การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)


1,405 ผู้ชม


เชื้อเอชพีวีคืออะไร? มีกี่ชนิด?

เชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อเต็มว่า Human papillomavirus ซึ่งปัจจุบัน สามารถค้นพบเชื้อ เอชพีวี ว่ามีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยมีการตั้งชื่อสายพันธุ์ตามลำดับของการค้นพบ เช่น HPV 6, HPV 11, HPV 16 เป็นต้น

เชื้อเอชพีวี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. เชื้อ เอชพีวี กลุ่มที่ทำให้เกิดโรคหูดต่างๆ ได้แก่ HPV 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 ,10, 11 ที่ทำให้เป็น หูดที่มือ หูดที่เท้า หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) เชื้อกลุ่มนี้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกต่ำ (Low risk HPV)
  2. เชื้อ HPV กลุ่มที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูง (High risk HPV ) ได้แก่ HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 52, 56

เราสามารถติดเชื้อเอชพีวีได้ทางใดบ้าง?

การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ติดต่อโดยการสัมผัส โดยพบว่าเชื้อนี้ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด พบว่าการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุที่มากที่สุดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งในชายและหญิงในปัจจุบัน นอกจากนั้นสามารถติดต่อกันทางการร่วมเพศ ทางปาก คอหอย และทวารหนักได้ ส่วนในเด็กแรกเกิดพบว่าสามารถติดเชื้อตัวนี้ขณะคลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีเชื้อนี้อยู่ ทำให้ทารกอาจติดเชื้อเอชพีวีที่กล่องเสียงได้

ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 2003-2004 (พ.ศ. 2546-2547) พบการติดเชื้อเอชพีวีในผู้ หญิงอายุ 14-59 ปี ประมาณ 26.8% โดยพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 20-24 ปีซึ่งคิดเป็น 44.8% ของผู้หญิงทั้งหมดที่ศึกษา และอัตราการติดเชื้อจะลดลงเมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง?

ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ที่อวัยวะเพศ คือ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน ทั้งนี้รวมถึงจากมีการสัมผัสภายนอกของอวัยวะเพศซึ่งกันและกันด้วย (ทั้งเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ) โดยโอกาสติดเชื้อจะสูงขึ้น เมื่อ

การติดเชื้อเอชพีวีทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?

ส่วนมากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆที่ทำให้สตรีผู้นั้นสังเกตได้ในระยะแรกๆ ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อเอชพีวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด จะพบเชื้อนี้ในช่องคลอดสตรี และปากมดลูกมากกว่าบริเวณอื่น แต่การติดเชื้อนี้ส่วนมากจะหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานเชื้อนี้ขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะคงอยู่และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา

ตำแหน่งการติดเชื้อ นอกจากบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์แล้ว สามารถพบการติดเชื้อเอชพีวีที่ในช่องปาก คอหอย ทวารหนัก ได้ตามลักษณะของการมีกิจกรรมทางเพศ การติดเชื้อเอชพีวีในสตรี ทำให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  1. หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบ หลายๆตุ่มกระจายเต็มอวัยวะเพศภายนอก อาจมีอาการคันได้ ส่วนมากพบได้ที่บริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก นอกจากนั้นอาจพบในลำคอ คอหอย สาเหตุของหูดเหล่านี้เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ย่อย/type 6 และ 11 มากที่สุด
  2. มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ปัจจุบันมีหลักฐานมากมายที่บอกว่ามะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 มากที่ สุด (ประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด) โดยเชื้อจะทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยน แปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
  3. มะเร็งเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด มะ เร็งองคชาตในฝ่ายชาย (โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายโรคมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น

การติดเชื้อเอชพีวีทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติอย่างไรบ้าง?

สตรีที่ติดเชื้อ เอชพีวี ส่วนมากมักไม่มีอาการ เชื้อส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 2 ปี และการติดเชื้อตัวนี้ก็เป็นๆหายๆ จะมีเพียงสตรีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการ เช่น หากเป็นหูดหงอนไก่ ก็จะพบตุ่มเนื้องอกเล็กบริเวณปากช่องคลอด หลายๆตุ่มไม่มีอาการเจ็บ หากเป็นถึงระดับมะเร็ง (มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก) แล้ว อาจมีตกขาวมากกว่าปกติ มีเลือดปนตกขาว ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกกระปริดกระปรอย หรือหากเป็นมะเร็งทวารหนักก็จะเห็นแผลหรือก้อนเนื้อผิดปกติ

หากติดเชื้อเอชพีวีสามารถรักษาหายไหม?

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ เอชพีวี (HPV) ให้หายขาด เราเพียงแต่รักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อตัวเชื้อ การติดเชื้อจะหายไปเองได้ประมาณ 70% ในปีแรก และหายไปเกือบ 90% ในปีที่ 2 มีเพียงผู้ติดเชื้อส่วนน้อย (ประมาณ 5-10%) ที่เชื้อจะคงอยู่ในร่างกายแล้วพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการที่เซลล์ติดเชื้อจะเปลี่ยนเป็นมะเร็งประมาณ 10-15 ปี

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชพีวี?

การดูแลตนเองเมื่อรู้ว่าติดเชื้อเอชพีวี (HPV) แล้ว คือ

  1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ ซึ่งการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน คือ การรักษาสุขอนา มัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  3. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ
  4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ
  5. พบแพทย์เมื่อมีโรคหูดหงอนไก่

มีวิธีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?

การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอขพีวี คือ

  1. การตรวจ Papanicolaou smear หรือ แปบเสมียร์ (Pap smear) โดยการใช้แผ่นไม้บางๆเล็กๆรูปร่างคล้ายไม้พาย ป้ายบริเวณรูปากช่องคลอดแล้วมาป้ายบนสไลด์แล้วนำไปย้อมสี จากนั้นนำมาดูลักษณะของเซลล์ หากมีการติดเชื้อ ลักษณะเซลล์จะผิดปกติไป
  2. การตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Liquid-based solution ซึ่งการตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจแปบสเมียร์ แต่จะเป็นการเก็บเซลล์ที่จะตรวจในน้ำยาเฉพาะ แทนการป้ายเซลล์บนแผ่นแก้ว (Slide) ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่าการตรวจแปบสเมียร์
  3. การตรวจหา ดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA testing) ซึ่งสามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ เอชพีวี ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงหรือต่ำ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ในสตรีที่แต่งงานแล้ว มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ทุกคน หากไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกๆปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสตรีที่แต่งงานแล้วทุกคน

เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจพบจากการ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทั้งโดยวิธีการตรวจ Pap smear (ทราบว่ามีการติดเชื้อ HPV แต่บอกสายพันธุ์ย่อยไม่ได้) การตรวจด้วยวิธี Liquid based solution (ทราบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวี แต่บอกสายพันธุ์ย่อยไม่ได้) หรือ ตรวจ HPV DNA testing ที่บอกสายพันธุ์ย่อยได้ ซึ่งเมื่อพบมีการติดเชื้อ แพทย์มักจะนัดไปทำการตรวจเพิ่มเติมต่อไป โดยจะทำการส่องกล้องขยายและตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกเพิ่มเติมเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?

  1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  2. รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์
  3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  4. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

 

อัพเดทล่าสุด