การตรวจอุจจาระ (Stool examination)


1,738 ผู้ชม


บทนำ

การตรวจอุจจาระ (Stool examination หรือ Stool test หรือ Stool analysis) คือ การตรวจสุขภาพพื้นฐานการตรวจหนึ่ง เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติหรือโรคในระบบทางเดินอาหาร

การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจที่ง่าย ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง จึงสามารถให้บริการได้ตั้งแต่ในคลินิก ในสถานพยาบาลขนาดเล็กไปจนถึงในโรงพยาบาลทุกระดับ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจยังไม่แพง และสามารถช่วยวินิจฉัยโรคพื้นฐานในระบบทางเดินอาหารได้หลายโรค เช่น ภาวะ/อาการ อาหารไม่ย่อย โรคพยาธิต่างๆของระบบทางเดินอาหาร และสามารถตรวจได้ในคนทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานประจำปีของทุกๆคน

การตรวจอุจจาระ จะโดยการตรวจลักษณะอุจจาระด้วยตาเปล่า ร่วมกับการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจอุจจาระ

การตรวจอุจจาระมีประโยชน์อย่างไร?

ประโยชน์ของการตรวจอุจจาระ คือ

  1. ตรวจสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เช่น ของกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้
  2. ตรวจหาตัวพยาธิและไข่พยาธิในระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น
  3. ตรวจเพาะเชื้อว่า โรคทางเดินอาหารนั้นๆเกิดจากติดเชื้ออะไร เช่น (แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต) เช่น กรณีท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ
  4. ตรวจระบบการย่อยและดูดซึมอาหารของกระเพาะอาหารและลำไส้
  5. ตรวจการมีแผลเรื้อรังในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลเปบติค หรือแผลโรคมะเร็งในทางเดินอาหาร เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อบ่งชี้การตรวจอุจจาระมีอะไรบ้าง?

ข้อบ่งชี้ในการตรวจอุจจาระ ได้แก่

  1. เป็นการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูสุขภาพทั่วไปของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาจมีไข่พยาธิ เพราะหลายคนมีพยาธิโดยไม่รู้ตัว คือไม่มีอาการ และตรวจความ ผิดปกติอื่นๆ เช่น อุจจาระมีไขมันปนมาก เป็นตัวช่วยบอกถึงภาวะของการย่อยและการดูดซึมอาหาร ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ เป็นต้น
  2. เมื่อมีอาการผิดปกติในการอุจจาระ เช่น อุจจาระเป็นน้ำ เป็นก้อน หรืออุจจาระเป็นเลือด/มีมูกเลือด ทั้งนี้เพราะสามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยแยกโรคได้ เช่น โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค หรือโรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร เป็นต้น
  3. ต้องการตรวจหาตัวพยาธิ หรือไข่พยาธิ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย และพยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น กรณีแพทย์สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจมีพยาธิในระบบทางเดินอาหาร
  4. ต้องการหาชนิดของเชื้อโรค เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต
  5. ตรวจหาภาวะมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น เมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีดโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือเป็นการคัดกรองหาแผล หรือโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  6. ตรวจหาความผิดปกติของการย่อยอาหาร เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับการย่อย และการดูดซึมอาหาร เช่น ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส หรือภาวะแพ้นมวัว หรืออาการท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น

ข้อห้ามการตรวจอุจจาระมีอะไรบ้าง?

ไม่มีข้อห้ามในการตรวจอุจจาระ เพราะเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่เจ็บตัว และค่าใช้จ่ายไม่แพง

การตรวจอุจจาระ ตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจอุจจาระ แบ่งเป็น 2 การตรวจ คือ การตรวจพื้นฐาน และการตรวจเฉพาะเจาะจง

  • การตรวจพื้นฐาน

    การตรวจอุจจาระพื้นฐาน ได้แก่

    • การดูลักษณะภายนอกของอุจจาระ เช่น แข็ง นุ่ม เป็นน้ำ มีมูก มีเลือดปน เป็นเม็ดกระสุน แบนเล็กเหมือนริบบิน หรือเป็นฟองไขมัน ดูสีของอุจจาระ เช่น สีน้ำตาลปกติ ดำเหมือนยางมะตอย หรือซีดขาว
    • การส่องกล้องตรวจ ได้แก่ ดูเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ตัวพยาธิ และไข่พยาธิ
    • บางโรงพยาบาลอาจให้บริการพิเศษ โดยตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจค่าความเป็นกรด หรือด่างของอุจจาระ (ค่า pH,Potential of hydrogen) และตรวจพื้นฐานดูภาวะมีเลือดปนในอุจจาระ (Stool for blood)
    เป็นการตรวจในเบื้องต้น เป็นการตรวจที่ไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นการตรวจในการตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อการคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร การตรวจโดยการสังเกตด้วยตาเปล่า และการใช้กล้องจุลทรรศน์เป็นหลัก อาจมีการตรวจทางห้อง ปฏิบัติการบ้าง แต่เป็นการตรวจด้วยเทคนิคง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เป็นการตรวจคัดกรองเบื้อง ต้นเช่นกัน
  • การตรวจเฉพาะเจาะจง (Comprehensive digestive stool analysis เรียกย่อว่า CDSA) เช่น

    การตรวจเฉพาะเจาะจงเหล่านี้ บางการตรวจต้องมีการเตรียมตัว ทั้งนี้แตกต่างกันในแต่ละการตรวจ ซึ่งแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษา จะเป็นผู้อธิบายการเตรียมตัวนั้นๆให้ผู้ป่วยทราบ โดยทั่วไปการเตรียมตัวจะสัมพันธ์กับอาหารและยา เช่น การหยุดกินยาบางชนิด หรือ การหยุดกินเนื้อสัตว์ หรือพืชที่มีธาตุเหล็กสูง (มีสีเขียวเข็ม หรือสีออกแดง แสด หรือเหลือง) ประมาณ 3 วันก่อนการตรวจในการตรวจหาเลือดในอุจจาระด้วยวิธี Stool guaiac test เป็นต้น

เตรียมตัวอย่างไรในการตรวจอุจจาระ?

การตรวจอุจจาระโดยทั่วไป เป็นการตรวจพื้นฐาน คือ ตรวจลักษณะภายนอกของอุจจาระ การตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการชนิดไม่ยุ่งยาก ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การตรวจอุจจาระ ตรวจอะไรบ้าง ดังนั้น จึงไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เพียงเก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติใส่ภาชนะ และนำส่งห้องตรวจ/ห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ส่วนการตรวจเฉพาะเจาะจง อาจมีการเตรียมตัวบ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร หรือ การกินยาต่างๆที่อาจรบกวน ส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดได้ ดังนั้นเพียงหยุดยา หรืออาหารตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ส่วนขั้นตอนอื่นๆเช่นเดียวกับการตรวจอุจจาระพื้นฐาน

มีขั้นตอนการตรวจอุจจาระอย่างไร?

ขั้นตอนการตรวจอุจจาระเป็นขั้นตอนง่ายๆ ถ้าต้องมีการงดอาหาร และ/หรือยาบางประเภทก็ให้ปฏิบัติตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำเท่านั้น นอกจากนั้น คือ การเก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติของเรา ใส่ในภาชนะที่โรงพยาบาลให้ไว้ แล้วนำส่งห้องตรวจ/ห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมงหลังถ่ายอุจจาระ

การเก็บอุจจาระให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ห้องตรวจ ซึ่งโดยทั่วไป เทคนิคในการเก็บอุจจาระ คือ

  • เตรียมที่ป้ายอุจจาระ ซึ่งควรเป็นไม้แผ่นเล็กๆ ลักษณะคล้ายไม้พาย เช่น ไม้ตักไอศกรีม หรือช้อนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  • ปัสสาวะก่อนให้เรียบร้อย เพื่อป้องกัน การปนเปื้อนของปัสสาวะ ซึ่งจะส่งผลให้การตรวจอุจจาระผิดพลาดได้
  • ไม่เก็บอุจจาระจากโถส้วม เพราะอุจจาระจะปนน้ำ ส่งผลให้ผลการตรวจผิดพลาดได้
  • ใส่ถุงมือยาง ไม่จำเป็นต้องปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันอุจจาระเปื้อนมือ
  • ถ่ายอุจจาระลงในพลาสติก หรือถุงพลาสติกปากกว้าง แห้ง สะอาด
  • ใช้ไม้ป้ายอุจจาระ เก็บใส่ภาชนะที่ห้องปฏิบัติการ หรือเจ้าหน้าที่ให้มา หรือในกล่อง หรือขวดที่มีฝาปิดมิดชิด กระจายเก็บให้ทั่วก้อนอุจจาระ ไม่เลือกเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ รวมกันแล้วให้ได้ขนาดประมาณ “นิ้ว หัวแม่มือ” ถ้าอุจจาระเป็นน้ำ หรือเป็นมูกเลือด ก็ให้เก็บส่วนที่ผิดปกตินั้นๆมาด้วย
    • ทั้งนี้ การเก็บปริมาณอุจจาระ เมื่อเป็นการตรวจเฉพาะเจาะจง ให้เก็บในปริมาณตามคำแนะนำ ของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ห้องตรวจ
  • ในขณะป้ายเก็บอุจจาระ ระวังไม่ให้มือสัมผัสกับอุจจาระ
  • ปิดฝาที่เก็บอุจจาระให้สนิท เช็ดภาชนะบรรจุอุจจาระให้สะอาด
  • ถอดถุงมือ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
  • ทิ้งถุงมือ และไม้/ช้อนป้ายอุจจาระในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น นำทิ้งในถังขยะสำหรับสิ่งติดเชื้อ
  • ติดชื่อ นามสกุล วันที่ และเลขประจำตัวโรงพยาบาลให้ถูกต้อง ชัดเจน บนภาชนะเก็บอุจจาระ
  • เก็บภาชนะใส่อุจจาระในถุงพลาสติก 2 ชั้น ปิดปากถุงทีละชั้น ให้แน่น เรียบร้อย
  • นำส่งเจ้าหน้าที่ห้องตรวจ ทั้งนี้อาจเก็บอุจจาระไว้ในตู้เย็นได้นาน 24 ชั่วโมง โดยให้เก็บไว้ในช่องที่ไม่เก็บอาหารและน้ำดื่ม

ได้ผลตรวจเมื่อไร?

เนื่องจากเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก การตรวจอุจจาระพื้นฐานจึงมักทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยต่อเจ้าหน้าที่ห้องตรวจที่น้อย อาจทราบผลตรวจได้ภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง

แปลผลตรวจอุจจาระอย่างไร?

เมื่อห้องปฏิบัติการตรวจอุจจาระแล้ว จะส่งผลตรวจให้ผู้ป่วย หรือ ให้แพทย์ พยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับระบบของแต่ละโรงพยาบาลซึ่งแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจะเป็นผู้แปลผลให้ผู้ ป่วยทราบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถทราบผลตรวจได้เองว่าการตรวจปกติ หรือผิดปกติ ทั้งนี้เพราะในใบรายงานผลตรวจของห้องปฏิบัติการในปัจจุบัน มักมีค่าตรวจปกติกำกับไว้ให้ด้วยเสมอ

แพทย์จะแปลผลการตรวจโดย

  1. ดูลักษณะภายนอกของอุจจาระ เช่น เป็นก้อนแข็งปกติ หรือ มีมูกเลือด สีน้ำตาลเข้มปกติ หรือขาวซีด
  2. ดูจากการมีเม็ดเลือดขาว จะช่วยการวินิจฉัยถึงการติดเชื้อ
  3. ดูจากเม็ดเลือดแดง และการตรวจเลือดปนในอุจจาระ จะช่วยบอกภาวะมีเลือดออกในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร
  4. ค่า pH ของอุจจาระปกติ จะเป็นด่าง ถ้าค่าเป็นกรด จะช่วยบอกถึงการมีระบบการย่อยอาหารที่ผิดปกติ
  5. การตรวจพบพยาธิ หรือไข่พยาธิ จะช่วยบอกถึงการมีพยาธิ
  6. การเพาะเชื้อ จะช่วยบอกถึงชนิดของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

การตรวจอุจจาระมีผลข้างเคียงไหม?

ดังกล่าวแล้วว่า การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่เจ็บตัว เพียงเก็บอุจจาระที่ถ่ายออกมาตามธรรมชาติของเรา ใส่ภาชนะ แล้วนำมาส่งยังห้องตรวจหรือห้องปฏิบติการเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีอันตราย ไม่มีผลข้างเคียงใดๆทั้งสิ้น ตรวจได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ

หลังตรวจต้องปฏิบัติตนอย่างไร?

ดังกล่าวแล้วว่า การตรวจอุจจาระ คือการเก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติ ใส่ภาชนะและนำส่งห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้นจึงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งก่อนตรวจและหลังตรวจ ไม่มีข้อต้องระวัง หรือข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น
ที่มา  https://haamor.com/th/การตรวจอุจจาระ/

อัพเดทล่าสุด