10 สัญญาณร้ายที่ไม่ควรรอ และไม่ควรมองข้าม


นพ.กฤษดา ศิรามพุช,พบ.(จุฬาฯ)
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

ในแต่ละวันที่ตรวจคนไข้ทำให้ได้รับรู้เรื่องพิเศษหลายเรื่องอยู่เสมอครับ บางเรื่องเข้าขั้นน่าอัศจรรย์เสียด้วยซ้ำ ด้วยอาการป่วยแต่ละกรณีถ้าดูให้ดีแล้วจะเห็นถึงความพิเศษ

แม้แต่โรค “หวัด” ธรรมดาๆถ้าดูให้ดีก็จะเห็นความน่าสนใจ ที่ไม่เหมือนกันก็เพราะผมเห็นของผมเองว่าคนไข้แต่ละคนมีความพิเศษเพราะเขาได้ดูแลสุขภาพมาในแบบต่างๆกัน มีการใช้ชีวิตมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเจ็บป่วยแต่ละครั้งจึงต้องดูแลรายละเอียดเรื่องการกิน-อยู่ที่ผ่านมาของคนคนนั้นด้วย

จึงจะช่วยกันได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะโรคที่ดูเหมือนธรรมดาจะกลับกลายเป็น “โรคร้าย” ได้ถ้าเราประมาทครับ เช่น คัดจมูกบ่อยๆคิดว่าเป็นแค่หวัดแต่ที่จริงอาจกำลังมีหนองเซาะอยู่ในไซนัสเต็มกะโหลก(Pansinusitis) ปวดหัวประจำทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน ทั้งที่จริงอาจมีความดันสูงและเส้นเลือดพองใกล้แตกเต็มแก่ หรือจุกแน่นลิ้นปี่ไปหาหมอทุกทีก็ได้แต่ยาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน แล้ววันดีคืนดีก็หัวใจวายไปเพราะอาการจุกนั้นคืออาการเตือนของ “หัวใจขาดเลือดรุนแรง(Severe Ischemic Heart Disease)”

นี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มของโรคธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเท่านั้น ที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่ามันทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าแก้ไม่ทัน ยังมีโรคอีกมากที่ชวนให้ตกหลุมพรางมองเป็นโรคดาษๆที่เคยพบในคนไข้เยอะแยะทั่วไปแต่จริงแล้วไม่ใช่เลย

ดังนั้นการดูคนไข้อย่างละเอียดเป็น “รายคน” จึงเป็นสิ่งจำเป็นแม้จะต้องอุทิศเวลาในการตรวจคนหนึ่งถึงครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะมันจะช่วยคนไข้ได้ถึงขั้น “รอดตาย” ครับ

และจะยิ่งดีถึงที่สุดถ้าเราทุกคนเองรู้ทัน “ได้ก่อนใคร” ไม่จำเป็นต้องรอกว่าจะถึงมือหมออย่างเดียว จะช่วยได้ทั้งตัวเรา และคนที่เรารักด้วย โดยเฉพาะกับสัญญาณที่จะช่วยชีวิตได้ดังต่อไปนี้ ที่ทุกเสี้ยววินาทีมีค่าที่สุดครับ

1) พูดไม่ชัด อาการพูดอ้อแอ้ราวกับลิ้นคับปาก จู่ๆพูดไม่ชัด บางท่านร่วมกับหน้าเบี้ยวเล็กๆ ให้ระวังผู้ร้ายที่ “สมอง” อาจมีได้ทั้งเส้นเลือดตีบหรือแตกแทรกอยู่ในกะโหลกของท่านโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าทิ้งไว้นานจะถึงกับ “อัมพาต” ได้นะครับ

2) ตาดับ ปุบปับเกิดมองไม่ชัดหรือ “มืดลง” ราวกับปิดม่านให้ระวังเรื่องฉุกเฉินของลูกตาครับ ท่านอาจมีเส้นเลือดในตาอุดตันเฉียบพลันหรือมีจอตาลอกหลุดผลัวะออกมาได้ โดยเฉพาะในผู้มีเบาหวานและความดันสูง ให้รีบไปห้องฉุกเฉินก่อน “โลกมืด” อย่างถาวรครับ

3) เจ็บอก เจ็บเล็กๆน้อยพอแปลบปลาบเวลาหายใจยังไม่เป็นไรครับ เจ็บที่อันตรายสุดคือเจ็บแบบ “แน่นเหมือนถูกทับ” พบร่วมกับอาการเหนื่อยและทำท่าจะ “วูบ” อย่างนี้มีเสี่ยงหัวใจขาดเลือดจนหยุดเต้นฉับพลันนะครับ ที่ต้องระวังอีกอันคือ “จุกลิ้นปี่” คล้ายโรคกระเพาะก็มาจากหัวใจได้

4) จุกลิ้นปี่ มาต่อทันทีจากเจ็บอกเพราะเป็นอาการจุกที่อัพเลเวลเป็น “จุกมฤตยู” ไปได้ง่ายๆถ้ามัวแต่คิดแต่ว่าเป็นโรคกระเพาะ ให้สังเกตว่ากินยากระเพาะเท่าไรก็ไม่หาย แถมยังเป็นบ่อยขึ้นในช่วงหลัง และร่วมกับการออกแรงเหนื่อยด้วย

5) ปวดท้องทะลุหลัง อาการปวดแน่นท้องจนร้าวทะลุหลังไม่ได้เกิดจากการทุรยศแทงข้างหลังแต่อย่างใด แต่เป็นอาการฉุกเฉินของ “ถุงน้ำดี” ที่อาจมีอุดตันหรืออักเสบรุนแรงขึ้นครับ รวมถึง “ตับอ่อนอักเสบ” ที่ทำให้ปวดรุนแรงร้าวรานเช่นนี้ได้ เป็นภาวะที่ต้องรีบรู้ให้ทันก่อนครับ

6) ปวดไส้ติ่ง เรื่องนี้ใครก็ทราบว่าฉุกเฉิน แต่ไส้ติ่งอักเสบในหลายคนยังเดินเหินได้ปกติ มีสัญญาณปวดที่ควรระวังคือ ท้องแข็งเกร็ง,กดพุงแล้วเจ็บเวลาปล่อยมือ, เดินกระเทือนเจ็บรุนแรงจนเดินไม่ไหวและมีไข้ซึมลง พวกนี้คือ “ไส้ติ่งแตก” ครับ

7) ไม่ถ่ายไม่ระบาย เรื่องนี้ดูเหมือนง่ายจนไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน แต่จริงๆแล้วมีข้อให้สังเกตอยู่ 3 ประการคือ ไม่ถ่าย,ไม่ระบายลมและคลื่นไส้อาเจียน ทั้ง 3 อาการนี้คือภาวะฉุกเฉินของลำไส้อุดตันที่อาจเกิดจาก “มะเร็ง” ก็ได้ครับ

8 ) ปวดหัว,ตามัวและคลื่นไส้ เป็นอันตรายที่ซ่อนอยู่ใน “กะโหลก” ครับ นี่คืออาการของสมองที่มีปัญหาว่ามีความผิดปกติซุกอยู่ภายใน และเป็นชนิดที่ต้อง “รีบแก้” ให้ทันท่วงทีด้วยอย่าง เส้นเลือดสมองตีบ,ตกเลือดในสมองหรือเนื้องอกก้อนโตครับ

9) ปวดท้องเหมือนจะเป็นลม ระวังเรื่อง “ตกเลือด” ในช่องท้องให้ดีโดยเฉพาะท่านที่รับประทาน “แอสไพริน” เป็นประจำจะทำให้มีเลือดรั่วอยู่ในท้องได้ทีละน้อยๆ และเมื่อกลายเป็นแผลใหญ่ภายในก็จะทำให้ถึงกับหน้าซีดเหงื่อออกและ “ช็อค” ได้

10) น้ำหนักลดมากกว่า 2 กิโลต่อเดือน เป็นสัญญาณอันตรายถึงเรื่อง “มะเร็ง” ที่ทำให้น้ำหนักลดได้มาก เป็นเรื่องที่ต้องทราบเร็วอีกเหมือนกันครับ ส่วนอีกโรคที่เป็นได้คือ “ไทรอยด์เป็นพิษ” ซึ่งมีผลให้น้ำหนักลดมากทั้งที่ไม่ได้เบื่ออาหารครับ

11) คิดถึงเรื่องตายบ่อยๆ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินในคนไข้ซึมเศร้าครับ สังเกตสิครับว่าคุณหมอจะถามว่าเคยรู้สึกเบื่อโลกหรือคิดถึงเรื่องตายบ่อยแค่ไหน นั่นละครับคุณหมอท่านจะประเมินว่าเข้าข่าย “ฉุกเฉิน” ต้องแอดมิตเพียงใด

นอกจาก 11 อาการที่ว่านี้ยังมีสัญญาณฉุกเฉินแบบมโนสาเร่อีกมาก ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวคนไข้เป็นรายไป เป็นต้นว่าคนไข้เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือรูมาตอยด์ก็อาจต้องระวังภาวะฉุกเฉินจากติดเชื้อรุนแรง โลหิตเป็นพิษ หรือคนที่ป่วยด้วยโรค “ลดความอ้วน” ก็อาจ “ช็อค” ได้จากการล้วงคออาเจียนจนขาดเกลือแร่แล้วหัวใจหยุดเต้น

สิ่งเหล่านี้ขึ้นกับเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวก็คือ “การสังเกต” ครับ หลายครั้งที่คนไข้สังเกตรู้ได้ไวกว่าคุณหมอเสียอีก เพราะเราอยู่กับตัวเองหรือคนที่เรารักได้ใกล้ชิดกว่า ซึ่งนั่นจะช่วยคุณหมอได้มาก

ที่มา: www.bangkokvoice.com

อัพเดทล่าสุด