มะเร็งไต (Kidney cancer)


2,048 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ไต  ระบบโรคไต  ระบบมะเร็งวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ปัสสาวะเป็นเลือด 

บทนำ

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะคู่ ซ้าย ขวา อยู่ในช่องท้อง แต่อยู่นอกเยื่อบุช่องท้อง (อวัยวะในเยื่อบุช่องท้อง คือ ตับ ม้าม และลำไส้) มีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ควบคุมความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ช่วยในการควบคุมความดันโลหิต และช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก

ไต จะอยู่ในช่องท้อง 2 ข้างของกระดูกสันหลัง ในตำแหน่งประมาณตั้งแต่กระดูกอกข้อที่ 12 ถึงกระดูกเอวข้อที่ 3 โดยไตขวาอยู่ต่ำกว่าไตซ้ายเล็กน้อยจากการกดของตับ ทั้งนี้ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว มีความยาวประมาณ 11-14 เซนติเมตร(ซม.) กว้างประมาณ 6 ซม. และหนาประมาณ 4 ซม. ไตผู้ชายใหญ่กว่าของผู้หญิง ในผู้ใหญ่ผู้ชายจะหนักประมาณ 125-170 กรัม และผู้ใหญ่ผู้หญิงจะประมาณ 115-155 กรัม ซึ่งส่วนยอดไตทั้งสองข้างคือ ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อสำคัญ

โรคมะเร็งไตเป็นโรคพบได้ประปรายในผู้ใหญ่ แต่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งชนิดของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่และในเด็กจะต่างกัน ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะโรค มะเร็งไตในผู้ใหญ่เท่านั้น โดยจะเรียกว่า “โรคมะเร็งไต

ผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งไตในสหรัฐอเมริกา พบได้ประมาณ 30,000-50,000 รายต่อปี สำหรับประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบโรคมะเร็งไตในผู้ชายประมาณ 1.2-1.5 คนต่อประชากรชาย 100,000 คน ต่อปี และในผู้หญิง ประมาณ 0.6-0.7 คน ต่อประชากรหญิง 100,000 คน ต่อปี

โรคมะเร็งไต พบเป็นประมาณ 2% ของโรคมะเร็งทั้งหมดของร่างกาย พบในผู้ ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า โดยพบได้สูงในช่วงอายุ 55-60 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบโรคได้

โรคมะเร็งไตโดยทั่วไป มักพบเกิดเพียงข้างเดียวของไต โอกาสเกิดในไตซ้ายและในไตขวาใกล้เคียงกัน แต่พบได้ทั้งสองข้างประมาณ 2-5%

โรคมะเร็งไตมีกี่ชนิด?

โรคมะเร็งไตมีได้หลากหลายชนิด แต่เกือบทั้งหมด คือ ชนิดคาร์ซิโนมา (Carci noma) ซึ่งชนิดพบบ่อย คือ ชนิด รีนัลเซลล์หรือเรียกย่อว่า อาร์ซีซี (Renal cell carci noma, RCC หรือ Hypernephroma) และชนิด ทรานซิเชินนัล หรือเรียกย่อว่า ทีซีซี (Transitional cell carcinoma, TCC)

โรคมะเร็งไตชนิด อาร์ซีซี เป็นโรคมะเร็งของเซลล์เนื้อเยื่อไตที่มีหน้าที่กรองปัสสาวะ และสร้างฮอร์โมนต่างๆ ส่วนชนิด ทีซีซี เป็นโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อเมือกของกรวยไต ซึ่งบางคนเรียกชื่อเฉพาะว่า “ โรคมะเร็งกรวยไต (Renal pelvis carcinoma)” ซึ่งกรวยไต มีหน้าที่เก็บกักปัสสาวะก่อนปล่อยลงท่อไต เป็นมะเร็งชนิดที่มักเกิดร่วมกับโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และของท่อไต

โรคมะเร็งไตเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งไต แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • ในมะเร็งไตชนิดอาร์ซีซี ปัจจัยเสี่ยง คือ
    • การได้รับสารพิษบางชนิดในสิ่งแวดล้อมสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิต ภัณฑ์ต่างๆจากน้ำมันปิโตรเลียม และแร่ธาตุบางชนิด เช่น Cadmium และแร่ใยหิน (Asbestos)
    • การกินยาแก้ปวดที่มีตัวยา phenacetin ต่อเนื่อง
    • การกินยาฮอร์โมนเพศบางชนิด
    • การสูบบุหรี่
    • โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
    • ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด
  • ในมะเร็งไตชนิดทีซีซี ปัจจัยเสี่ยงบางชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงชนิดเดียวกับของมะเร็งชนิด อาร์ซีซี ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ
    • อาจจากภาวะแวดล้อมบางชนิด เพราะมักพบโรคในคนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในคนชนบท
    • โรคนิ่วในไต
    • การสูบบุหรี่
    • การได้รับสารบางอย่างเรื้อรังจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น Benzi dine และ Napthylamine
    • การกินยาแก้ปวดที่มีตัวยา phenacetin ต่อเนื่อง
 

โรคมะเร็งไตมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยของโรคมะเร็งไต คือ ไม่มีอาการเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก แต่เมื่อโรคเริ่มลุกลามจึงมีอาการได้ อาการพบบ่อยของมะเร็งไต คือ ปวดหลังด้านเป็นโรคเรื้อรัง ร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด (อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะ) และไตด้านเกิดโรคโตจนคลำได้เป็นก้อนเนื้อ

ในผู้ป่วยที่เกิดโรคร่วมกับโรคนิ่วในไต และ/หรือโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะมีอาการของนิ่วของอวัยวะทั้งสองร่วมด้วยได้

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ และการตรวจภาพไตด้วยอัลตราซาวด์และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) หลังจากนั้นจะผ่าตัดไต เพื่อการรักษาและเพื่อตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้เพราะการตัดชิ้นเนื้อไตก่อนผ่าตัด มักมีผลข้าง เคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้สูง เนื่องจากไต เป็นอวัยวะอยู่ลึกและมีลำไส้ซ้อนอยู่ และยังอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสลำไส้ทะลุเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือหลอดเลือดทะลุเกิดเลือดออกในช่องท้อง นอกจากนั้น เมื่อมีก้อนเนื้อในไต การรักษา คือ การผ่าตัดไตอยู่แล้ว

เมื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาระบุว่าเป็นมะเร็ง การตรวจเพิ่มเติมคือ การตรวจเพื่อ ประเมินระยะโรคและเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) ดูการทำงานของไขกระดูก ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาล ดูการทำงานของตับและไต และดูปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย การเอกซเรย์ปอดดูโรคของปอด หัวใจ และโรคมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด และการตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูโรคลุกลาม แพร่กระจายเข้า ตับ ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆในช่องท้อง

โรคมะเร็งไตมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งไต แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ

 

โรคมะเร็งไตรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งไต คือ การผ่าตัด และในรายโรคลุกลาม อาจให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด นอกจากนั้น มีรายงานการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้าในโรคมะเร็งไตชนิดอาร์ซีซี ระยะที่ 4 ชนิดมีโรคแพร่กระจาย ได้ผลบรรเทาอาการผู้ป่วย และอาจยืดอายุผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ อย่างไรก็ตาม ยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งไตอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งไต ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ ใช้วิธีรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในผู้สูงอายุ

 

โรคมะเร็งไตรุนแรงไหม?

โอกาสรักษาได้หายของโรคมะเร็งไต ขึ้นกับ ระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

โดยทั่วไปโรคมะเร็งไตทั้ง 2 ชนิดมีอัตรารอดที่ 5 ปีหลังการรักษา ในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 80% ระยะที่ 2 ประมาณ 70% ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50% ระยะที่ 4 ชนิดโรคยังไม่แพร่กระจาย ประมาณ 0-10% และระยะที่ 4 เมื่อโรคแพร่กระจายแล้ว ประมาณ 0-5%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไตไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไต ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งไตอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งไต แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
ที่มา  https://haamor.com/th/มะเร็งไต/

อัพเดทล่าสุด