วัณโรคปอดในเด็ก (Childhood tuberculosis)


1,125 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ปอด  ระบบทางเดินหายใจ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไอ 

บทนำ

วัณโรค หรือ โรคทีบี (Tuberculosis,TB) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobac terium tuberculosis ซึ่งประชากรทั่วโลกประมาณ 2,000 ล้านคน มี ”ภาวะติดเชื้อวัณโรค” (ไม่มีอาการป่วยชัดเจน) และมีผู้ป่วย “โรควัณโรค หรือ ภาวะโรควัณโรค” (มีอาการป่วย) ทั่วโลกรายใหม่ 9 ล้านคนต่อปี โดยเสียชีวิต 3 ล้านคนต่อปี สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรค(ผู้ใหญ่และเด็ก) รายใหม่ 80,000–90,000 คนต่อปี คาดว่าเป็นวัณโรคในเด็ก 1.3 ล้านคน โดยเด็กจะเสียชีวิต 450,000 คนต่อปีทั่วโลก วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง และเป็นโรคที่แพร่ระ บาดไปยังผู้อื่นได้ง่าย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะก่อโรครุนแรง และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้

วัณโรคปอดในเด็กเกิดได้อย่างไร?

วัณโรคปอดในเด็ก

เด็กมักติดเชื้อวัณโรคจากบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยวัณโรคปอดที่อยู่ในครอบครัว โดยเชื้อวัณโรคเข้ามาทางปอดโดยการหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคจากผู้ ป่วยที่ไอฟุ้งในอากาศ เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอดของเด็กแล้ว จะเริ่มเจริญแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้น ถ้าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเด็กมีความแข็งแรงพอ เชื้อวัณโรคในปอดของเด็กก็จะยังสงบอยู่ เรียกว่าเป็น “ภาวะติดเชื้อวัณโรค” ซึ่งไม่มีอาการ แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของเด็กขณะนั้นไม่แข็งแรง เชื้อวัณโรคในปอดก็จะเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆจนเป็น “ภาวะโรควัณโรค” ซึ่งมีอาการเจ็บป่วย และบางครั้งเชื้อวัณโรคอาจแพร่กระ จายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง เป็นวัณโรคของสมอง ซึ่งอันตรายมากอาจถึงแก่ชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นวัณโรคปอดในเด็กมีอะไรบ้าง?

การเป็นวัณโรคปอดในเด็กขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

  1. อยู่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคปอดรุนแรง เช่น ไอเป็นเลือด ฯลฯ
  2. เด็กที่รับเชื้อวัณโรคตอนอายุน้อย เช่น ต่ำกว่า 2 ปี
  3. ช่วงระยะเวลาภายใน 2 ปี หลังรับเชื้อวัณโรค
  4. มีร่างกายอ่อนแอ เช่น โรคขาดอาหาร เป็นโรคเอดส์ หรือกำลังป่วยเป็นโรคอื่นๆ

วัณโรคปอดในเด็กมีอาการอย่างไร?

อาการวัณโรคปอดในเด็ก มักมีอาการไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการไอพบได้น้อย (ในวัณโรคปอดผู้ใหญ่พบอาการไอบ่อยมาก)

แพทย์วินิจฉัยวัณโรคปอดในเด็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยวัณโรคปอดของเด็กได้จาก อาการของเด็ก ประวัติสัมผัสใกล้ชิด (บ้านเดียวกัน) กับผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคปอด การตรวจปฏิกิริยาทูเบอร์คูลินที่ผิวหนัง (Tuberculin skin test) การตรวจเอกซเรย์ภาพปอด (ตรวจในท่าด้านหน้า-ด้านหลัง และในท่าด้านข้าง) อาจตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรคโดยการย้อมสี หรือการเพาะเชื้อวัณโรค

วัณโรคเป็นกับอวัยวะอื่น (นอกจากปอด) ได้หรือไม่?

วัณโรคสามารถเป็นได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ปกติวัณโรคปอดในเด็กพบประมาณ 70-80% ของวัณโรคทั้งหมด และวัณโรคนอกปอดพบประมาณ 20-30% โดยที่วัณโรคของสมองเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต หรือพิการสูงมาก

วัณโรคมีวิธีการรักษาอย่างไร? ปฏิบัติตัวอย่างไร?

การรักษาวัณโรคในเด็กต้องใช้ยาหลายชนิด และต้องรักษานาน 6-12 เดือน ตามคำแนะ นำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้โรคกลับคืนมา และอาจมีภาวะเชื้อวัณโรคดื้อยามากขึ้น ทำให้รักษายาก ถ้าขณะกินยารักษา มีอาการซึม ตัวเหลือง ตาเหลือง ข้อบวม อาเจียนเป็นๆหายๆ (อาการจากแพ้ยา) ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์ด่วน

ส่วนการรักษาภาวะ “ติดเชื้อวัณโรค” (ติดเชื้อวัณโรคแต่ยังไม่มีอาการเจ็บป่วย) เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคที่ติดเข้าไปในร่างกายเด็กแล้ว ลุกลามกลายเป็น “โรควัณโรค” (มีอาการเจ็บป่วย) แพทย์จะพิจารณาว่า เด็กที่ติดเชื้อวัณโรครายใด มีความเสี่ยงสูงต่อการลุกลามกลายเป็นโรควัณโรค (เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก หรือเด็กติดเชื้อเอชไอวี) โดยการรักษามักให้ยา INH (Isoniazid) ชนิดเดียวเป็นเวลานาน 6-9 เดือน ซึ่งจะสามารถลดการเกิดวัณโรคได้ถึง 90%

เมื่อไรจึงควรพาเด็กมาพบแพทย์ ในเรื่องเกี่ยวกับวัณโรค?

เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ทุกคนถึงแม้ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตามที่อยู่ในครอบครัวเดียว กันกับผู้ป่วยวัณโรคปอด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่) ควรรีบพบกุมารแพทย์/หมอเด็กโดยเร็ว (ในเวลาราชการ ไม่จำเป็นต้องฉุกเฉิน) เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่า ติดเชื้อวัณโรค หรือเป็นวัณโรคแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นผลจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอด เพราะการรัก ษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ โรคจะหายเป็นปกติ หรือมีผลข้างเคียงน้อย และมักไม่ลุกลามจนแก้ไขได้ยาก

สำหรับเด็กที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้เรื้อรัง (มากกว่า 14 วัน) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอแห้งๆ เรื้อรัง ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน เพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป

วัคซีนป้องกันวัณโรคได้หรือไม่?

วัคซีน บี.ซี.จี (BCG) ที่ฉีดในเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดที่บริเวณหัวไหล่ และคล้ายมีตุ่มฝีขึ้นนั้น ป้องกันวัณโรคได้ดีพอควร โดยมีประสิทธิผลในการป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ประมาณ 50% ป้องกันวัณโรคสมอง หรือวัณโรคชนิดแพร่กระจายในเด็กได้ประมาณ 60-70% แต่อย่าง ไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันข้างต้นนี้มักจะลดลงหลังจากเด็กมีอายุ 12-15 ปี ดังนั้นวัคซีน บี.ซี.จี จึงป้อง กันวัณโรคในเด็กได้ดีพอควร แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ได้เลย ซึ่งในปัจจุบัน มีการวิจัยวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

การป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งคือ การรักษาผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคปอดให้ครบถ้วน และเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์

ผู้ป่วยวัณโรคที่มีอาการไอ (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม หรือบ้วนเสมหะลงส้วม หลังจากนั้นราดน้ำให้สะอาด ไม่มีความจำเป็นต้องแยก จาน ชาม ช้อน และพึงระลึกไว้เสมอว่า ช่วงเวลาที่ผู้ ป่วยวัณโรคปอดแพร่เชื้อได้สูงสุด และอันตรายต่อคนรอบข้างมากที่สุดคือ ตอนช่วงก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค หรือก่อนกินยารักษาวัณโรค ซึ่งเมื่อกินยารักษาวัณโรคประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว ก็มีความปลอดภัยต่อคนรอบข้างพอสม ควร แต่ผู้ป่วยยังต้องรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ตลอดเวลาจนครบกำหนดการให้ยา
ที่มา   https://haamor.com/th/วัณโรคปอดในเด็ก/

อัพเดทล่าสุด