สายตาผิดปกติ (Refractive error)


770 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ดวงตา  ระบบตา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เห็นภาพไม่ชัด 

ทั่วไป

ดวงตาเป็นอวัยวะสัมผัสที่สำคัญอันหนึ่งของคนเรา มีหน้าที่สำคัญ คือ การมองเห็น ซึ่งการมองเห็นก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการได้ยินหรือการใช้สัมผัสอื่นๆ แต่บ่อยครั้ง เรามักเกิดความผิดปกติในสายตา (Refractive error) เช่น มองภาพไกล หรือ ใกล้ไม่ชัด เป็นต้น

ภาวะต่างๆเหล่านี้ เมื่อเรารู้จักว่ามันคืออะไร จะช่วยให้เราสามารถพบหมอตา (จักษุแพทย์) ได้ รวดเร็วขึ้น จึงช่วยลดปัญหาในการแก้ไขสายตาลงได้

ดวงตาทำงานอย่างไร เราจึงมองเห็นได้?

ดวงตาคนเรา มีรูปทรงกลมขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร มีการทำงานกันอย่างไรจึงทำให้เรารับรู้การเห็นได้

มีคนเปรียบเทียบดวงตาคนเราเหมือนกล้องถ่ายรูป มี กระจกตา (ตาดำ) และ แก้วตา ทำหน้าที่เหมือนเลนส์สำหรับโฟกัสภาพ มี จอตา ทำหน้าที่เหมือนฟิล์ม

การมองเห็นเริ่มจากแสงจากวัตถุ ผ่านกระจกตา และ แก้วตา ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเลนส์ 2 อัน กระจกตาเป็นเลนส์อันแรก มีกำลังโฟกัสคงที่ ส่วนแก้วตาทำหน้าที่เป็นเลนส์อีกอันที่ปรับ และเปลี่ยนแปลงโดยการเพิ่มหรือลดกำลังได้ เพื่อช่วยการมองเห็นชัดในระยะต่างๆได้ดีขึ้น

ขบวนการปรับกำลังเลนส์ของแก้วตาเป็นไปโดยอัตโนมัติตั้งแต่เกิด แต่จะค่อยๆเสื่อมลงเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

เมื่อแสงจากวัตถุ ผ่านระบบเลนส์ของตาคนเรา จะหักเหไปโฟกัสที่จอตา ซึ่งอยู่ส่วนหลังของลูกตา จอตาจะส่งสัญญาณไปยังขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นกระจุกอยู่ที่ขั้วหลังสุดของลูกตา (มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม.)

จากขั้วประสาทตานี้จะส่งกระแสไฟฟ้า รับรู้การเห็นไปตามเส้น ประสาทตา ซึ่งเป็นทางเดินภายในเนื้อสมอง ไปสุดที่บริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นศูนย์การรับรู้การเห็น ทำให้เรารับรู้ว่า มีภาพอะไรอยู่ข้างหน้า

กลไกการมองเห็นที่เป็นทอดๆ จนส่งไปถึงสมอง ใช้เวลาสั้นมาก แต่เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน หากมีอะไรมาขัดขวางกระบวนการนี้ การมองเห็นจะสะดุดทันที

สายตาผิดปกติมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

กระบวนการมองเห็นที่เกิดเฉพาะในดวงตาที่ปกติไม่มีโรค เริ่มจากแสงจากวัตถุระยะไกล (ประมาณ 20 ฟุต) ผ่านกระจกตาและแก้วตา มีการหักเหของแสงเพื่อโฟกัสที่จอตา ถ้าโฟกัสที่จอตาพอดี ทำให้มองเห็นได้ชัดเจน นั่นคือ สายตาปกติ

ถ้าแสงมาโฟกัสหน้าจอตา จะเกิดเป็น สายตาสั้น (Myopia/ไมโอเปีย) แต่ถ้าโฟกัสหลังจอตา จะเกิดเป็น สายตายาว(Hyperope/ไฮเปอร์โอป) ถ้าแสงจากแนวนอนและแนวตั้ง โฟกัสคนละจุดกัน จะเกิดเป็น สายตาเอียง (Astigmatism/แอสติกมาติซึม)

ภาวะสายตาสั้น สายตามองใกล้ (Nearsighted) หมายถึงมองได้ชัดในระยะสั้นๆ อาจเกิดจากกำลังหักเหของแสงของกระจกตาและแก้วตามากเกินไป หรือ เมื่อกำลังหักเหของแสงปกติ ก็อาจจากลูกตายาวเกินไปหรือตาโตเกินไป ในกรณีนี้ถ้าภาพ หรือ วัตถุอยู่ไกลแสง แสงจะโฟกัสหน้าจอตา จึงมองเห็นไม่ชัด แต่ถ้าภาพ หรือ วัตถุอยู่ในระยะใกล้แสง แสงจะโฟกัสตกที่จอตาพอดี จึงเห็นภาพได้ชัด จึงทำให้คนสายตาสั้น มองภาพระยะไกลไม่ชัด แต่มองที่ใกล้ๆชัด นั่นคือที่มาของคำว่า

ภาวะสายตายาว อาจเกิดจากกำลังหักเหแสงของ กระจกตา และแก้วตาน้อยเกินไป หรือ จากลูกตาสั้นเกินไป (ตาเล็ก) ในกรณีนี้ไม่ว่าวัตถุจะอยู่ไกลหรือใกล้ก็จะมาโฟกัสหลังจอตา แต่เนื่องจากแก้วตาคนเราสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถปรับให้มีกำลังโฟกัสมากขึ้นได้ ถ้าโฟกัสหลังจอตาไม่มากนัก และแก้วตาของคนนั้นยังยืดหยุ่นได้ดี (อายุน้อยกว่า 40 ปี) แก้วตาของคนนั้นก็จะปรับตาเพิ่มกำลังโดยอัตโนมัติ ทำให้ภาพจากวัตถุไกลมาโฟกัสที่จอตาพอดีได้ และในทำนองเดียวกันถ้า สายตายาว ไม่มากและกำลังยืดหยุ่นของแก้วตายังดีมาก ก็สามารถทำให้ภาพจากวัตถุใกล้มาโฟกัสที่จอตาได้ ผู้มี สายตายาว จึงอาจจะมองชัดทั้งไกล หรือใกล้ หรือ มองไกลชัด มองใกล้ไม่ชัด หรือมองไม่ชัดทั้งไกล และ ใกล้ ขึ้นอยู่กับขนาดของสายตายาว และกำลังความสามารถของแก้วตาที่จะยืดหยุ่นเพิ่มกำลัง (ตามอายุ)

และเพราะต้องปรับตัวเพิ่มกำลังแก้วตาอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อของตา ทำให้มีอาการตาล้า ปวดเมื่อยตาได้ง่าย ผู้มีสายตายาวจึงอาจมาพบแพทย์ ด้วยมีอาการปวดศีรษะ ตาล้า ปวดตา ทั้งๆที่สายตาปกติได้ (หมายถึง มองเห็นชัดเหมือนคนปกติ)

ภาวะสายตาเอียง มักพบปนไปกับ สายตาสั้น หรือ สายตายาว ส่วนใหญ่เกิดจากความโค้งของกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ทำให้แสงโฟกัสเกิดกระจายหลายจุด จึงส่งผลให้เห็นภาพไม่ชัด และปวดเมื่อยตา ส่วนน้อยเกิดจากแก้วตาซึ่งอยู่คลาดเคลื่อนไปจากที่ควร

ภาวะสายตาเอียง มักเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยตาที่สำคัญ มากกว่าเป็นสาเหตุให้เห็นภาพไม่ชัด

คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าตาเอียง คือ ความผิดปกติของตำแหน่งที่อยู่ของลูกตา หรือตาเข โดยความเป็นจริงแล้ว ตาเอียงเป็นภาวะที่มองด้วยตาเปล่าจะตรวจไม่พบ ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งของลูกตา ส่วนตาเขเกี่ยวกับตำแหน่งของลูกตาซึ่งไม่อยู่ตรงกลางเมื่อมองตรงไปข้างหน้า ภาวะตาเขจึงสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่ตาเอียงใช้ตาเปล่าบอกไม่ได้

สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia/เพรสไบโอเปีย) บางคนมักจะใช้คำว่าสายตายาวจึงทำให้สับสนกับสายตายาวที่กล่าวแล้วในข้างต้น จริงอยู่ เป็นภาวะที่ต้องแก้ไขด้วยเลนส์นูนเช่นเดียวกัน แต่เป็นคนละโอกาสกัน

สายตาผู้สูงอายุ เกิดจากความสามารถในการเพิ่มกำลังเพ่ง เพื่อปรับแก้วตาให้มีกำลังหักเหเพิ่มขึ้น เพื่อดูวัตถุระยะใกล้ ลดลงตามอายุ กล่าวคือ ในเด็กกำลังเพ่งนี้มีประสิทธิภาพดีมากจนถึงอายุประมาณ 40 ปี กำลังเพ่งนี้จะลดลง ทำให้คนอายุ 40 ปี มองใกล้ไม่ชัด จำเป็นต้องใช้แว่นเลนส์นูนช่วยเมื่อต้องการดูของใกล้ๆ แต่ขณะมองไกลไม่ต้องใช้แว่น หรือ ถ้านำมาใช้ อาจกลับทำให้ตามัวลง

สายตาผิดปกติเกิดจากอะไร?

ภาวะสายตาผิดปกติ มิใช่เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นตลอด มีการเปลี่ยนแปลงตามอายุ ได้มีการศึกษาพบว่า คนทั่วไปเกิดมาในตอนเด็กจะเป็นสายตายาวเล็กน้อย พออายุ 3-4 ขวบ สายตาที่ยาวจะลดลงมาใกล้เคียงปกติ และสายตาจะสมบูรณ์ปกติในราวอายุ 13–15 ปี อันนี้คือ คนที่เกิดมามีสายตาปกติทั่วไป

สาเหตุของสายตาที่ผิดปกติ ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ภาวะสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทำงานที่ใช้สายตาดูใกล้เป็นเวลานาน ยกตัวอย่าง เช่น คนญี่ปุ่น และชาวจีน จะมี สายตาสั้นมากกว่าคนไทย ชาวเอสกิโมและ อเมริกันอินเดีย พบ สายตาสั้น น้อยมาก เป็นต้น

บางคนก็เชื่อว่า คน สายตาสั้น มักจะมีเชาว์ปัญญาโดยเฉลี่ยสูงกว่าปกติ ดังจะเห็นจากนักศึกษาแพทย์มักจะ สายตาสั้นเป็นต้น บางคนก็เชื่อว่าประชาชนในเมืองมักจะมี สายตาสั้น มากกว่าชาวชนบท

อย่างไรก็ตามถ้าสายตาผิดปกติไม่มาก ไม่เกิน 600 หรือเอียงไม่เกิน 200 ให้ถือว่าเป็นภาวะปกติไม่ใช่โรค เฉกเช่นบางคนอาจมีส่วนสูง 150 ซ.ม. หรือ 165 ซ.ม. ก็ไม่ใช่ผิดปกติแต่ถ้าสูงเพียง 100 ซ.ม. หรือ ถึง190 ซ.ม. ถึงจะสงสัยว่าน่าจะไม่ปกติ

รักษา(แก้ไข)สายตาผิดปกติได้อย่างไร?

การแก้ไขสายตาผิดปกติทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้แว่นตาตลอดจน เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์ /Contact lens) ซึ่งเป็นการแก้ไขชั่วคราว การผ่าตัดซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัดด้วยมีด การใส่เลนส์เสริมแก้วตา (Phakic intraocular lens) และใช้แสงเลเซอร์ (ที่เรียกกันว่า Lasik) ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขแบบถาวร แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

ความจำเป็นของการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ จักษุแพทย์มักจะได้รับคำถามเสมอๆ ว่า สายตาสั้น ยาว หรือ เอียง แค่ไหนถึงจำเป็นต้องรับการแก้ไข หลักทั่วๆไป ก็คือ ถ้าความผิดปกติของสายตานั้นรบกวน หรือ บั่นทอนภารกิจประจำวัน หรือ คุณภาพชีวิตก็จงแก้ไข เช่น

นักเรียน ถ้ามี สายตาสั้น หากต้องดูกระดานดำเวลาเรียนหนังสือถ้ามองไม่ชัดก็จะทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง หรือ ถ้า สายตาเอียง หรือ สายตายาว ที่แม้จะมองเห็นได้ชัดเจน แต่มีอาการปวดศีรษะ ปวดตาเป็นประจำ ทั้งสองกรณี ก็จำเป็นต้องรับการแก้ไข

ในทางตรงข้าม แม้จะสายตาสั้น หรือตายาว หรือตาเอียงค่อนข้างมาก แต่ผู้นั้นไม่ต้องใช้สายตามองไกล ภารกิจประจำวันไม่เดือดร้อน ไม่มีอาการปวดตาเวลาใช้สายตา ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตามมีข้อสำคัญอันหนึ่งที่จำเป็นต้องแก้ไขสายตาที่ผิดปกติอย่างแน่นอน ก็คือ หากสายตาผิดปกตินั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการทำงานอย่างอื่น เช่น สายตายาวจนก่อให้เกิดตาเข หรือ สายตาผิดปกตินั้น อาจก่อให้เกิดภาวะ “ตาขี้เกียจ(ตามัว/Amblyopia)” ซึ่งหมายถึงการไม่รับรู้การเห็นอย่างถาวร มักพบเกิดในเด็ก โดยเป็นภาวะมักพบในสายตาผิดปกติที่ไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง ในกรณีนี้ ควรรับการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติอย่างเคร่งครัด เช่น โดยการสวมแว่นตลอดเวลา ไม่ใช่ใส่ๆ ถอดๆ โดยทั่วไปการแก้ไขสายตาผิดปกติในเด็กควรพิถีพิถันกว่าผู้ใหญ่ การแก้ไขที่ถูกต้อง นอกจากช่วยให้สายตาดีขึ้นแล้ว ยังทำให้การพัฒนาการของสายตาดำเนินไปอย่างปกติด้วย

ผู้ที่สายตาผิดปกติส่วนมากไม่ได้เป็นโรค หรือผิดไปจากคนทั่วไป ไม่ควรถือว่าเป็นปมด้อย ไม่ต้องกังวลว่าการแก้ไขจะทำให้สายตายิ่งเลวลงไปเรื่อยๆ หากสงสัยว่าตัวเองสายตาผิดปกติควรปรึกษาหมอตา (จักษุแพทย์) เพื่อรับการแก้ไขตามความเหมาะสมต่อไป

ควรพบหมอตาเมื่อไร?

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญมาก ถึงแม้โรคของดวงตาจะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ส่งผลถึงคุณภาพในการมองเห็น และในบางโรค เมื่อพบหมอล่าช้า อาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้ เช่น โรคต้อหิน ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด หรือ มองเห็นภาพมัวลง ควรรีบพบหมอตาเสมอ

นอกจากนั้น วิธีดูแลดวงตาที่ถูกต้อง คือ ควรพบหมอตาตรวจสุขภาพดวงตาประจำปีเสมอ เริ่มได้ในทุกอายุรวมทั้งในเด็กที่พอเข้าใจวิธีการตรวจ ต่อจากนั้น หมอตาจะเป็นผู้แนะนำเองว่า ควรพบหมอตาบ่อยขนาดไหน และอย่างไร?
ที่มา    https://haamor.com/th/สายตาผิดปกติ/

อัพเดทล่าสุด