เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร?


5,227 ผู้ชม

จอประสาท คือ เนื้อเยื่อบางๆ ที่บุอยู่ด้านในของลูกตา ในลักษณะเดียวกับเนื้อมะพร้าวในลูกมะพร้าว ทำหน้าที่รับภาพทั้งแสงและสี


เบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร?

จอประสาทตา (Retina) และเบาหวานขึ้นจอประสาทตาคืออะไร?

จอประสาท คือ เนื้อเยื่อบางๆ ที่บุอยู่ด้านในของลูกตา ในลักษณะเดียวกับเนื้อมะพร้าวในลูกมะพร้าว ทำหน้าที่รับภาพทั้งแสงและสี ซึ่งได้จากการหักเหแสงของกระจกตาดำ (cornea) และเลนส์ (lens) เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของตากับกล้องแล้ว กระจกตาดำและเลนส์ตา จะทำงานเหมือนเลนส์กล้อง ในขณะที่จอประสาทตา ทำงานเหมือนฟิล์มกล้องนั่นเอง

ที่จอประสาทตา จะมีเส้นใยประสาทจำนวนมาก ส่งสัญญาณภาพไปรวมกันที่ขั้วประสาทตา (optic disc) และกลายเป็นเส้นประสาทตา (optic nerve) นำสัญญาณการมองเห็นไปยังสมอง และสมองจะแปลสัญญาณเหล่านี้ ทำให้เราเห็นภาพต่างๆตลอดเวลา 
เบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และส่วนประกอบอื่นๆของเลือดก็แปรปรวนไปด้วย อันจะทำลายเส้นเลือดในทุกส่วนของร่างกายผู้ป่วย 
ในคนไข้ที่มีเบาหวานนานๆ หรือมีเบาหวานไม่นาน แต่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหาขึ้นที่เส้นเลือดขนาดเล็กในจอประสาทตา เส้นเลือดขนาดเล็กเหล่านี้ บางเส้นจะเปราะแตกทำให้เกิดเลือดออก บางเส้นจะรั่วซึมทำให้จอประสาทตาบวม บางเส้นจะอุดตันทำให้จอประสาทตาขาดเลือดหล่อเลี้ยง 
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ร่างกายจะพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่มาชดเชยเส้นเลือดที่เสียหายไป เพื่อหล่อเลี้ยงจอประสาทตาแต่การสร้างเส้นเลือดใหม่ในจอประสาทตาของผู้ป่วยเบาหวาน มักได้เส้นเลือดที่ไม่สมบูรณ์ มักเปราะแตกซ้ำ ทำให้เกิดเลือดออกซ้ำๆในจอประสาทตาและในน้ำวุ้นตา และอุดตันไป อาจเหลือเป็นแผลเป็น-พังผืดบนผิวของจอประสาทตา 
กลไกเหล่านี้จะเกิดซ้ำๆ และเพิ่มความเสียหายให้กับจอประสาทตามากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้จอประสาทตาเสียหายทั้งหมด และตาบอดได้ โอกาสการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นกับการควบคุมระดับน้ำตาล และระยะเวลาที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลได้ดี และตรวจเบาหวานพบโดยยังไม่มีอาการทางร่างกายใดใด (ตรวจพบจากการตรวจเลือดประจำปี) 
– เมื่อเป็นเบาหวาน 5 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 2 ใน 10 ราย 
– เมื่อเป็นเบาหวาน 10 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 5 ใน 10 ราย 
– เมื่อเป็นเบาหวาน 15 ปี จะพบเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง 8 ใน 10 ราย 
ส่วนในผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดี หรือตรวจเบาหวานเมื่อมีอาการทางร่ายกายแล้ว (ซึ่งแสดงว่าเป็นเบาหวานมาหลายปีแล้วโดยไม่ทราบมาก่อน) หรือผู้ป่วยที่พบเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย โอกาสการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาก็จะสูงกว่านี้ 
แล้วจะวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างไร? 
ผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับการตรวจตา เพื่อค้นหาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะๆ จักษุแพทย์จะนัดหมายการตรวจครั้งต่อไป เร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเบาหวาน ความรุนแรงของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และโรคตาอื่นที่อาจตรวจพบ 
จักษุแพทย์อาจจำเป็นต้องหยอดยาขยายม่านตาผู้ป่วยบางราย เพื่อเปิดม่านตาให้กว้างพอที่ส่องกล้องผ่านรูม่านตาไปตรวจจอประสาทตา ซึ่งยาจะทำให้ตามัวลงเล็กน้อย ปรับตามแสงไม่ได้ราว 4-5 ชั่วโมง 
ในผู้ป่วยเบาหวานที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเพิ่มเติม แม้จะยังไม่ถึงกำหนดนัดหมาย เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจทำให้เบาหวานทรุดลงอย่างรวดเร็ว 
ระยะต่างๆของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา 
1. ระยะแรก (background retinopathy) ในระยะแรก จะเริ่มมีการรั่วซึม อุดตัน ของเส้นเลือดขนาดเล็กที่จอประสาทตา เส้นเลือดบางเส้นอาจโป่งพอง ทำให้จอประสาทตาบวมเป็นบริเวณ ผู้ป่วยมักไม่สังเกตอาการตามัว ยกเว้นกรณีที่บริเวณที่จอประสาทตาบวม เป็นบริเวณของจุดรับภาพ (macula) ซึ่งใช้รับภาพคมชัด 
2. ระยะที่สอง (Proliferative retinopathy) ในระยะนี้ จะมีการขาดเลือดของจอประสาทตาเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดใหม่ที่เปราะแตกมาเพื่อพยายามชดเชย แต่กลับสร้างความเสียหายในลักษณะของการเกิดเลือดออกในตา หรือเกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้บวมหรือหลุดลอกออก 
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในจอประสาทตาจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา 
1. เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดที่จอประสาทตา หรือเส้นเลือดที่สร้างใหม่ ถ้าเลือดออกไม่มากนัก ผู้ป่วยจะเห็นเงาเทาดำคล้ายหมอกลอยไปมาตามการกลอกตา แต่ถ้าเลือดมีปริมาณมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นมืดไปทั้งหมด เลือดที่ออกเล็กน้อย อาจจางไปได้เองในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เลือดที่ออกปริมาณมาก หรือออกซ้ำๆ หรือไม่จางลง อาจต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัดล้างออก 
2. จอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) มักเกิดจากการดึงรั้งของพังผืดที่จอประสาทตา เกิดในระยะที่สองของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำให้ภาพมัวและมืดลงมากหากการหลุดลอกอยู่บริเวณจุดรับภาพ ซึ่งอาจต้องการการผ่าตัดเอาพังผืดที่ดึงรั้งออก ร่วมกับการใช้แกสหรือซิลิโคนเหลวกดจอรับภาพที่ลอกให้ราบลง 
3. จุดรับภาพเสื่อมจากการขาดเลือด (macular ischemia) จุดรับภาพเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของจอประสาทตา หากจุดรับภาพเสื่อมจากการขาดเลือด จะทำให้ภาพมัวลงมาก และไม่สามารถแก้ไขกลับมาเป็นปกติได้ เรามักทำได้เพียงชะลอหรือป้องกันภาวะนี้ด้วยการใช้เลเซอร์หรือวิธีอื่นๆ 
4. ต้อหิน (glaucoma) ในรายที่เบาหวานรุกลามมาก อาจเกิดต้อหิน ความดันในตาสูงขึ้น ทำให้ประสาทตาเสื่อมลงเร็วขึ้นอีก หากไม่ได้รับการรักษา นอกจากจะมัวลงจนถึงกับบอดได้แล้ว อาจทำให้ปวดทรมาณได้มากอีกด้วย 
เราจะรักษาหรือชะลอโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างไร? 
ในส่วนของผู้ป่วยเอง 
– ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ 
– ควบคุมความดันโลหิต ในกรณีที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เนื่องจากความดันสูง ทำให้เส้นเลือดเปราะแตกง่ายขึ้น 
– งดบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กตีบตัน 
– รับการตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ 
– หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ตามัวลงอย่างรวดเร็ว, มีเงาดำลอยไปมา ควรไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัด 
– หากมีข้อสงสัย เช่น ระยะของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่เป็น, แนวทางการรักษา, พยากรณ์โรค ควรหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ 
ในส่วนของแพทย์ 
จักษุแพทย์จะประเมินระยะของโรค และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เพื่อพิจารณาทางเลือกการรักษา เช่น การฉายเลเซอร์ป้องกันเลือดออก, การฉายเลเซอร์รักษาภาวะจุดรับภาพบวม, การฉีดยาเข้าในตาหรือรอบลูกตา 
การผ่าตัด อาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อหาข้อมูลเพิ่ม อันอาจจะเป็นประโยชน์ในการบอกพยากรณ์โรค หรือช่วยตัดสินทางเลือกการรักษา เช่น การฉีดสีตรวจจอประสาทตา (fundus fluorescein angiography), การตรวจจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherent tomography) 


ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, เรื่องโดย : อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย

อัพเดทล่าสุด