ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies)


1,084 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หู  ระบบหูคอจมูก 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

บทนำ

ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies) คือ โรคหรือภาวะผิดปกติทางหู ที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติรุนแรงฉับพลัน/เฉียบพลัน ที่ควรต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างรีบด่วนทัน ที ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง ภาวะเร่งด่วนทางหูในเรื่องของ

ใบหูฉีกขาด (Pinna laceration)

  • ปฐมพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? มีแนวทางรักษาอย่างไร?

    ใบหูฉีกขาด มักเกิดจากของมีคมบาด ฟัน หรืออุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์

    การปฐมพยาบาล การพบแพทย์ และแนวทางการรักษา ได้แก่

    • ล้างแผลให้ทั่วและให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ 0.9% (Normal saline) หรือน้ำประปาสะอาด และใส่ยาปฏิชีวนะแบบครีม หรือขี้ผึ้ง (Antibiotic ointment) เสร็จแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด หลังจากนั้น รีบพบแพทย์ฉุกเฉิน
    • ถ้าใบหูฉีกขาดไม่มากแพทย์จะเย็บแผลให้เลย เช่น บริเวณที่ขาดหรือหาย ไปน้อยกว่า 2 เซนติเมตร แต่ถ้ามากกว่า 3 เซนติเมตร อาจต้องเอาเนื้อเยื่อที่อื่นมาเย็บซ่อม
    • ถ้าใบหูหลุดออกมา ให้ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ 0.9% ถ้าเป็นน้ำเกลือที่แช่เย็นยิ่งดี และถ้าหาได้ ควรแช่ใบหูในภาชนะที่บรรจุสารน้ำริงเกอร์ที่ผสมเฮปพาริน (Heparinized Ringer’s lactate solution) และผสมยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Penicillin เป็นต้น แล้วพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินพร้อมหูที่หลุดออกมา ถ้าไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ การรักษาจะมีประสิทธิภาพกว่า เพราะมีทีมแพทย์ผ่าตัดประจำ

ถ้าหาน้ำยาไม่ได้ ควรห่อใบหูที่ล้างแล้วด้วยผ้าเปียกสะอาด ใส่ในภาชนะสะ อาดปิดมิดชิด แล้วแช่ภาชนะนั้นในน้ำแข็ง แล้วรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อนำมาให้แพทย์เย็บต่อใบหู

สิ่งแปลกปลอมเข้าหู (Ear foreign body)

  • ปฐมพยาบาลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

    ผู้ป่วยที่มาด้วยประวัติมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู จะมีอาการ หูอื้อ ปวดหู บางครั้งมีเลือดออก จากหูด้วย สิ่งแปลกปลอมแบ่งเป็น

    • สิ่งที่มีชีวิต
    • สิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่พบบ่อย คือ เมล็ดพืช

    ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ควรทำให้เสียชีวิตก่อน ด้วยยาหยอดหู หรือน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพืชที่สะอาด เสร็จแล้วรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

    ถ้าเป็นเมล็ดพืชเล็กๆ ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉินแต่แรก เพราะการพยายามเอาเมล็ดพืชออก จะก่ออาการบาดเจ็บต่อหูและอาจถึงขั้นแก้วหูทะลุได้ ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยได้จากการตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหู แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้กระบอกฉีดยา ติดท่อดูดของเหลวแล้วค่อยๆฉีดของเหลวเข้าในรูหู เพื่อดันเมล็ดพืชให้หลุดออกมา

แก้วหูทะลุจากแรงกระทบฉับพลัน (Acute perforated ear drum)

  • มีอาการอย่างไร? ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? 

    ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจากแรงกระทบฉับพลัน/เฉียบพลับ มักเกิดจากหูได้รับอุบัติเหตุ เช่นแคะ/แยงหูเข้าไปลึกๆ หรือเกิดแรงอัด หรือเสียงดังรุนแรง เช่น จากแรงระเบิด

    ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อทันที ปวดหู มีเลือดไหลจากหู ซึ่งโดยทั่วไปรูทะลุจะปิดเองได้ภาย ใน 3 เดือน แนวทางการรักษา คือ การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ยาแก้ปวดกินตามอาการ ห้ามหยอดยาหรือสารใดๆเข้าไปในช่องหู เพราะจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อของหูชั้นกลาง

    เมื่อได้รับบาดเจ็บที่หูทันทีและมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ต่อจากนั้นปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ และพบแพทย์ตามนัดเสมอ

    ทั้งนี้ ระหว่างรอแก้วหูปิดเองตามธรรมชาติ เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีหนองจากรูหู หูได้ยินลดลง ปวดหู และ/หรือปวดศีรษะมาก ควรรีบพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ก่อนนัดเสมอ

หูดับฉับพลัน (Sudden hearing loss)

หูดับฉับพลัน/เฉียบพลัน หมายถึง การที่ประสาทหูชั้นในเกิดการเสื่อมทันทีทันใด ส่งผลให้ไม่ได้ยิน หรือได้ยินน้อยลงกว่าปกติทันที (มากกว่า 30 เดซิเบล ใน 3 ความถี่คลื่นเสียงที่ติด ต่อกัน) และอาการเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่ง 85-90% ไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลงเล็กน้อย หรืออาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมาก จนไม่ได้ยินในหูข้างที่เป็นเลยก็ได้ การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงเสีย อาจเป็นเพียงชั่วคราว (เช่นได้ยินเสียงดังทำให้หูอื้อ และสักพักหูจะหายอื้อ หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาขับปัสสาวะ เมื่อยาดังกล่าวหมดฤทธิ์ อาการหูอื้อดังกล่าวก็จะหายไป) หรืออาจเป็นถาวรก็ได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป

โรคนี้พบได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 40-70 ปี และมักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว โอกาสเกิดกับข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน โดยพบในเพศชายเท่ากับในเพศหญิง

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉิน ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

    • หูดับฉับพลันมีสาเหตุจากอะไร?

      หูดับฉับพลันมีทั้งที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ และเกิดโดยทราบสาเหตุ

      • ไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจาก
        1. การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคงูสวัด โรคคางทูม และโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้มีการอักเสบของประสาทหู และเซลล์ประสาทหู ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติไป ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถผ่านเข้าสู่หูชั้นในทางกระแสเลือด ผ่านทางน้ำไขสันหลัง หรือ ผ่านเข้าหูชั้นในโดยตรง (โรคหัด และไข้หวัดใหญ่ มักทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง ส่วนโรคคางทูม มักทำให้ประสาทหูเสื่อมเพียงข้างเดียว)
        2. การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในลดลง ทำให้เซลล์ประสาทหูขาดเลือด และทำหน้าที่ผิดปกติไป หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน หรือเลี้ยงเซลล์ประสาทหูนั้น ไม่มีแขนงจากหลอดเลือดใกล้เคียงมาช่วย เมื่อมีการอุดตันจะทำให้เซลล์ประสาทหูตาย และเกิดประสาทเสื่อมได้ง่าย โดยหลอดเลือดอาจอุดตันจาก
          1. หลอดเลือดแดงหดตัวเฉียบพลัน จากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย หรือไม่ทราบสาเหตุ
          2. หลอดเลือดเสื่อมตามวัย แล้วมีไขมันมาเกาะตามหลอดเลือด (Arteriosclero sis) และมีโรคบางโรคที่อาจทำให้หลอดเลือดดังกล่าวตีบแคบมากขึ้นร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรค ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
          3. เลือดข้น จากภาวะขาดน้ำ และการขาดออกซิเจนเรื้อรัง
          4. มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด (Embolism หรือ Thrombosis) อาจเกิดจากโรคหัวใจ หรือจากการบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆ
          5. การอักเสบของหลอดเลือด (Vasculitis) จากสาเหตุต่างๆ เช่น ในโรคเอสแอลอี (SLE)
        3. การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง (Perilymphatic fistula) ซึ่งอาจเกิดจากการเบ่ง/การออกแรงมาก การสั่งน้ำมูกแรงๆ การไอแรงๆ หรือการที่มีความดันในสมองสูงขึ้น ทำให้ประสาทหูชั้นในเสื่อม และมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียงดังในหู/หูอื้อ
      • ทราบสาเหตุ โดยเกิดได้จาก
        1. การบาดเจ็บ
          1. การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลางหรือกระดูกบริเวณกกหูหัก (Fracture of temporal bone) ทำให้มีการบาดเจ็บของเส้น ประสาทหูชั้นใน หรือมีเลือดออกในหูชั้นใน
          2. การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน (Stapedectomy) เพื่อให้การได้ยินดีขึ้น หรือการผ่าตัดเนื้องอกของหูชั้นกลาง หรือของประสาทการทรงตัว (Acoustic neuroma)
          3. การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศ (Barotrauma) เช่น ดำน้ำ ขึ้นที่สูง หรือเครื่องบิน หรือได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ (Acoustic trauma) เช่น เสียงประทัด เสียงระเบิด หรือเสียงปืน
        2. เนื้องอก เช่น เนื้องอกของประสาททรงตัว ที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน (เช่นมีเลือดออกในก้อนเนื้องอก) จนอาจไปกดทับประสาทหูได้
        3. การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) จากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง(Acute or chronic otitis media) จากเชื้อซิฟิลิส หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (เชื้อแบคทีเรียมักเข้าสู่หูชั้นในทางน้ำไขสันหลัง ซึ่งมักจะทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง)
        4. สารพิษและผลข้างเคียงจากยา ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของ Salicylate ยาขับปัสสาวะ ซึ่งหลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อ หรือหูตึงมักจะดีขึ้น และอาจกลับมาเป็นปกติ ยาบางชนิดอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้ เช่น ยาต้านจุลชีพ/ ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Aminoglycosides เช่น Streptomycin, Kanamycin, Gentamicin, Neomycin, และ Amikacin ประสาทหูที่เสื่อมจากยานี้ อาจเกิดทันทีหลังจากใช้ยา หรือเกิดหลังจากหยุดใช้ยาไประยะหนึ่งแล้วก็ได้
        5. โรคมีเนีย หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere disease) โรคนี้น้ำในท่อหูชั้นในที่มีปริ มาณมาก อาจกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อม ฉับพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหู/หูอื้อ หรือเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย
    • หูดับฉับพลันมีอาการอย่างไร?

      ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หรือการได้ยินลดลงในหูข้างที่เป็นอย่างฉับพลัน มักไม่ค่อยได้ยินเสียงเมื่อผู้พูดอยู่ไกล และมักได้ยินดีขึ้นในบรรยากาศที่เงียบสงัด ปราศจากเสียงรบกวน มักเป็นกับหูข้างเดียว ถ้าเป็นทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะพูดดังกว่าปกติ อาจมีเสียงดังในหูซึ่งมักจะเป็นเสียงที่มีระดับความถี่สูง เช่น คล้ายเสียงจิ้งหรีด เสียงจักจั่น หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวเสียงดังๆ หรือทนฟังเสียงดังไม่ได้ (เสียงดังจะทำให้เกิดอาการปวดหู และจับใจ ความไม่ได้)

    • แพทย์วินิจฉัยหูดับฉับพลันและหาสาเหตุได้อย่างไร?

      โรคนี้อาศัยการซักประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์

      การซักประวัติอาการได้แก่ การสอบถามอาการทางหู และสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมฉับพลัน

      การตรวจหู ได้แก่ การตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อดูพยาธิสภาพของช่องหู เยื่อบุแก้วหู ของหูชั้นกลางและตรวจบริเวณรอบหู

      การตรวจร่างกายทั่วๆไปที่พยายามหาสาเหตุของประสาทหูเสื่อมชนิดฉับพลัน เช่น การตรวจฟังเสียงหัวใจ เป็นต้น

      การตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของสารเคมีในเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจการได้ยินเพื่อยืนยันและประเมินระดับความรุนแรงของประสาทหูเสื่อมฉับพลัน การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายอวัยวะที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ (MRIสมองหรือกระดูกหลังหู ในผู้ ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

    • แพทย์รักษาหูดับฉับพลันอย่างไร?

ในรายที่ทราบสาเหตุ แพทย์จะให้รักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาประสาทหูที่เสื่อมให้คืนดีได้ มักเป็นการรักษาตาอาการ (เช่น อาการเวียนศีรษะ เสียงดังในหู/หูอื้อ) หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงต่างๆ (เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)

ในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ มักจะมีโอกาสหายได้เองสูงถึง 60-70% การรักษามุ่งหวังให้มีการลดการอักเสบของประสาทหูและให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น และลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) ซึ่งอาจเกิดจากมีการเพิ่มความดันในหูอย่างรุนแรงในทันที เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก หรือการดำน้ำ

ทั้งนี้การรักษาโดยการใช้ยาต่างๆ ได้แก่

    • ยาลดการอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ (Oral prednisolone) มีจุดมุ่งหมายลดการอักเสบของประสาทหู อาจเป็นชนิดกิน หรือฉีดเข้าหู หรือทั้งสองวิธีขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
    • ยาขยายหลอดเลือด มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น ยา Nicoti nic acid และ Betahistine
    • ยาวิตามิน อาจช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม เช่น วิตามิน บี
    • ยาลดอาการเวียนศีรษะ (ถ้ามีอาการ)
    • การนอนพัก มีจุดประสงค์เพื่อลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) แนะ นำให้ผู้ป่วยนอนพัก โดยยกศีรษะสูงประมาณ 30 องศาจากพื้นราบเพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด ไม่ควรทำงานหนัก หรือออกกำลังกายที่หักโหม บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์
    • อื่นๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆเพื่อ ประเมินผลการ รักษา และอาจนัดติดตามผู้ป่วยในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจพบสาเหตุในภายหลังได้
  • ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อหูดับฉับพลัน?

    ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดย

อนึ่ง ส่วนใหญ่ประสาทหูเสื่อมชนิดฉับพลัน แบบไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วโดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดอาการ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มีโอกาสสูงที่จะมีการได้ยินกลับมาเป็นปกติได้ (ส่วนใหญ่การได้ยินมักจะดีขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์แรกของการสูญเสียการได้ยิน) ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีการได้ยินในหูลดน้อยลงอย่างฉับพลัน อย่านิ่งนอนใจให้รีบพบแพทย์หู คอ จมูกโดยเร็ว อาจภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินขึ้นกับสาเหตุ เพื่อลดโอ กาสเกิดหูหนวกถาวร

เวียนศีรษะ (Dizziness)

อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการพบได้บ่อย เป็นความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุน หรือไหวไป ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยตา ประสาทสัมผัสบริเวณข้อต่อ อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน และระบบประสาทส่วนกลางที่ฐานสมอง และที่ตัวสมองเอง ความผิดปกติดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจไปว่ามีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั้งๆที่ความจริงไม่มี เนื่องจากอวัยวะการทรงตัว และอวัยวะการได้ยิน อยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง โรคของระบบทรงตัว จึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน หูอื้อ และมีเสียงดังรบกวนในหูได้

เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา (ตากระตุก หรือ Nystagmus) การเซ การล้มอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ร่วมด้วยได้

หมายเหตุ อ่านบทความเต็มของเรื่อง เวียนศีรษะ ได้จากบทความที่ได้เขียนแยกต่าง หากในเว็บนี้

ขี้หูอุดตัน (Earwax blockage)

ขี้หู (Earwax) สร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ มีสารต่อต้านเชื้อโรค และไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เข้าไปลึกในช่องหู บางคนมีขี้หูเปียก บางคนมีขี้หูแห้ง บางคนมีขี้หูมาก บางคนมีขี้หูน้อย โดยปกติ ขี้หูจะมีการเคลื่อนที่จากเยื่อบุแก้วหูออกไปยังช่องหูชั้นนอกได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปแคะออก ปัญหาของขี้หูเกิดขึ้นได้ ถ้าขี้หูมีปริมาณมาก และอุดตันช่องหูชั้นนอก ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือปวดหูหน่วงๆได้

ทั้งนี้ เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ขี้หูมีปัญหาคือ การใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud) ทำความสะ อาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหู ซึ่งทำให้รู้สึกรำคาญ การกระทำดัง กล่าวจะยิ่งกระตุ้น ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น มีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และยิ่งดันขี้หู ในช่องหูให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หู อุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น

เมื่อสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นขี้หูอุดตันจริงหรือไม่ แพทย์จะใช้เครื่องตรวจหู ส่องตรวจช่องหูชั้นนอกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู เกิดจากขี้หูอุดตันหรือไม่ ถ้าเป็นขี้หูอุดตันจริง

  1. แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกให้ อาจโดยการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ การคีบ หรือดูด หรือใช้เครื่องมือแคะขี้หูออก
  2. ถ้าไม่สามารถเอาขี้หูออกได้ เนื่องจากขี้หูอัดกันแน่นมาก หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน แพทย์จะสั่งยาละลายขี้หูให้ไปหยอด เช่น โซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate) ซึ่งหลังจากหยอดหูครั้งแรก จะทำให้ขี้หูในช่องหู ขยายตัว และอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น ทำให้หูอื้อมากขึ้น ควรหยอดบ่อยๆ ยิ่งบ่อย ยิ่งดี (วันละ 7-8 ครั้ง) จะทำให้ขี้หูอ่อนตัวมากขึ้น และเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปหยอดยาละลายขี้หูประ มาณ 1 สัปดาห์ แล้วนัดมาดูอีกครั้ง ผู้ป่วยไม่ควรที่จะลืมหยอดหูในวันที่แพทย์นัด เพราะอาจทำให้ขี้หูแห้ง และเอาออกยาก
  3. หลังจากแพทย์เอาขี้หูออก จนบรรเทาอาการผิดปกติของหูแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันอีกโดย
    • ไม่ใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหู หรือปั่นหูอีก
    • ถ้าน้ำเข้าหู ทำให้รู้สึกรำคาญจนต้องปั่น หรือเช็ดหู ควรป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหูจะดี กว่า เช่น ที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ ซึ่งมีขายตามร้านกีฬา มาอุดหูเวลาอาบน้ำ หรือผู้หญิงที่สวมหมวกอาบน้ำ ควรดึงหมวกให้มาคลุมใบหู เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  4. อาจใช้ยาละลายขี้หู หยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู อาจใช้เพียง อาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก ก่อนเสมอ

ที่มา   https://haamor.com/th/ภาวะเร่งด่วนทางหู/

อัพเดทล่าสุด