รอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม


รอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของ ชาวมุสลิม

รอมะฎอน (อาหรับ: رمضان‎) การสะกดอื่นๆ รอมดอน รอมาดอน รอมะดอน รอมฎอน คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป้นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือการละหมาดตะรอเวียะฮฺในยามค่ำของเดือนนี้

การถือศีลอดเป็นมุขบัญญัติ 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือที่มุสลิมเรียกว่ารุก่นอิสลาม ศีลอด หรือที่เรียกว่า "การถือบวช" ตามการเรียกที่คนไทยนิยมเรียกกัน เป็นศีลคล้ายๆ ศีล 5 ของพี่น้องชาวพุทธ แต่ศีลของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะแล้วจำเป็น (วายิบ) ต้องปฏิบัติศีลข้อนี้โดยเคร่งครัด ยกเว้นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ คนเดินทาง เหล่านี้ยกเว้น การถือศีลอด นั้นก็หมายความว่า บังคับกับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น

ในหนึ่งปีจะมีการถือศีลอดบังคับนี้เพียงหนึ่งเดือนคือเดือนรอมฎอน เดือนในอิสลามนับทางจันทรคติ ค่ำจึงมาก่อนวัน และเป็นไปตามข้อเท็จจริง กล่าวคือตะวันลับขอบฟ้าคือค่ำ ตรงกับวันอะไรก็เป็นค่ำคืนของวันนั้น หนึ่งเดือนจะมี 29 กับ 30 วัน

ฉะนั้นการกำหนดเดือนจึงอาศัยการดูดวงจันทร์เป็นสำคัญ การเห็นจันทร์เสี้ยวแรกนั้นหมายถึงค่ำนั้นเป็นค่ำของวันใหม่และขึ้นเดือนใหม่ด้วย ปัจจุบันความรู้ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้ามาก เราสามารถคำนวนการมีของจันทร์เสี้ยวได้อย่างแม่นยำ การดูจันทร์เสี้ยวจึงกำหนดองค์ศาและมุมได้อย่างชัดเจน เมื่อมีการคำนวนอายุของดวงจันทร์ กำหนดมุมและองค์ศาได้ การดูจึงไม่ยากอีกต่อไป

การถือศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ (ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น) ไปจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดช่วงกลางวัน ผู้ที่ถือศีลอดจะกินหรือดื่มสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย ยกเว้นน้ำลาย จะเป็นน้ำสักหยดก็ไม่ได้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องยากมากๆ เพราะเราแค่อดข้าวมื้อเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ไหวเสียแล้ว มีคำถามว่าทำไมมุสลิมอดได้ ถ้าจะตอบแบบไม่ต้องให้ถามต่อ ก็ตอบว่า "เพราะศรัทธา"

มีมุสลิมไม่ถือศีลอดหรือไม่ ? ตอบว่า "มี" ถ้าไม่ถือศีลอดด้วยข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่ปัญหา บางท่านก็อดไม่ได้ อาจจะด้วยศรัทธาหย่อนยาน เบาความนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่ถือศีลอดด้วยเหตุใดก็ตาม ในช่วงเดือนรอมฎอน ศาสนาก็ไม่อนุญาตให้ท่านมาเดินกินดื่มโชว์ชาวบ้านเขา ถ้าเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลาม คนนี้ถูกจับแน่ๆ อย่างเช่น ประเทศไทยถ้าใช้กฎหมายพุทธ คนดื่มเหล้าถูกจับแน่นอน

สมมุติเบดูอินไปกินข้าวจนอิ่ม นึกขึ้นได้ว่า กำลังถือศีลอด อย่างนี้เสียหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่เสีย แต่ต้องหยุดกินทันที การกระทำที่ไร้สติ หลงลืม ไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นความผิด แต่ไม่ใช่แกล้งลืม

การถือศีลอด ไม่ได้หมายความว่า ไม่กิน ไม่ดื่มเท่านั้น แต่หมายถึงการงดเว้น ในอบายมุขทุกประเภท ถือศีลอดแต่นั่งนินทาชาวบ้าน อันนี้ผิดการถือศิลอดเขามีปัญหาแน่ ฉะนั้น การมีเพศสัมพันธ์ การลักขโมย ฯลฯ เป็นสิ่งต้องห้าม เป้าหมายของการถือศีลอดนั้น พระผู้เป็นเจ้า อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์ว่า "เพื่อให้เกิดความยำเกรง" จึงสรุปได้ว่า หากมุสลิมไม่ถือศีลอด ด้วยกับไม่มีเหตุจำเป็น นั้นหมายความว่า มุสลิมคนนั้นไม่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าเลย

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่พระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ได้ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรก ซึ่งคัมภีร์นี้มุสลิมถือว่าเป็นพระดำรัสของพระเจ้า (กาลามุลลอฮ์) มิใช่เป็นคำของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) และในค่ำคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนเป็นค่ำคืนแห่งเกียรติยศ (ลัยละตุลก็อดรฺ) ที่หากทำความดีตรงกับคืนนั้นจะมีความดีเท่ากับได้ทำเป็นพันเดือน (หรือประมาณ 80 ปีกว่า) การทำความดีอาสา (สุนัต) ได้ผลบุญเท่ากับทำความดีภาคบังคับ (ฟัรดู) ฉะนั้นเดือนนี้ศาสนาจึงสนับสนุนให้ทำความดี บริจาคทาน ช่วยเหลือคนยากจน ขัดสน เด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนที่ด้อยกว่า

นอกจากนี้ การอ่านพระมหาคัมภีร์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ เราจึงเห็นมุสลิมโดยทั่วไปจะอ่านคัมภีร์ เรื่องการอ่านคัมภีร์นี้เป็นสิ่งที่จำเป็น คนมุสลิมแม้จะแปลคัมภีร์ไม่ได้แต่จะอ่านคัมภีร์ได้เป็นส่วนมาก เด็กๆทุกคนจะมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้ที่เรียกว่าฟัดูอีนหรือตาดีกา ในภาคใต้ ฉะนั้นมุสลิมเกือบทุกคนจะอ่านพระคัมภีร์ได้

นี่คือความสำคัญของเดือนนี้ นี่คือคำตอบว่าทำไมมุสลิมจึงให้ความสำคัญกับเดือนนี้มาก ความจริงเมื่อถึงเดือนรอมฎอน มุสลิมทุกคนน่าจะหลีกหนี ไม่อยากให้เดือนนี้มาถึงเพราะต้องอด แต่ตรงกันข้ามมุสลิมทุกคนกลับรอคอยเดือนนี้ด้วยความยินดี จะสังเกตุว่าในชุมชนมุสลิมจะคึกคัก ค่ำคืนจะสว่างไสว ในมัสยิด (สุเหร่า) จะมีคนมาทำความดี (อิบาดะฮ์) กันอย่างมากมาย ดึกดื่น

แต่ว่าวิถีชีวิตก็เป็นไปตามปกติ ใครทำงานอะไรก็ทำอย่างนั้น มิใช่ว่าพอถือศีลอดแล้ว นั่งงอมืองอเท้า ไม่ทำมาหากิน อย่างนี้ก็ถือว่าผิด

การถือศีลอดได้ฝึกและสอนให้มีความอดทน มีเมตตา เห็นอกเห็นใจ คนยากจนหิวโหย ความหิวที่เกิดจากการถือศิลอดจะทำให้ระลึกถึงคนยากจนที่หิวโหย เมื่อก่อนที่เราอิ่มเราจะนึกถึงคนที่หิวไม่ได้ว่ามันทรมานอย่างไร แต่เมื่อเราได้อดอย่างนี้เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า คนที่หิวนั้นทรมานเช่นไร ?

ท่านศาสดากล่าวว่า "ท่านจงถือศีลอด แล้วท่านจะสุขภาพดี" มีแพทย์หลายท่านได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้ ยอมรับว่าการที่ร่างกายได้หยุดพักแบบจริงๆ อย่างนี้ทำให้โรคบางอย่างหายไป ร่างกายได้มีโอกาสซ่อมแซม เฉกเช่นเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องมาตลอดไม่เคยหยุดพักเลย ได้หยุดเสียบ้างก็จะดี การหยุดไม่กินไม่ดื่มเลยจริงๆ ทำให้กระเพราะอาหารได้พักผ่อน โรคบางโรคหายได้เช่นโรคกระเพาะอาหาร

คนเรากินอาหาร 3 มื้อก็จริง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วกินตลอดวัน กระเพาะอาหารต้องทำงานตลอดเวลา เป็นต้นเหตุให้ร่างกายเกิดโรคสารพัด อย่างในปัจจุบัน การหยุดกินเสียบ้างก็จะทำให้ร่างกายได้พักผ่อน

เมื่อสิ้นเดือนรอมะฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า อีดุลฟิฏริหรือ วันอีดเล็ก

ในปี พ.ศ.2549 เดือนรอมะฎอน (ฮ.ศ.1427) เริ่มเมื่อวันที่ 23 กันยายน (ซาอุดีอาระเบีย, อ่าวเปอร์เซีย และบางส่วนของในตะวันออกกลาง) และวันที่ 24 กันยายน ในที่อื่นๆ (รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของตะวันออกกลาง) โดยมีกำหนดถึงวันที่ 23 ตุลาคม

อัพเดทล่าสุด