สาวๆต้องรู้! 10 วิธี ดูแลมดลูกให้แข็งแรง


11,847 ผู้ชม

การติดเชื้อโรคทั่วไปก็สามารถทำให้เกิดอาการมดลูกอักเสบได้เช่นกัน ซึ่งเชื้อโรคทั่วไปอาจจะปนเปื้อนอยู่กับอุจจาระและปัสสาวะ



1. ทำความสะอาดให้ถูกทิศ

การติดเชื้อโรคทั่วไปก็สามารถทำให้เกิดอาการมดลูกอักเสบได้เช่นกัน ซึ่งเชื้อโรคทั่วไปอาจจะปนเปื้อนอยู่กับอุจจาระและปัสสาวะ ดังนั้น จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะหรือกลั้นอุจจาระบ่อยๆ และควรระวังการทำความสะอาดให้ดี โดยล้างจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากทวารหนักเดินทางมาทำให้ช่องคลอดและมดลูกติดเชื้อ


2. ขมิบเพื่อบริหารอุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ

การขมิบโดยการเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้นาน 1-5 วินาที แล้วผ่อนคลาย 10 วินาที ก่อนจะเริ่มเกร็งใหม่ซ้ำกันวันละ 100 ชุด โดยอาจแบ่งเป็นเซต เซตละ 20 -30 ชุดก็ได้ ระหว่างทำอย่ากลั้นหายใจ แต่พยายามหายใจให้เป็นปกติ การกระทำเช่นนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง และมดลูกไม่ต่ำ


3. ป้องกันทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายๆด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง อย่าใช้วิธีการป้องกันด้วยการหลั่งนอกหรือทานยาคุม เพราะวิธีเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % และอาจส่งผลให้คุณเกิดอาการตกขาว ปวดท้องน้อย มีไข้ มดลูกอักเสบ ปวดประจำเดือน หรือมีตกขาวเรื้อรังได้

4. ไม่ยกของหนัก
การยกของหนักไม่ได้เป็นอันตรายเพียงเฉพาะกระดูกหรือหลังเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายอย่างมากต่อมดลูก ทำให้มดลูกต่ำ และเกิดการกระทบกระเทือนต่อกระเพาะปัสสาวะได้ หากจำเป็นต้องยกของหนักควรปัสสาวะก่อน และควรยกของให้ถูกท่า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ จ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิค โยคะ ฯลฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ครั้งละประมาณ 30 นาที จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและปอดแข็งแรง ช่วยป้องกันมดลูกอักเสบและป้องกันภาวะมดลูกต่ำได้

6. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงสุดๆ แต่ก็ควรหาเวลาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาโรคที่แฝงตัวในระยะเริ่มแรก เพราะโรคภัยบางโรคอาจมีผลต่อมดลูกได้ไม่มากก็น้อย เช่น โรคเบาหวานอาจทำให้มดลูกอักเสบ ติดเชื้อหรือเป็นเชื้อราได้  ส่วนโรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคตับ หรือโรคไต ก็อาจทำให้เกิดการตกลูกจากโพรงมดลูก ประจำเดือนมามากหรือมากะปริบกะปรอยได้เช่นกัน

7. ตรวจภายในทุกครั้งที่พบความผิดปกติ
หากพบความผิดปกติ เช่น  ตกขาวมากผิดปกติ  ตกขาวมีสี มีกลิ่น มีเลือดออกผิดปกติ  ประจำเดือนมามากหรือมานานเกินไป ปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน คุณควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการผิดปกติของมดลูกได้แต่เนิ่น ๆ ก่อนที่โรคร้ายจะขยายตัวและต้องลงเอยด้วยการตัดมดลูกทิ้งไป


 

8. ไม่กินสมุนไพร ยาสตรี หรืออาหารเสริมมั่วซั่วโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
มดลูกเป็นอวัยวะภายในที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนมาก ดังนั้น การที่เราทานฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไป จึงอาจเป็นการเพิ่มการอักเสบของมดลูกได้ มีผลทำให้มดลูกโต เกิดเนื้องอก และเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้  บางคนอาจรุนแรงจนไม่สามารถมีลูกได้ และต้องตัดมดลูกทิ้งทันที

9. ทำสุขภาพกายให้แข็งแรง
เมื่อสุขภาพกายแข็งแรง โลหิตก็จะไหลเวียนไปที่มดลูกอย่างเต็มที่ และส่งผลให้อวัยวะส่วนนี้แข็งแรงตามไปด้วย  การดูแลสุขภาพกายอาจทำได้โดยการดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว หรืองดเว้นการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

10. ดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง

ความเครียดทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติ และส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติด้วย การมองโลกในแง่บวก การปล่อยวาง หรือทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรืออารมณ์  จึงมีผลอย่างมากต่อความแข็งแรงของมดลูก


หากเราสามารถดูแลมดลูกได้ถูกวิธี โอกาสการเป็นโรคร้ายจนต้องตัดมดลูดทิ้งก็สามารถเกิดขึ้นได้น้อย สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่สาวๆทุกรุ่นจำเป็นต้องดูแลและห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและจะได้มีทายาทสืบต่อวงศ์ตระกูลได้สมใจ


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : healthmeplease.com

อัพเดทล่าสุด