วิธีดูแลผู้สูงอายุอยู่ลำพัง (Home care for elderly living alone)


1,061 ผู้ชม


บทนำ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีอัตราการตายลดลง ทำให้ประชากรวัยสูง อายุมีเพิ่มขึ้น จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549-2553 พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่กันเป็นครอบครัว แต่ก็ยังพบว่ากว่า 1 ใน 10 อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พบว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นจาก 6.3% ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 7.7% ในปีพ.ศ. 2550 โดยผู้สูงอายุหญิงจะอยู่คนเดียวมากกว่าผู้สูงอายุชาย

วิธีดูแลผู้สูงอายุอยู่ลำพัง

ผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและสังคม เช่น

  • ด้านร่างกาย อวัยวะต่างๆมีประสิทธิภาพเสื่อมลง
  • ด้านสังคม หลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน การพบปะทางสังคมน้อยลง ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ปัญหาสำคัญที่พบ คือ ปวดเข่า การทรงตัวไม่มีประสิทธิภาพจากข้อเข่าเสื่อม ปัญหาเกี่ยวกับการกินยา และปัญหาการพลัดตกหกล้ม ซึ่งล้วนแล้วแต่อันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ในสังคม

จากการที่พยาบาลเข้าเยี่ยมบ้านในชุมชนเขตกรุงเทพมหานครและในเขตชนบท ผู้สูงอายุที่อา ศัยอยู่บ้านเพียงลำพังส่วนมาก ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคที่รุนแรงขึ้น

ปัญหาที่มักพบในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง? มีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไร?

ก. ปัญหาที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • ข้อเข่าเสื่อม

     เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อกระดูกสึกกร่อน เกิดการอักเสบ เมื่อมีการเสื่อม ร่างกายก็มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆของข้อ โดยมีปุ่มกระดูกหรือหินปูนเกิดขึ้นบริเวณรอบผิวข้อ ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากภายนอก และการที่เวลาเดินมีเสียงกรอบแกรบ เนื่องมาจากปุ่มกระดูกที่สร้างมาซ่อมแซม แตกและเข้าไปอยู่ในช่องว่างของข้อ ทำให้เคลื่อนไหวข้อลำบาก จะปวดข้อเข่ามากเมื่อเดินหรือยืนนานๆ ไม่สามารถยืดเข่าได้สุด การนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบหรือขึ้นลงบันไดได้ยาก เนื่องจากข้อเข่ามีการเบียดกันมากกว่าปกติ นอกจากนั้นการนั่งถ่ายโดยใช้ส้วมลักษณะแบบคอห่านที่ต้องนั่งยองๆเป็นเวลานาน จะเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดข้อเข่าให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักมากยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดต่อข้อเข่าให้เสื่อมเร็วขึ้น
  • ลืมกินยา กินยาซ้ำ

     ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเซลล์สมองและเซลล์ประสาท ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำให้ความคิดช้าลงความจำเสื่อม ประกอบกับ ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง แก้ว ตายืดหยุ่นลดลง ขอบเขตการมองเห็นแคบลง และความเสื่อมของร่างกายด้านอื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดการลืมกินยาหรือกินยาซ้ำ โดยเฉพาะยาที่จำเป็นต้องกินตรงเวลาและในขนาดที่แน่นอน เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน และยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • หกล้ม

    จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 ของ วิชัย เอกพลากร พบว่าสาเหตุการหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจาก ความเสื่อมของกล้ามเนื้อ วิงเวียนหน้ามืด พื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวางโดยเฉพาะพื้นต่างระดับ โดยผู้สูงอายุหญิงมีโอกาสเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าชาย และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ใช้ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ มีโอกาสหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป

     อุบัติเหตุหกล้มภายในบ้าน หรือในห้องน้ำ ที่เกิดกับผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมของระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ข้อเข่าเสื่อม การสูญเสียความสามารถในการเดินหรือในการทรงตัว ปัญหาในการมองเห็น อ่อนเพลีย ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า ทำให้มีอาการวิงเวียนเมื่อลุกยืน นั่ง แสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ การขึ้นลงบันไดที่ชัน และการมีทางต่างระดับภายในบ้าน การวางสิ่งของระหว่างทางเดินไม่เป็นระเบียบ ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษารักษาความดันโล หิตสูง ยาขับปัสสาวะ ส่งผลให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ประกอบกับห้องน้ำลื่น

ผู้สูงอายุที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือมีอีกชื่อว่า คูมาดิน (Coumadin) ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสเลือดออกได้ง่ายและหยุดไหลช้ากว่าปกติ หากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดอันตรายและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ผู้สูง อายุล้มหัวกระแทกแล้วมีเลือดออกภายในสมองไม่หยุด การถอนฟัน ผ่าฝี อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ ก็มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ทั้งสิ้น

ข. วิธีป้องกันและแก้ไข

  • ข้อเข่าเสื่อม แนวทางป้องกันและแก้ไข คือ
    1. ด้านร่างกาย

      ท่าบริหารเข่า

      ท่าที่ 1

      ท่าบริหารเข่า

      สอนให้ออกกำลังกายเบาๆด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือเดินประมาณ 5 นาที จากนั้นเริ่มโดยนอนหงายราบบนเตียง หรือพื้นที่ไม่นุ่มมากจนตัวจมในที่นอน (สามารถหนุนหมอนต่ำได้) ใช้เชือกหรือผ้ายืดรองใต้ฝ่าเท้าแล้วยกขาขึ้นให้ตึงดังรูป ดึงค้างไว้ประมาณ 20 วินาที แล้ววางขาลง ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง (รวมเป็น 3 ครั้ง) เสร็จแล้วเปลี่ยนข้าง ทำเหมือนเดิม 1 รอบ สามารถทำในท่านั่งเก้าอี้ได้โดยใช้ผ้ายืดรองฝ่าเท้าแล้วยืดขาให้ตึงทำมุมฉากกับหลังแล้วดึงค้างไว้ 20 วินาที และทำซ้ำเช่นเดียวกับท่านอน

      ท่าที่ 2

      ท่าบริหารเข่า

      ยืนตรง เกาะโต๊ะหรือราวจับที่แน่นหนามั่นคง ให้ระยะห่างเท้าซ้ายเท้าขวาพอประมาณ (ปลายเท้าไม่ต้องชิดกัน) เขย่งปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นวางฝ่าเท้าลงกับพื้นกลับมาสู่ท่าเดิมช้าๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง กรณีที่นั่งเก้าอี้ก็สามารถทำท่านี้ได้เช่นกัน โดยการนั่งบนเก้าอี้ให้เท้าซ้ายเท้าขวาห่างกันพอประมาณ เขย่งปลายเท้า ค้างไว้ 5 วินาที และวางเท้าราบกับพื้นกลับมาสู่ท่าเดิม ทำซ้ำอีก 1 รอบ

      แนะนำให้งดกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดเข่ารุนแรงขึ้น เช่น การนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า ควรหลีกเลี่ยงด้วยการนั่งเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา ใช้ลิฟต์แทนการเดินขึ้นลงบันได (เมื่อไปในบางสถานที่ที่มีลิฟต์) ไม่ควรยืนหรือเดินนานๆ ใช้ผ้ายืดพยุงเข่าให้เคลื่อนไหวน้อยที่ สุด ในรายที่น้ำหนักตัวเกิน หรือโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดที่เข่า หรืออาจใช้ไม้ค้ำยัน/ไม้เท้า ช่วยพยุงเวลาเดิน ในกรณีที่มีอาการปวดข้อเข่าร่วมด้วย สามารถใช้น้ำอุ่นประคบได้ และบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง
    2. ด้านสิ่งแวดล้อม จัดให้ผู้สูงอายุได้อาศัยอยู่ชั้นล่างเสมอ ป้องกันการเดินขึ้นลงบันไดบ่อย จัดให้มีราวเกาะในบริเวณบ้านและในห้องน้ำ เปลี่ยนส้วมเป็นชนิดชักโครก หรือแบบเก้าอี้นั่งถ่ายบนคอห่าน
  • ลืมกินยา
    • กรณีการกินยาหมดอายุ ผู้ดูแล ควรมีการตรวจเช็ควันหมดอายุของยา ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับยา และเขียนระบุวันเดือนปีที่หมดอายุด้วยอักษรขนาดใหญ่บนฉลากให้ชัดเจน ควรใช้ยาเก่าให้หมดก่อนยาใหม่ เพื่อป้องกันยาเก่าหมดอายุ กรณีไม่มีวันเดือนปี กำกับข้างซองยา การสังเกตลักษณะของยาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
    • ลักษณะของยาหมดอายุ คือ
      • ยาเม็ด หากยามีสีเปลี่ยนไป แตกกร่อนง่าย มีน้ำเยิ้มออกจากแคปซูล
      • หรือกรณียาน้ำที่เปิดใช้แล้วเกิน 3 เดือน หรือ ยาตกตะกอน จับตัวเป็นก้อน เมื่อยาหมดอายุ หรือ มีลักษณะหมดอายุ ต้องทิ้งยาเหล่านนั้นไป (อ่านเพิ่มเติมใน บทความเรื่อง วิธีทิ้งยา)
    • ควรตรวจเช็คสภาพยาทุก 1 เดือน หรือ ทุกครั้งเมื่อได้รับยามาใหม่
    แนวทางป้องกันและแก้ไขคือ ควรมีการตั้งเวลาปลุกเมื่อถึงเวลากินยาในแต่ละมื้อ โดยจัดซองยาไว้บริเวณใกล้กับที่ตั้งนาฬิกาปลุก และควรจัดนาฬิกาไว้ในสถานที่สามารถได้ยินเสียงปลุกทันที กรณีต้องออกไปนอกสถานที่ ควรจัดยาแบ่งใส่กล่อง โดยแบ่งเป็นมื้อเช้า เที่ยง เย็น ตามจำนวนวันที่ออกไป ซึ่งง่ายต่อการตรวจเช็คว่า กินยาไปแล้วหรือไม่ ยกเว้นยาสำคัญที่ต้องเอาไปจำนวนมาก เช่น ยาอมใต้ลิ้น
  • หกล้ม

    แนะนำให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ เพื่อป้องกันการหน้ามืด วิงเวียน รู้สึกจะเป็นลม จากการเปลี่ยนท่า เช่น หากนอนอยู่แล้วต้องการลุกนั่ง ควรตะแคงตัวไปด้านใดด้านหนึ่งก่อน แล้วค่อยลุกนั่งข้างเตียงช้าๆ ไม่ลุกทันที เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วขณะ ทำให้มีอาการ หน้ามืด วิงเวียน ตาพร่า อาเจียน คล้ายจะเป็นลม และหมดสติ เรียกอาการนี้ว่า ความดันตกในท่ายืน (Postural hypoten sion) หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรรีบนั่งลงทันทีและพัก จนกว่าจะหมดอาการแล้วถึงทำกิจกรรมต่อ

    แนวทางป้องกันและแก้ไข คือ ควรจัดให้ห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการขึ้นลงบันได จัดทำราวเกาะพยุงตัวในบริเวณบ้านและในห้องน้ำ จัดสิ่งของบริเวณทาง เดินให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม หมั่นดูแลความสะอาดของพื้นห้องน้ำให้แห้งอยู่เสมอ ควรเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่นง่าย จัดแสงสว่างให้เพียงพอ

สรุป

ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมและใกล้ชิด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอยู่เพียงลำพัง ผู้ดูแลควรมีการจัดการหรือวางแผนเพื่อป้องกัน และลดการเกิด ปัญหาต่างๆดังกล่าวที่จะตามมา เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์
ที่มา   https://haamor.com/th/วิธีดูแลผู้สูงอายุอยู่ลำพัง/

อัพเดทล่าสุด