โรคบาดทะยัก อาการ สาเหตุของบาดทะยัก บาดทะยักรักษาหายไหม


3,540 ผู้ชม


5 วิธีการรักษาโรคบาดทะยัก 

บาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีอันตรายร้ายแรง ในบ้านเรายังพบโรคนี้ได้เป็นครั้งคราว สามารถพบได้ในคนทุกวัย ส่วนมากผู้ป่วยจะมีประวัติมีบาดแผลตามร่างกาย (เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว มีบาดแผลสกปรก หรือขาดการดูแลแผลอย่างถูกต้อง) และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ซึ่งความสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิต ส่วนคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้วก็ยังสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่โรคนี้ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน สาเหตุของการเป็นบาดทะยัก

• เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยักเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “คลอสตริเดียมเตตานิ” (Clostridium tetani)

- ตัวเชื้อมีลักษณะเป็นรูปแท่งที่ปลายมีสปอร์ (Spore) ซึ่งเป็นจุดพักตัวของเชื้อแบคทีเรียเพื่อรอการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

- มีรูปร่างเหมือนไม้เทนนิส

- เชื้อโรคนี้มีอยู่ทั่วไปตามดิน ฝุ่น ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ (เช่น หมู ไก่ สุนัข แมว หนู วัว ควาย) รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระของคน

- ตัวเชื้อบาดทะยักสามารถถูกทำลายได้โดยง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อจะมีความทนทานต่ออุณหภูมิ (ทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 20 นาที) ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์ ฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮด์) และสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ

• เชื้อบาดทะยักสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง คือ ผ่านทางบาดแผลสด โดยการแปดเปื้อนถูกดิน ฝุ่น อุจจาระ มูลสัตว์ ฯลฯ ที่มีสปอร์ของเชื้อบาดทะยักอยู่ (ส่วนใหญ่จะเป็นบาดแผลตามผิวหนังที่มีขนาดเล็กและลึก เช่น แผลจากตะปูตำ เศษไม้ต่ำ และมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากบาดแผลอื่น ๆ เช่น แผลถลอด แผลฉีกขาด แผลถูกสัตว์กัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลในช่องปาก (ฟันผุ รักษารากฟัน ถอนฟัน) แผลผ่าตัดที่ระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐานหรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด เป็นต้น)

• เชื้อบาดทะยักสามารถผ่านทางแผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน แผลเป็นฝี ผ่านทางสายสะดือในเด็กทารกแรกคลอด (เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักและการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือทารก), แผลในช่องหู (จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก), แผลจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (มักพบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดหรือกลุ่มผู้สักลาย) และยังมีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางใด

• เชื้อจะแบ่งตัวเจริญเติบโตที่บริเวณบาดแผล ซึ่งเชื้อจะเจริญได้ดีในที่ ๆ มีออกซิเจนน้อย ได้แก่

- บาดแผลที่ลึกและแคบ เช่น บาดแผลถูกตะปูตำ แต่ก็อาจเจริญได้ในบาดแผลถลอกและบาดแผลในลักษณะอื่น ๆ ได้เช่นกัน

- สปอร์ของเชื้อก็จะงอกและผลิตสารพิษออกมา 2 ชนิด คือ เตตาโนลัยซิน (Tetanolysin) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบบทบาทที่แน่ชัดของสารพิษชนิดนี้ และสารพิษอีกชนิดที่มีบทบาททำให้เกิดโรคบาดทะยักชื่อว่า เตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin หรือ Tetanus toxin) ซึ่งสารพิษชนิดนี้เมื่อเทียบโดยน้ำหนักแล้วถือว่าเป็นสารพิษที่มีพิษรุนแรงมาก เพราะในปริมาณเพียงแค่ 2.5 นาโนกรัม (1 กรัม เท่ากับ 1 ล้านนาโนกรัม) ต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้แล้ว

• เมื่อเชื้อโรคผลิตสารพิษแล้ว สารพิษก็จะเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปตามเส้นประสาทและออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่รอยต่อกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular junction) และประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการหดเกร็ง (Spasm) และแข็งตัว (Rigidity) ในขณะเดียวก็ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ชีพจรและความดันผิดปกติ เหงื่อออกมาก หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน

ลักษณะอาการของโรคบาดทะยัก

• กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย เป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้เหมือนกับโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ

- ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง (Lockjaw) เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวเกิดการหดเกร็งและแข็งตัว ทำให้มีอาการขยับปากไม่ได้ กลืนลำบาก ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ 

- ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ หน้าอก หน้าท้อง หลัง แขนและขา ทำให้มีอาการคอแข็ง ท้องแข็ง หลังแอ่น (Opisthotonus)

- อาการชักเกร็งของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ เพียงช่วงสั้น ๆ เมื่อถูกสิ่งที่มากระตุ้น เช่น การได้ยินเสียงดัง ๆ การถูกสัมผัสตัว แสงสว่างเข้าตาจากแสงแดดหรือแสงไฟจ้า

- ขณะที่มีอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยบาดทะยักจะมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากโรคลมชัก โรคสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว และทุกครั้งที่ชักจะรู้สึกปวดมาก

- ถ้าอาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน ผู้ป่วยจะหายใจได้ลำบาก ทำให้ขาดอากาศและตัวเขียว

- ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดเกร็งและแข็งตัวอย่างรุนแรงพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เกิดความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด

- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแขนขาหดตัว หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดหัวใจหยุดเต้น มีไข้สูงมากหรือมีเหงื่อออกทั่วตัว

- บาดทะยักที่เกิดขึ้นในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประกอบกับการที่มารดาไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ เด็กทารกมักมีอาการร้องกวน ไม่ยอมดูดนม อ้าปากไม่ได้ มีการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 50-80% แต่ถ้าสามารถมีชีวิตรอดจากโรคนี้มาได้ ก็มักจะมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตและสติปัญญา

• กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่

- เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้ค่อนข้างน้อย จะมีแค่อาการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อใกล้บริเวณบาดแผลเท่านั้น ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง (พิษของเชื้อจะไม่ลุกลามเข้าสู่สมองและไขสันหลัง) มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1%

• กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือจากการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง ทำให้พิษของเชื้อเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้าและอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง

วิธีการป้องกันโรคบาดทะยัก

• กำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี แพทย์จะทำการเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล

• การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว โดยจะเป็นการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เข้าไปทำลายสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือด ด้วยการฉีดอิมมูลโกลบูลินต้านพิษบาดทะยัก (Human tetanus immune globulin – HTIG) ในขนาด 500 ยูนิต เข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว

• แต่ถ้าไม่มีอาจใช้เซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin – TAT) ในขนาด 10,000-100,000 ยูนิต โดยแบ่งฉีดเข้ากล้ามและเข้าหลอดเลือดดำ และให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ในขนาด 1.2 ล้านยูนิต ฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 100,000-200,000 ยูนิต/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 4 ชั่วโมง)

• เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง (เด็กให้ในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง) ฉีดเข้าเข้าหลอดเลือดดำนาน 7-10 วัน (แอนติบอดีที่ใช้ทำลายสารพิษนี้จะเข้าไปทำลายได้เฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทได้)

• การรักษาประคับประคองตามอาการ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาไปตามอาการที่เป็น เช่น ดูแลรักษาบาดแผล, ให้สารน้ำ เกลือแร่ และอาหาร, ให้ยากันชัก เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam)เพื่อลดการหดเกร็งและแข็งตัวของกล้ามเนื้อ แต่ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจ, ใส่ท่อหายใจในรายที่ต้องเจาะคอ, ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต, ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระต้นหัวใจ เป็นต้น

• การให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก (DTP) ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

• ผู้ป่วยบาดทะยักในระยะเริ่มแรกที่มีอาการขากรรไกรแข็งและคอแข็ง โดยที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีและไม่มีไข้ขึ้น อาจแยกไม่ได้ชัดเจนจากอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เป็นต้น

• ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว แพทย์จะรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ถ้าเกิดจากยามักมีประวัติเกิดอาการหลังการใช้ยาและอาการจะทุเลาลงได้เองเมื่อหมดฤทธิ์ยาภายใน 6-8 ชั่วโมง หรือหลังจากให้ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)

วิธีการป้องกันรคบาดทะยัก

• ในเด็กเล็กควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรนการฉีดวัคซีนบาดทะยัก ตั้งแต่อายุได้ 2, 4 และ 6 เดือน

• เพิ่มอีก 2 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นก็ให้ฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี (ส่วนในผู้ที่ไม่เคยฉีดตอนเด็กมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนดและควรฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี)

• ผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผล หากเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาแล้ว 3 ครั้งหรือมากกว่า

• ถ้าเป็นกรณีที่มีบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 10 ปี ก็ไม่ต้องฉีด

• ในกรณีที่เป็นบาดแผลอื่น ๆ เช่น บาดแผลที่แปดเปื้อนดินโคลน ฝุ่น น้ำลาย มูลสัตว์ อุจจาระคน บาดแผลจากการถูกสัตว์กัด บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผลจากอาวุธ บาดแผลจาการบดขยี้ บาดแผลจากเศษแก้วในกองขยะ บาดแผลที่ถูกตำ หรือบาดแผลที่ลึกและแคบ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) กระตุ้น 1 เข็ม แต่ถ้าได้รับการฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีด และทั้งสองกรณีไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) แต่อย่างใด

• ส่วนผู้ป่วยทั่วไปหรือในเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปที่มีบาดแผลและเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนแน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดหรือบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ขนาด 0.5 มิลลิลิตร) 1 เข็ม และต่อไปให้ฉีดซ้ำอีก 2 เข็มทุก 1 เดือน รวมเป็น 3 เข็ม นอกจากนี้ถ้าเป็นบาดแผลอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาก็ควรได้รับการฉีดยาต้านพิษบาดทะยัก (HTIG หรือ TAT) เพิ่มเติมด้วย แต่ถ้าเป็นบาดแผลเล็กน้อยและสะอาดก็ไม่ต้องฉีดยาต้านพิษบาดทะยักแต่อย่างใด

• สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หากไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนรวม 3 เข็ม โดยในเข็มแรกให้เริ่มฉีดเมื่อมาฝากครรภ์เป็นครั้งแรก ส่วนเข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 6 เดือน

• จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี (ถ้าฉีดไม่ทันในขณะตั้งครรภ์ก็ให้ฉีดหลังคลอด) ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ควรฉีดอีก 2 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน (แต่ถ้าเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม ควรให้ฉีดอีก 1 เข็ม โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน)

• จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ส่วนในกรณีที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็ม และเข็มสุดท้ายฉีดมานานกว่า 10 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม และให้ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี สำหรับในเรื่องของการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ควรคลอดกับบุคลากรที่รู้จักรักษาความสะอาดในการทำคลอด ถ้าจำเป็นต้องคลอดกันเองที่บ้านก็ควรใช้กรรไกรที่ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อแล้วมาตัดสายสะดือเด็ก และควรทำความสะอาดสะดือของเด็กทารกอย่างถูกต้องด้วย

• เมื่อมีบาดแผลที่ถูกตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที และควรพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีดป้องกันบาดทะยักตามคำแนะนำที่กล่าวมา

• เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเชื้อบาดทะยักสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ๆ มีความทนทานต่ออุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมีฆ่าเชื้อ ดังนั้นการล้างแผลเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือเบตาดีน จึงไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่บาดแผลให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำ

หลังจากที่ได้อ่านกันแล้ว ก็คงได้รับรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆของบาดทะยักกันไปแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นความรู้และประโยชน์กับผู้ที่ได้อ่าน ส่วนใครที่กำลังประสบกับปัญหาอาการบาดทะยักละก็ ก็ลองนำคำแนะนำด้านบนไปปฏิบัติตามได้เลย

https://www.thaijobsgov.com/jobs=60819

อัพเดทล่าสุด