เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)


1,616 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ช่องคลอด  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

คันช่องคลอด  ตกขาว 

ทั่วไป

โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วไป จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถถ่ายทอดโรคไปยังคู่นอนได้ และมักพบการติดเชื้อราร่วมกับการติดเชื้อชนิดอื่นๆได้สูง เช่น โรคเริม หรือโรคเอดส์ เป็นต้น นอกจากนี้สตรีที่มีภาวะเบาหวาน สตรีที่รับประทานยาสเตีย รอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ เป็นเวลานานๆ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้สูงเช่นกัน

โรคเชื้อราในช่องคลอดมีสาเหตุจากอะไร?

โรคเชื้อราในช่องคลอด เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม “แคนดิดา (Candida)” ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ “แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)” โดยมีรูปร่างเป็นเซลล์กลมๆ หรือที่เรียกว่า ยีสต์ ซึ่งโดยปกติเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอดโดยไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ได้รับยาปฏิชีวนะ เป็นเวลานานๆ เป็นโรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือมีภาวะอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นจนก่อโรค

นอกจากนี้ การใช้ผ้าอนามัยไม่ถูกวิธี คือการใส่แผ่นเดียวเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย การใส่กางเกงยีนส์ที่คับแน่น การอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน การฉีดน้ำชำระล้างช่องคลอดและทำความสะอาดไม่ถูกต้อง การที่ช่องคลอดมีความอับชื้น และการใส่กางเกงในที่เปียกหรืออับชื้น ก็จะทำให้เกิดโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดที่พบบ่อย ได้แก่

  1. ภาวะตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณสารไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสในช่องคลอดสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ปริมาณฮอร์โมนที่สูง ขึ้น ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน
  2. โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคไม่ดี
  3. การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นเวลานานเกินไป จะไปทำลายเชื้อต่างๆที่ทำให้เกิดภาวะสมดุลของเชื้อราในช่องคลอด ทำให้เชื้อราเพิ่มปริมาณมากขึ้น
  4. การรับประทานยาสเตียรอยด์ เพราะจะลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  5. ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง หรือโรคเอดส์
  6. การใส่กางเกงที่คับมากและอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
  7. ภาวะที่คู่นอนมีการติดเชื้อรา

โรคเชื้อราในช่องคลอดมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดจะมีอาการคันเป็นอาการนำที่สำคัญ มีตกขาวลักษณะข้นมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลเหมือนนมบูด มีกลิ่น ผนังช่องคลอดมีลักษณะบวมแดง มีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศและภายในช่องคลอด บางครั้งอาจพบอาการบวมแดงที่บริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย บางครั้งช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง เปื่อยยุ่ย เป็นขุย หรือมีลักษณะเป็นฝ้าขาว ผิวแตกเป็นร่อง มีอาการแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ โรคเชื้อราในช่องคลอดไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีก็จริง แต่จะสร้างความรำคาญเป็นอย่างมากจากปริมาณตกขาวที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีสีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ และมีอาการคันที่รุนแรงตามมา

แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?

ส่วนใหญ่แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้จาก ประวัติตกขาวที่ผิดปกติ มีลักษณะเฉพาะคือมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลคล้ายนมบูด เมื่อนำตกขาวไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์จะพบลักษณะสปอร์หรือลักษณะกิ่งก้านของเชื้อรา

รักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด คือ

  1. ใช้ยาฆ่าเชื้อรา อาจจะเป็นยาสอดทางช่องคลอดกลุ่ม Imidazole derivatives หรือยารับประทานกลุ่ม Ketoconazole , Polyene antibiotics หรือ Itraconazole นอกจากนี้ สามารถใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วยได้
  2. รักษาปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยเสริมต่างๆที่พบร่วมด้วย เช่นโรคเบาหวาน หรือโรคอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ
  3. ต้องรักษาคู่นอนร่วมด้วยเสมอ
  4. ในรายที่รักษาไม่หายหรือเป็นเรื้อรัง พยายามตรวจหาโรคเอดส์ หรือโรคเบาหวาน ด้วยเสมอ

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

แหล่งของเขื้อราที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดก็คือ ในลำไส้ใหญ่ซึ่งเชื้อราจะปนเปื้อนมากับอุจจาระและพลัดเข้าไปในช่องคลอด แต่โดยปกติเชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตในช่องคลอดได้ เนื่องจากในช่องคลอด มีภาวะเป็นกรด เพราะมีแบคทีเรียที่สร้างกรดอ่อนๆประจำอยู่ในช่องคลอด แต่ถ้าแบคทีเรียชนิดนี้ลดลงหรือถูกทำลายไป เช่น ช่วงตั้งครรภ์ หรือ ช่วงมีประจำเดือนก็จะทำให้ช่องคลอดสูญเสียความเป็นกรด เชื้อราก็จะสามารถเจริญเติบโตในช่องคลอดได้

ดังนั้น นอกจากต้องคอยทำความสะอาดให้ถูกวิธี เช่น ทำความสะอาดจากช่องคลอดไปทางทวารหนักเพื่อป้องกันไม่ให้อุจจาระเลอะ เข้ามาทางช่องคลอดแล้ว ยังไม่ควรสวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น เพราะจะไปล้างความเป็นกรดในช่องคลอดทิ้งไป พยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นโดยการใช้ผ้า อนามัยแผ่นบางแล้วเปลี่ยนทิ้งบ่อยๆในช่วงที่มีสิ่งคัดหลั่งออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำลายแบคทีเรียที่มีอยู่ประจำในช่องคลอดด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือ สุขอนามัยของสามี เพราะฝ่ายชายมักเป็นพาหะของเชื้อราโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากมีคราบของเชื้อราแห้งติดรอบๆ อวัยวะเพศ โดยไม่มีอาการคัน หรือมีอาการระคายเพียงเล็กน้อย ดังนั้นฝ่ายชายจึงควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และถ้าภรรยาเป็นเชื้อรา ก็ต้องทายารักษาเชื้อราพร้อมๆกับภรรยาด้วยเสมอ

สำหรับฝ่ายหญิง ถ้ารู้สึกมีตกขาวผิดปกติ โดยเฉพาะถ้ามีตกขาวเป็นก้อนคล้ายตะกอนนม ไม่ว่าจะมีอาการคันหรือไม่ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ

โรคเชื้อราในช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์ไหม?

สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อราได้มากกว่าสตรีทั่วไปที่ไม่ตั้ง ครรภ์ เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่า โดยอาการที่พบได้แก่ ตกขาวผิดปกติ มีอาการคัน ซึ่งเมื่อช่องคลอดมีความอับชื้น อาจพบอาการได้มากกว่ากลุ่มสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ส่วนการรักษาใช้วิธีเดียวกับในกลุ่มสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์
ที่มา   https://haamor.com/th/เชื้อราในช่องคลอด/

อัพเดทล่าสุด