ช็อกโกแลตซีส ความจริงที่ (ผู้หญิง) ต้องใส่ใจ


2,309 ผู้ชม

สาเหตุของการเกิด ช็อกโกแลตซีส นั้น ในทางการแพทย์เชื่อว่า เกิดจากเลือดระดูหรือเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ อธิบายกันง่ายๆ ก็คือ แทนที่เลือดจะออกมาทางช่องคลอดของผู้หญิงตามปกติ


ช็อกโกแลตซีส ...เรื่องจริงที่อย่ามองข้าม (ผู้หญิง)
โดย:เวฬุวัน


         
          ซีส (Cyst) คือ ถุงน้ำ " ช็อกโกแลตซีส " หมายถึงถุงน้ำของรังไข่แบบหนึ่ง ที่มีของเหลวอยู่ภายในและมีลักษณะเหมือนช็อคโกแลตเหลว ซึ่งความจริงก็คือ ถุงเลือดนั่นเอง


          สาเหตุของการเกิด ช็อกโกแลตซีส นั้น ในทางการแพทย์เชื่อว่า เกิดจากเลือดระดูหรือเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ อธิบายกันง่ายๆ ก็คือ แทนที่เลือดจะออกมาทางช่องคลอดของผู้หญิงตามปกติ อาจจะมีเลือดระดูส่วนหนึ่ง มีการไหลย้อนกลับเข้าไปผ่านทางหลอดมดลูก แล้วก็เข้าไปในช่องท้องไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขึ้น


          และเนื่องจากลักษณะเซลล์ของถุงน้ำในเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกอันหนึ่ง เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะลอกตัวออกมา ถุงน้ำดังกล่าวก็จะมีเลือดออกในถุงด้วย เมื่อเลือดหยุดหรือหมดประจำเดือนในแต่ละเดือนแล้วนั้น ระบบร่างกายก็จะทำการดูดซึมน้ำกลับมาที่ถุงทำให้เลือดในถุงเข้มข้น และเมื่อเลือดค้างอยู่ในถุงน้ำนานๆ จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกว่า "ถุงน้ำช็อกโกแลต" ดังนั้น ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป ถุงน้ำก็จะมีเลือดออกเพิ่มขึ้นๆ นั่นหมายถึง ถุงน้ำก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่จะใหญ่เร็วมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนคนนั้นว่า จะดูดน้ำกลับได้เร็วเท่าไหร่ ถ้าร่างกายดูดน้ำกลับได้เร็ว ถุงน้ำนั้นก็จะโตขึ้นแบบช้าๆ
          นอกจากจะเรียกว่า ช็อกโกแลตซีส หรือถุงน้ำช็อกโกแลตแล้วทางการแพทย์ยังเรียกว่า "เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่" (Endometriosis) ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นก็ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปว่ามันเป็นโรคดียวกันหรือเปล่า


          สำหรับอาการเจ็บปวดหรืออาการอย่างไร ที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็น ช็อกโกแลตซีส นั้นเป็นอีกประเด็นที่หลายคนยังสงสัยอยู่ เนื่องจากหลายคนอาจไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า การปวดท้องนั้นมาจากการปวดประจำเดือนแบบปกติ หรือปวดเพราะเป็นโรคนี้กันแน่ ทางการแพทย์กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคืออายุหากอายุไม่มากแล้วปวดท้อง ส่วนใหญ่จะเป็นการปวดท้องแบบธรรมดา แต่กรณีที่ไม่เคยปวดประจำเดือนมาก่อน พออายุ 30 ปีขึ้นไปก็มีอาการปวดประจำเดือนขึ้นมาและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป ก็มีโอกาสที่จะเป็นข้อบ่งชี้ที่ชวนให้สงสัยว่า อาจเป็นถุงน้ำช็อกโกแลตได้เช่นกัน

          เอาล่ะ...มาถึงคำตอบที่ว่า หากเป็น ช็อกโกแลตซีส เมื่อแต่งงานแล้วทำไมจึงหาย ก็เพราะว่าเมื่อผู้หญิงแต่งงานและมีการตั้งครรภ์ ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ 9 เดือนจนถึงหลังคลอดอีก 3-6 เดือน จะเป็นช่วงที่ไม่มีประจำเดือน การที่ไม่มีประจำเดือนนี้เองที่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นการรักษาได้ทางหนึ่ง เพราะถุงน้ำจะฝ่อตัวไปเอง
          เรื่องของการผ่าตัดนั้น แพทย์จะทำการพิจารณาถึงความมากน้อยของอาการเช่น ถุงน้ำใหญ่มากจนเกิดอาการปวดรุนแรงหรือไปกดอวัยวะข้างเคียง ส่งผลไปถึงส่วนอื่นๆ ก็อาจจะตัดสินใจให้ผ่าตัด


ใครเสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์บ้าง
          ผู้ ที่สามารถเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ คือ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว พบได้ไม่เกิน 5% แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์มากกว่าคนกลุ่มอื่น คือ
          ผู้ที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุน้อย
          ผู้ที่มีประจำเดือนรอบสั้น คือ มีมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง
          ผู้ที่ประจำเดือนออกมามาก หรือนานกว่า 7 วัน
          ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะทางมารดา พี่สาว น้องสาว หากเคยเป็นโรคนี้ จะมีเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 3-10 เท่า
          ผู้ที่มีความผิดปกติของทางออกประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเยื่อพรหมจารีเปิด


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือไม่
          หลายคนไม่สามารถแยกแยะออกว่า การปวดท้องนั้นเป็นการปวดท้องประจำเดือนปกติ หรือปวดเพราะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ แต่เราสามารถแยกได้โดยโรคนี้มักพบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หรือวัยก่อนหมดประจำเดือน หากปกติไม่เคยปวดท้องประจำเดือนมาก่อน แต่พออายุ 30 ปีขึ้นไปแล้วกลับมีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ และปวดมากขึ้นทุกเดือน ถึงขนาดต้องหยุดเรียน หยุดงาน ให้สงสัยว่า คุณอาจเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจ
          อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีอาการปวดเลย ยกเว้นเมื่อขนาดของซีสต์โตมาก ๆ แล้วไปกดอวัยวะข้างเคียง หรือแตกออกมา ซึ่งซีสต์มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ราว ๆ 0.3-0.7%


วิธีการตรวจหาช็อกโกแลตซีสต์
          เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อคลำหาก้อน หรืออาจจะตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการทำอัลตราซาวด์ เพื่อหาถุงน้ำในรังไข่ แต่บางครั้งก้อนมีขนาดเล็กมา มองไม่เห็น จึงต้องใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง โดยเปิดแผลเล็ก ๆ บริเวณใต้สะดือแล้วสอดกล้องขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร-1 เซนติเมตรลงไป เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีก้อนงอกบริเวณมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ลำไส้ หรือไม่ ซึ่งวิธีนี้เป็นการตรวจที่แน่นอนที่สุด

อัพเดทล่าสุด