น้ำเข้าหู (Swimmer’s ear)


655 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หู  ระบบหูคอจมูก 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

หูอื้อ 

บทนำ

หลายท่านคงเคยประสบปัญหาน้ำเข้าหูมาแล้ว อาจเกิดระหว่างว่ายน้ำ อาบน้ำ หรือ สระผม เป็นต้น ทำให้เกิดอาการ หูอื้อ รู้สึกเหมือนมีเสียงน้ำอยู่ในหู การได้ยินลดลง ก่อให้เกิดความรำคาญขึ้น หลายท่านพยายามจะเอาน้ำออกหูด้วยวิธีต่างๆ เช่น ตะแคงศีรษะแล้วตบที่หู เอาน้ำหยอดไปอีกครั้งเพื่อให้น้ำเต็มหูและออกมาเอง หรือบางคนใช้ไม้แคะหู ปั่นหู เพื่อเอาน้ำออกจนเกิดแผลถลอก และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบตามมาได้ ภาวะที่หูชั้นนอกอักเสบนั้น เรียกว่า “Otitis externa หรือ Swimmer’s ear” นั่นเอง

หูชั้นนอกอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของหูชั้นนอกอักเสบติดเชื้อ คือ ปวดหู หูอื้อ มีน้ำ หรือน้ำเหลืองไหลจากหู แพทย์ตรวจจะพบมีช่องหู บวม แดง (ดังรูปที่ 1) มองเห็นแก้วหูไม่ชัด (ใช้เครื่องมือส่องดูในช่องหู) กดเจ็บบริเวณหน้าใบหู โยกใบหูแล้วเจ็บมากขึ้น

เมื่อน้ำเข้าหูควรทำอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะเป็นรูปตัวเอส (S) ฉะนั้นเมื่อมีน้ำเข้าหู แนะนำให้เอียงศีรษะเอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำ และดึงใบหูให้กางออก โดยดึงขึ้นบนและไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง ทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย ไม่ควรปั่นหรือแคะหูเพราะจะทำให้หูอักเสบ แต่ถ้าปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว น้ำยังไม่ออกจากช่องหู แนะนำพบแพทย์หู คอ จมูก

แนวทางการตรวจและรักษาน้ำเข้าหูและหูชั้นนอกอักเสบทำอย่างไรบ้าง?

ในการตรวจและดูแลรักษา แพทย์จะส่องตรวจหูด้วยเครื่องมือ ประเมินอาการบวมอักเสบของช่องหูว่า มีอาการมากน้อยเพียงใด ถ้าพบมีอาการบวมมาก แพทย์มักจะใส่สำลีชุบยาฆ่าเชื้อ (Ear wick) ไว้ที่หูชั้นนอกร่วมกับให้ยาหยอดหู และนัดเปลี่ยน Ear wick ประมาณ 48-72 ชั่วโมง

ยาที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่ ยาหยอดหู เช่น Sofradex เป็นต้น และให้กินยาแก้อักเสบ/ยาปฏิชีวนะ เช่น Cloxacillin เพื่อยาครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคส่วนใหญ่ ซึ่งคือ Staphylococcus aureus แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานอาจใช้ยาเป็น Ciprofloxacin เพื่อครอบคลุมเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น

ส่วนยาอื่นๆมักใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด (เช่น ยาพาราเซตามอล/Paracetamol) ทั้งนี้ขึ้นกับอาการ ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก

ทั้งนี้ แพทย์จะนัดตรวจติดตาอาการ อาจทุก 2-3 วันตามความรุนแรงของอาการและตามดุลพินิจของแพทย์/แพทย์หู คอ จมูกจนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 7-14 วัน

มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากหูชั้นนอกอักเสบไหม?

ส่วนใหญ่โรคนี้ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เร็ว จึงพบผลข้างเคียงแทรกซ้อนน้อยมาก แต่ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดมาก บางคนช่องหู บวม แดง ตีบทำให้การได้ยินลดลง และในผู้ป่วยกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน เมื่อมีการอักเสบมักรุนแรงมาก ถ้ารักษาไม่ทันอาจมีผลต่อเส้นประสาทเลี้ยงบริเวณใบหน้า ทำให้มีหน้าเบี้ยว หรือถ้าเป็นมากขึ้น อาจติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นสมอง (สมองอักเสบ) และอาจเสียชีวิตได้

หลังพบแพทย์แล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?

หลังพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก แล้ว การดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้น้ำเข้าหู ไม่ปั่น หรือแคะหู ทานยา และหยอดยาตามคำแนะนำของแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวด บวมจะทุเลาลงเรื่อยๆจนกระทั่งหายเป็นปกติ

นอกจากนั้น คือ ควรต้องพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ตามนัดเสมอ และควรพบก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดหูมากขึ้น หูบวมแดงมากขึ้น ปวดศีรษะมาก หรือเกิดมีไข้ เป็นต้น

กลับไปว่ายน้ำได้เมื่อไร?

เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำห้ามน้ำเข้าหู และห้ามปั่นหู เพราะมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะอักเสบได้อีก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเพื่อความเข้าใจตรงกันระ หว่างแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูกและผู้ป่วยว่า โรคหายแล้ว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก ก่อนกลับไปว่ายน้ำอีก จะเหมาะสมกว่า

เมื่อคันหูควรทำอย่างไร?

ถ้ามีอาการคันหูทั้งในช่วงมีอาการช่องหูอักเสบ หรือในภาวะปกติ แนะนำให้ผู้ป่วยดึงขยับใบหูเบาๆ จะช่วยบรรเทาอาการคันหูได้ดี โดยไม่ต้องใช้ไม้แคะหูหรือปั่นหู ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะเป็นการป้องกันหรือเป็นการรักษาอาการ คันหูที่มีประสิทธิภาพที่สุด

การทำให้รอบๆหู และใบหูแห้งก็เป็นอีกวิธีช่วยลดอาการคันหู ดังนั้นภายหลังอาบน้ำ หรือว่ายน้ำ ควรใช้ผ้าเช็ดตัวแห้งและสะอาดเช็ดทำความสะอาดรอบๆหู และใบหูให้แห้ง

และในคนทั่วไป เมื่อมีปัญหา คันหูมากและบ่อย ควรพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุและเพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจเกิดจากปัญหามีขี้หูมาก หรือมีขี้หูอุดตัน หรือช่องหูติดเชื้อราได้

แนวทางการป้องกันน้ำเข้าหูทำอย่างไร?

สำหรับบุคคลที่มีปัญหาทางหู เช่น แก้วหูทะลุ หรือใส่ท่อระบายที่แก้วหู หรือหูชั้นนอกอัก เสบบ่อยๆ แพทย์มักแนะนำไม่ให้น้ำเข้าหู ฉะนั้นควรป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น

  • ในขณะอาบน้ำ ให้ใช้หมวกคลุมผม คลุมลงมาปิดบริเวณใบหู ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และช่วยป้องกันน้ำเข้าหูได้ดี
  • ใส่วัสดุอุดรูหู (Ear plug) ที่นักดำน้ำใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู หรือ
  • ใช้วัสดุที่หล่อขึ้นเองให้เข้ากับขนาดช่องหู (Ear mold) ซึ่งสามารถกันน้ำได้ดี มีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบสั่งทำตามโรงพยาบาลที่มีนักตรวจการได้ยิน (มักเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์) โดยโรงพยาบาลหล่อขึ้นเองให้เหมาะกับหูของบุคคลนั้นๆ

ที่มา   https://haamor.com/th/น้ำเข้าหู/

อัพเดทล่าสุด