำปี ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2560 ซึ่งจะเป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ประจำปีของชาวมุสลิม และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปจะสังเกตวันที่ 29 เดือนเชาวัล จะตรงกับวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2560 (ช่วงเวลาเย็น) เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือนที่11) คือเดือนซุลกอดะห์

รูปที่ 12 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 24 กรกฎาคม 2560

11. เดือนซุลกอดะห์ (Zul Qadah) ฮ.ศ.1438

        จากรูปที่ 12 แสดงให้เห็นว่าวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าหรือคืนวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนซุลกอดะห์ (เดือน 11) หรือสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนซุลกอดะห์ ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2560 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไป จะสังเกตวันที่ 29 เดือนซุลกอดะห์ (ช่วงเวลาเย็น) ซึ่งจะตรงกับวันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2560 เพื่อที่จะกำหนดวันเริ่มต้นเดือนถัดไป (เดือน12) คือเดือนซุลฮิจญะฮ์ และกำหนดวันอิดฎิ้ล อัฎฮา (วันฮารีรายอ ฮัจญี) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์

รูปที่ 13 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล)  วันที่ 22 สิงหาคม 2560

12. เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) ฮ.ศ.1437

        จากรูปที่ 13 แสดงให้เห็นว่าในวันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2560 บริเวณพื้นที่ประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในช่วงเย็นหรือเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันดังกล่าวได้ ดังนั้นในเวลาคำคืนวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2560 และวันรุ่งขึ้นจะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่หรือเริ่มนับเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือน 12) หรือสรุปได้ว่า วันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ.1438 จะตรงกับวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2560 ดังนั้นวันอิดฎิ้ล อัฎฮา (วันฮารีรายอ ฮัจญี) ประจำปี ฮ.ศ.1438 ปีนี้ ก็จะตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2560 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ.1438 และวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อเพื่อที่จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ หรือกำหนดวันเริ่มต้นเดือนมูฮัรรอม (เดือนที่1) ปีฮีจเราะห์ศักราชใหม่ (ฮ.ศ.1439) จะสังเกตช่วงเวลาเย็นของวันที่ 29 เดือนซุลฮิจญะฮ์   ซึ่งจะตรงกับวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ.2560

ตารางที่ 1 ตารางเปรียบเที่ยบวันเริ่มต้นเดือนใหม่ปฏิทินฮิจเราะห์ ประจำปี ฮ.ศ.1438 กับปฏิทินไทยสากลประจำปี 2559 - 2560

ลำดับที่

เดือนปฏิทินฮิจเราะห์

วันที่ เดือนปฏิทินไทยสากล

1

วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (Muharam)

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2559

2

วันที่ 1 เดือนซอฟาร (Safar)

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2559

3

วันที่ 1 เดือนรอบิอุล เอาวัล (Rabiul Awal)

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559

4

วันที่ 1 เดือนรอบิอุล อาเคร (Rabiul Akhir)

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2559

5

วันที่ 1 เดือนญามาดิล อาวัล (Jamadul Awal)

วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2560

6

วันที่ 1 เดือนญามาดิล อาเคร (Jamadul Akhir)

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

7

วันที่ 1 เดือนรอญับ (Rajap)

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2560

8

วันที่ 1 เดือนชะบาน (Shaban)

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2560

9

วันที่ 1 เดือนรอมฎอน (Ramadan)

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2560

10

วันที่ 1 เดือนเชาวัล (Shawwal)

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2560

11

วันที่ 1 เดือนซุลดอดะห์ (Zul Qadah)

วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2560

12

วันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah)

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2560

        *หมายเหตุ การกำหนดเวลาเริ่มต้นดือนกอมารียะห์ หรือวันที่ 1 ของเดือนปฏิทินฮิจเราะห์จะใช้ผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เป็นหลัก หรือยึดผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี 

เรียบเรียงโดย

รอยาลี  มามะ

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อัพเดทล่าสุด