20 ฟัตวา ว่าด้วย การถือศีลอดและเดือนรอมฎอน


2,485 ผู้ชม

20 ฟัตวา (คำชี้ขาดประเด็นปัญหาศาสนา) ว่าด้วย การถือศีลอดและเดือนรอมฎอน...


20 ฟัตวา (คำชี้ขาดประเด็นปัญหาศาสนา) ว่าด้วย การถือศีลอดและเดือนรอมฎอน

คำจำกัดความ

ฟัตวา (الفتوى) คือ คำชี้ขาดประเด็นปัญหาศาสนา ซึ่งทำการตอบโดยอุละมาอ์ผู้รู้ที่มีความรู้ทางศาสนาเป็นอย่างดี โดยผู้ที่ทำการฟัตวานั้น เราจะเรียกว่า มุฟตี (المفتي)

ตัวอย่าง
- เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ ได้ทำการฟัตวา ว่าการสูบบุหรี่นั้น ถือว่า "หะรอม"
นั่นคือ เชคอับดุลอะซีซ ได้ชี้ขาดว่า การสูบบุหรี่นั้นหะรอม (ส่วนนี้คือคำฟัตวา) ส่วนเชค บิน บาซ นั้น เรียกว่า (มุฟตี) นั่นเอง

วัลลอฮุอะอฺลัม (والله أعلم)

แปลว่า อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง มักใช้กล่าวลงท้ายการตอบปัญหาศาสนา โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่แน่ใจ หรือไม่ชัดเจนในหุก่ม เมื่อตอบไปแล้ว ก็จะลงท้ายด้วยคำว่า "วัลลอฮุอะอลัม" หรือ "วัลลอฮุอะลัม บิศเศาะวาบ" (อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดีถึงคำตอบที่ถูกต้อง)
ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง ที่ผู้ที่ทำการตอบปัญหา หรือพูดคุยกันในเรื่องประเด็นปัญหาศาสนา พึงปฏิบัติ

(1) - จะทราบได้อย่างไรว่าเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน?

ถาม : เราจะทราบได้อย่างไรว่าเข้าสู่เดือนรอมฎอน?

ตอบ : ด้วย 2 วิธี คือ

- มองเห็นเดือน ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า
(فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ)
"ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น" อัลบะเกาะเราะฮฺ : 185
ดังนั้น เมื่อมีการยืนยันจากผู้ที่เชื่อถือได้ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

- เดือนชะอฺบานครบ 30 วัน

(ฟัตวาเชค ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

(2) - นอนเยอะในช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอน

ถาม : ในเดือนรอมฎอนนั้น หากว่าหลังจากที่เราทานอาหารสุหูรฺและละหมาดฟัจญรฺเสร็จ เรานอนยาวถึงเวลาละหมาดซุฮรฺ เมื่อละหมาดซุฮรฺเสร็จก็นอนต่อจนถึงอัศรฺก็ตื่นละหมาดแล้วนอนต่อถึงมักริบ กระทำเช่นนี้การถือศีลอดของเราถือว่าใช้ได้ไหม?

ตอบ : การถือศีลอดในกรณีนี้ถือว่าใช้ได้ แต่การที่คนเรานอนตลอดทั้งวันนั้นถือเป็นความบกพร่องประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมจะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองให้ มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอาน หรือ การศึกษาหาความรู้ เป็นต้น

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ เล่ม 1 หน้า 129)

(3) - การทานอาหารสุหูรฺเป็นผลดีต่อการถือศีลอด

ถาม : คนที่ไม่ทานสุหูรฺนั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ไหม?

ตอบ : การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ เพราะการทานสุหูรฺนั้นไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้การถือศีลอดนั้นใช้ได้ แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (มุสตะหับ) เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :
( تَسَحَّرُوا فإنّ في السحُور بَركةً )
ความว่า " พวกท่านจงทานสุหูรฺเถิด แท้จริงแล้วการทานสุหูรฺนั้นนำมาซึ่งบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) " บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม

(ฟัตวาเชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ จากหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)

(4) - กลืนน้ำลายขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบหุก่มการกลืนน้ำลายในขณะถือศีลอด

ตอบ : เป็นสิ่งที่กระทำได้ ฉันไม่พบว่ามีอุละมาอฺท่านใดเห็นต่างไปจากนี้ เนื่องจากเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลาย ส่วนเสมหะและเสลดนั้นหากออกมาถึงช่องปากแล้วจำเป็นต้องคายออกมา และไม่อนุญาตให้กลืนเข้าไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต่างจากน้ำลาย วะบิลลาฮิตเตาฟีก

(ฟัตวาเชค บินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 3 หน้า 251)

(5) - การใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด

ถาม : มีบางคนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ไม้สิวากขณะถือศีลอด เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เสียการถือศีลอด ไม่ทราบว่าเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่? และเวลาใดที่เหมาะสำหรับการใช้สิวากในเดือนรอมฎอน?

ตอบ : การหลีกเลี่ยงการใช้สิวากในขณะถือศีลอดนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐาน เนื่องจากการใช้สิวากนั้นถือเป็นสุนนะฮฺดังที่ปรากฎในหะดีษเศาะหีหฺ

(السواك مطهرة للفم ومرضاة للرب)
ความว่า "การใช้สิวากนั้น เป็นการทำให้เกิดความสะอาดในช่องปาก และทำให้เกิดความพอพระทัย ณ พระผู้เป็นเจ้า"

ซึ่ง ส่งเสริมให้กระทำทุกเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการอาบน้ำละหมาด,เมื่อจะทำ การละหมาด,ตื่นจากนอน หรือเข้าบ้าน เป็นต้น ไม่ว่าจะขณะถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม และไม่เป็นการทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าไม้สิวากนั้นจะมีรสชาติและทิ้งร่องรอยในน้ำลาย หรือใช้แล้วเกิดมีเลือดไหลออกจากเหงือกหรือไรฟัน เช่นนี้แล้วก็ไม่อนุญาตให้กลืนกินสิ่งเหล่านั้น

(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)

(6) - การกินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ

ถาม : อะไรคือหุก่มของการกินหรือดื่มขณะถือศีลอดด้วยความลืมตัว?

ตอบ : ผู้ที่กินหรือดื่มขณะถือศีลอดโดยที่เขาไม่ได้เจตนานั้น การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้ แต่ทันทีที่เขานึกขึ้นได้จำเป็นต้องคายออกมาทันทีแม้ว่าจะเป็นเพียงอาหารแค่ คำเดียว ซึ่งหลักฐานที่ระบุว่าการถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้นั้น ได้แก่หะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
(من نسي وهو صائم فأكل أو شرب فليتم صومه فإنما أطعمه الله وسقاه)
ความ ว่า : "ผู้ใดเผลอกินหรือดื่มในขณะถือศีลอด ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไปแท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ทรงประทานอาหารและเครื่องดื่ม แก่เขา" บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม

(ฟัตวาเชค อิบนฺ อุษัยมีน ในฟิกฮุลอิบาดาต)

(7) - การใช้ยาห้ามประจำเดือนในเดือนรอมฎอน

ถาม : อนุญาตให้ใช้ยาห้ามประจำเดือนเพื่อให้สามารถถือศีลอดได้ทั้งเดือนหรือไม่?

ตอบ : สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการดีที่มุสลิมะฮฺจะได้ถือศีลอดพร้อมๆกับคนอื่นและไม่ต้องถือ ศีลอดชดภายหลัง ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อตัวเธอ เนื่องจากสตรีบางคนเมื่อใช้ยาชนิดนี้แล้วจะทำให้เกิดอาการแพ้

(ฟัตวาเชคบินบาซ ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน เล่ม 15 หน้า 201)

(8 ) - การชิมอาหารขณะถือศีลอด

ถาม : การชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอดทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : อนุญาตให้ใช้ลิ้นทำการชิมรสชาติอาหารขณะถือศีลอดได้ แต่ชิมเสร็จแล้วต้องคายออกมาและไม่กลืนกินอาหารนั้นเข้าไป หากผู้ใดเจตนากลืนอาหารเข้าไปถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นเสีย ทั้งนี้ ปากนั้นถือเป็นอวัยวะภายนอก การชิมอาหารจึงไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย เปรียบได้กับการบ้วนปากในการอาบน้ำละหมาด

(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน จาก www.islamway.com)

(9) – การอาเจียน

ถาม : การอาเจียนทำให้เสียการถือศีลอดหรือไม่?

ตอบ : หากว่าเจตนาทำให้อาเจียนก็ถือว่าเสีย แต่ถ้าหากอาเจียนออกมาเองโดยไม่เจตนา เช่นนี้ก็ไม่เสีย ซึ่งหลักฐานที่ระบุถึงประเด็นนี้ได้แก่หะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

"من ذرعه القيء فلا قضاء عليه، ومن استقاء عمداً فليقض"
ความ ว่า "ผู้ใดที่อาเจียนออกมาโดยไม่ได้เจตนานั้นไม่มีการชดสำหรับเขา และผู้ใดที่เจตนาทำให้อาเจียน เขาก็จงชดเสีย" บันทึกโดย อบู ดาวุด และตัรมิซียฺ

หากรู้สึกเหมือนจะมีอะไรออกมา จำเป็นต้องพยายามกลั้นไว้ หรือ พยายามทำให้ออก? คำตอบคือ อย่าพยายามทำให้อาเจียนออกมา และอย่าพยายามกลั้น เพราะถ้าเจตนาให้อาเจียนออกมาการถือศีลอดก็เสีย และถ้าหากพยายามกลั้นก็อาจจะเกิดโทษได้ เพราะฉะนั้นให้ทำตัวตามสบาย หากอาเจียนออกมาโดยไม่ได้เจตนา ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(10) - ตัดผม ตัดเล็บ ขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบว่าการตัดผม หรือตัดเล็บขณะถือศีลอดทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : การตัดผม ตัดเล็บ โกนขนรักแร้ หรือขนในที่ลับ ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ซาอุฯ)

(11) - บ้วนปากหลังจากทานสุหูรฺ

ถาม : จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบ้วนปากหลังการทานสุหูรฺ? ถ้าหากทานแล้วไม่ได้บ้วนปากจนถึงเช้าจะทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : การบ้วนปากหลังทานสุหูรฺไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องกระทำแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งเสริมให้บ้วนปากเพื่อรักษาความสะอาดในช่องปาก

(ฟัตวาเชคอับดุรฺเราะหฺมาน อัลอัจญฺลาน)

(12) - หุก่มการอาบน้ำขณะถือศีลอด

ถาม : ขณะถือศีลอดหากเรารู้สึกเหนื่อยหรือร้อน สามารถอาบน้ำหรือใช้น้ำราดศีรษะหรือตัวได้หรือไม่?

ตอบ : สามารถกระทำได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยใช้น้ำราดศีรษะเนื่องจากอากาศร้อน หรือกระหายขณะที่ท่านศีลอด ท่านอิบนุ อุมัรฺ ก็เคยทำให้ผ้าของท่านเปียกชุ่มขณะถือศีลอดเพื่อลดความร้อนหรือความกระหาย การที่เสื้อหรือตัวเปียกน้ำไม่มีผลต่อการถือศีลอด เนื่องจากน้ำไม่ได้เข้าไปในร่างกาย

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(13) - เลือดออกตามไรฟัน

ถาม : มีเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือก ทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : เลือดที่ออกตามไรฟันไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด แต่จำเป็นต้องระวังเท่าที่ทำได้ที่จะไม่กลืนเข้าไป เลือดกำเดาก็เช่นเดียวกัน

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(14) - กลืนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน

ถาม : หากมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันแล้วเรากลืนเข้าไป เช่นนี้ถือว่าทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ : ในกรณีนี้จำเป็นต้องคายเศษอาหารเหล่านั้นออกมา และถ้าหากเขาเจตนากลืนมันเข้าไป เช่นนี้ทำให้การถือศีลอดของเขาเสีย แต่ถ้ากลืนกินเข้าไปด้วยความไม่รู้ หรือลืมตัว ก็ไม่เป็นไร อนึ่ง จำเป็นที่มุสลิมต้องรักษาความสะอาดในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงการถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม

(ฟัตวาเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน)

(15) - ใช้น้ำหอมขณะถือศีลอด

ถาม : อยากทราบหุก่มการฉีดน้ำหอมขณะถือศีลอด

ตอบ : ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน)

(16) – การเจาะเลือด

ถาม : การเจาะเลือดขณะถือศีลอดเพื่อนำไปตรวจ มีผลทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่?

ตอบ 1 : อัลหัมดุลิลลาฮฺ หากว่าเลือดที่เจาะไปนั้นโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่ถ้าหากว่าเป็นการเจาะเลือดในปริมาณมาก ก็ควรถือศีลอดชดสำหรับวันนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งระหว่างอุละมาอฺ และเป็นการเผื่อ

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 263)

ตอบ 2 : การตรวจเลือดเช่นนี้ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่เป็นสิ่งที่อนุโลมให้กระทำเพราะความจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดตามบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด

(ฟัตวาเชคบินบาซ ในฟะตาวา อิสลามิยะฮฺ เล่ม 2 หน้า 133)

(17) – การถือศีลอดในวันที่สงสัยว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือไม่? (يوم الشك)

ถาม : อยากทราบหุก่มการถือศีลอดในวันที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือ 30 ชะอฺบาน?

ตอบ : ผู้ที่ถือศีลอดในวันที่สงสัยว่าเป็นวันที่ 1 รอมฎอนหรือ 30 ชะอฺบาน โดยที่ไม่ได้ทราบว่ามีการเห็นเดือนอย่างถูกต้องตามหลักการ แล้วปรากฎว่าวันนั้นเป็นวันที่ 1 รอมฎอนพอดี เช่นนี้ การถือศีลอดของเขาในวันนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เนื่องจากเขาไม่ได้ยึดหลักศาสนาในการเริ่มถือศีลอด (นั่นคือการมองเห็นเดือน) อีกทั้งยังเป็นวันที่กังขา (เยามุชชัก) ซึ่งมีหลักฐานที่ถูกต้องระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนี้ [ เช่น รายงานจากท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า " ผู้ใดถือศีลอดในวันซึ่งเป็นที่กังขา (เยามุชชัก) แท้จริงเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของอบุล กอสิม (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)" บันทึกโดยนักบันทึกทั้ง 4 ท่านอิบนุคุซัยมะฮฺกล่าวว่าเศาะหีหฺ

และ จำเป็นที่เขาต้องถือศีลอดชดสำหรับวันนี้ ซึ่งทัศนะนี้เป็นของอุละมาอฺส่วนใหญ่ เช่น ท่านอบูหะนีฟะฮฺ ท่านมาลิก ท่านชาฟิอียฺ และบรรดาสานุศิษย์ของท่านเหล่านั้น วะบิลลาฮิตเตาฟีก วะศ็อลลัลลอฮุอะลานะบิยินามุหัมมัด วะอาลิฮี วะเศาะหฺบิฮี วะสัลลัม

(ฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อวิจัยทางวิชาการและฟัตวา ซาอุฯ เล่ม 10 หน้า 117-118)

(18) - ประโยชน์ทางด้านสังคมของการถือศีลอด?

ถาม : การถือศีลอดมีประโยชน์ทางด้านสังคมหรือไม่?

ตอบ : การถือศีลอดมีประโยชน์ทางด้านสังคมหลายประการด้วยกัน เช่น ทำให้มุสลิมมีความรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นประชาชาติเดียวกัน ทุกคนต่างถือศีลอดในช่วงเวลาเดียวกัน คนรวยจะสำนึกในเนียะมัตของอัลลอฮฺ รับรู้ถึงความรู้สึกของคนจน และสงสารพวกเขา และในเดือนรอมฎอนความชั่วร้ายในหนทางของชัยฏอนลดน้อยลง ความตักวายำเกรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความตักวา สังคมก็จะสงบสุข

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมฟัตวาของท่าน)

(19) – ในเดือนรอมฎอนชัยฏอนถูกล่าม แต่ทำไมเรายังเห็นคนทำบาป?

ถาม : เราต่างทราบกันดีว่าในเดือนรอมฎอนนั้นชัยฏอนจะถูกล่าม แต่ทำไมเราจึงยังเห็นผู้คนกระทำบาปกันอีก?

ตอบ : การกระทำบาปและมะศียัตที่เราเห็นในเดือนรอมฎอนนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับตัวบทที่ ว่าชัยฏอนถูกมัดหรือล่ามแต่อย่างใด เนื่องจากการที่พวกมันถูกล่ามนั้นไม่ได้บ่งบอกว่ามันจะไม่สามารถขยับเขยื้อน ตัวเลยเสียทีเดียว ดังนั้น จึงมีหะดีษบทหนึ่งระบุว่า
( تصفد فيه الشياطين، فلا يخلصون إلى ما يخلصون إليه في غيره )
ความว่า : "ในเดือนนี้ (รอมฎอน) ชัยฏอนจะถูกล่ามไว้ ดังนั้น พวกมันจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เหมือนกับที่เคยทำในเดือนอื่นๆ"

นั่น คือ ไม่ใช่ว่าพวกมันจะขยับเขยื้อนทำอะไรไม่ได้เลยเสียทีเดียว มันยังคงเคลื่อนไหว และยังหลอกล่อผู้คนให้หลงผิด เพียงแต่กำลังของมันในเดือนรอมฎอนจะไม่อยู่ในระดับเดียวกับในเดือนอื่นๆ

และปรากฎในบางรายงานซึ่งบันทึกโดยอันนะสาอียฺว่า :

( تصفد فيه مردة الشياطين )
ความว่า : "บรรดาชัยฏอนที่มีความชั่วร้ายระดับต้นๆ จะถูกล่ามตรวนไว้"

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้นลับที่จำเป็นต้องศรัทธาโดยไม่ต้องซักไซร้ให้มากความ เช่นนี้จะเป็นการดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับเรา

(ฟัตวาเชคอิบนุ อุษัยมีน ในหนังสือรวมเล่มฟัตวาของท่าน)

(20) - ถือศีลอดเพื่อลดความอ้วน

ถาม : อยากทราบหุก่มของคนที่ถือศีลอดเพื่อรักษาโรคหรือลดน้ำหนัก?

ตอบ : หากว่าเขาเนียต(ตั้งเจตนา)เพียงแค่นั้น แน่นอนว่าการถือศีลอดของเขาจะไม่มีประโยชน์ใดๆเลยในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮตะอาลาทรงตรัสไว้ว่า

( مَن كَانَ يُرِيدُ العَاجِلَةَ عَجَّلْنَا لَهُ فِيهَا مَا نَشَاءُ لِمَن نُّرِيدُ ثُمَّ جَعَلْنَا لَهُ جَهَنَّمَ يَصْلاهَا مَذْمُوماً مَّدْحُوراً ، ومَنْ أَرَادَ الآخِرَةَ وسَعَى لَهَا سَعْيَهَا وهُوَ مُؤْمِنٌ فَأُوْلَئِكَ كَانَ سَعْيُهُم مَّشْكُورا )

ความ ว่า : "ผู้ใดปราถนาชีวิตชั่วคราว (ในโลกนี้) เราก็จะเร่งให้เขาได้รับมัน ตามที่เราประสงค์แก่ผู้ที่เราปราถนา แล้วเราได้เตรียมนรกไว้สำหรับเขา เขาจะเข้าไปอย่างถูกเหยียดหยามถูกขับไส และผู้ใดปราถนาปรโลก และขวนขวายเพื่อมันอย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ชนเหล่านั้น การขวนขวายของพวกเขาจะได้รับการชมเชย" (อัลอิสรออฺ : 18-19)

(ฟัตวาอุละมาอฺ รวบรวมโดย เชคศอลิหฺ อัลมุนัจญิด)

อัพเดทล่าสุด